สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช. , นวนช. , อังกฤษ: National Research and Innovation Policy Council) สภาที่ปรึกษาที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
National Research and Innovation Policy Council
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ยุบเลิก2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
หน่วยงานสืบทอด
เขตอำนาจไทย ทั่วราชอาณาจักร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์www.nric.or.th

ประวัติ แก้

สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 62/2559 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2559 โดยได้ยุบรวมสภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศเข้าด้วยกันและให้โอนอำนาจหน้าที่มาเป็นของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ [1] เพื่อให้เหลือหน่วยงานที่ดูแลงานด้านระบบวิจัยนวัตกรรมของประเทศเพียงหน่วยงานเดียว

โดยสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภาและรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 2 คนเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และ 2 พร้อมกับกรรมการสภาอีก 41 คนโดยมีเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม

ใน พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ขึ้นโดยยกเลิกกฎหมาย ๔ ฉบับคือ พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ , พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗ , ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๑๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๒/๒๕๕๙ เรื่อง การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งการยกเลิกพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับและประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ส่งผลให้เกิดการยุบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและจัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แทนเพื่อทำให้การดูแลงานด้านระบบวิจัยนวัตกรรมเป็นรูปธรรมมากขึ้นและไปในทิศทางเดียวกันนอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติโดยมีเลขาธิการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชานอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการโดยให้เหลือเพียง 21 คนจากเดิมทั้งหมด 41 คน

แต่เดิมใน พ.ศ. 2559 ทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เตรียมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. ... ขึ้นมาแต่ทาง คสช. ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมาเสียก่อน

ต่อมาในการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาลที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติแต่ที่ประชุมได้ให้กลับไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสียก่อนก่อนจะนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการยกร่าง ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ขึ้นมาแทนร่างพระราชบัญญัติฉบับเดิมสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ต่อมาในวันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้มีการจัดตั้ง สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ขึ้นมาแทน สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๒/๒๕๕๙ ที่ถูกยุบไป [2]

อำนาจหน้าที่ แก้

อำนาจหน้าที่ของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมีดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(๒) กำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมรายสาขาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ

(๓) กำกับ เร่งรัด และติดตามให้มีการปรับปรุงและแก้ไขโครงสร้าง ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับความต้องการในด้านการวิจัยและนวัตกรรม

(๔) กำกับ เร่งรัด และติดตามให้มีการปรับปรุงและแก้ไขระบบหรือกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม และเกิดขึ้นใหม่ไปใช้ในเชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และเชิงนโยบาย ให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด

(๕) กำกับ เร่งรัด และติดตามให้มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับบุคลากรด้านแรงงานในระดับต่าง ๆ

(๖) กำหนดระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในลักษณะเป็นก้อน (Block Grant) ตามโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม (Program-based) ให้สอดคล้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมรายสาขา รวมทั้งกำหนดระบบการติดตามและประเมินผลที่มีความต่อเนื่อง

(๗) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการกำหนดมาตรการและแรงจูงใจทางภาษีและสิทธิประโยชน์ สำหรับการระดมทุน การพัฒนากองทุน การจัดสรรเงินจากกองทุน และเงินทุนของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งความร่วมมือกับเอกชน ประชาสังคม และต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

(๘) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการเร่งรัด และติดตามให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการออกใบอนุญาต การกำหนดและรับรองมาตรฐาน และการจดทะเบียนและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตขอประชาชน

(๙) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

(๑๐) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูลและข้อแนะนำ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามความจำเป็น

(๑๑) รายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรืออนุมัติ แล้วแต่กรณี

องค์ประกอบ แก้

ตามข้อ ๑ ของคำสั่งนี้องค์ประกอบของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติประกอบไปด้วย

(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภา

(๒) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่ง

(๓) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภาคนที่สอง

(๔) รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม

(๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

(๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

(๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

(๙) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(๑๐) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

(๑๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

(๑๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(๑๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

(๑๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

(๑๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(๑๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(๑๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

(๑๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

(๑๙) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๒๐) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

(๒๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

(๒๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

(๒๓) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

(๒๔) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

(๒๕) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(๒๖) ประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา

(๒๗) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

(๒๘) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ

(๒๙) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

(๓๐) ประธานมูลนิธิบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

(๓๑) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

(๓๒) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

(๓๓) ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

(๓๔) เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม

(๓๕) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม

(๓๖) ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินแปดคน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แก้

ตามข้อ ๑ (๓๖) ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 8 คน

ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติจำนวน 8 คน [3]ดังนี้

  1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
  2. รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต
  3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์
  4. นายแพทย์ สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ
  5. นาย กานต์ ตระกูลฮุน
  6. ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
  7. นาย ชาติศิริ โสภณพนิช
  8. นาง หิรัญญา สุจินัย

อ้างอิง แก้