สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ประเทศไทย)

สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สภา มช. (อังกฤษ: The National Security Council) เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ[3][4]

สภาความมั่นคงแห่งชาติ
The National Security Council
ตราประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ภาพรวมสภา
ก่อตั้ง11 ธันวาคม พ.ศ. 2453; 113 ปีก่อน (2453-12-11)
สภาก่อนหน้า
  • สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร (พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2475)
  • สภาการสงคราม (พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2487)
  • สภาป้องกันราชอาณาจักร (พ.ศ. 2487 – พ.ศ. 2502)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ทำเนียบรัฐบาลไทย
บุคลากร355 คน (พ.ศ. 2562)[1]
งบประมาณต่อปี279,600,500 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารสภา
ต้นสังกัดสภาสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

สภาความมั่นคงแห่งชาติมีสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการสภา คือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (อังกฤษ: Office of the National Security Council)

ประวัติ

แก้

สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้มีภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานและมีเสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการสภา[5]

ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร” [6] จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร สภาการป้องกันพระราชอาณาจักรจึงถูกยกเลิกไป [7] ต่อมาเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ขึ้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาการสงคราม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ[8] แต่ก็ยกเลิกไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” ขึ้นแทน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2487[9]

จากนั้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักรออกมาใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม[10] และใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2499 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502[11] นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “สภาป้องกันราชอาณาจักร” เป็น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือ หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น[12]

สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สภา มช.) ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง 11 ราย ดังต่อไปนี้

สมาชิก สภา มช.
1 นายกรัฐมนตรี ประธาน
2 รองนายกรัฐมนตรี รองประธาน
3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิก
4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมาชิก
5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิก
6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิก
7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิก
8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิก
9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิก
10 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิก
11 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกและเลขานุการ

ทั้งนี้ ในการประชุมสภา มช. แต่ละครั้ง สามารถเชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกเหนือจากสมาชิกสภา มช. เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว ในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ หากมีประเด็นพิจารณาที่เห็นสมควรแก่การเชิญให้ความเห็นและลงมติที่ประชุม

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แก้

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาความมั่นคงเเห่งชาติเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. รายงานผลการดำเนินงานสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๖, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. สภาความมั่นคงแห่งชาติ
  4. บทบาทเลขาฯ สมช.
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกระทรวงทหารบกทหารเรือ (หน้า ๔๘)
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร์
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
  8. พระราชบัญญัติสภาการสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๗
  9. พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๗
  10. พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๙
  11. พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒
  12. พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๘๕ ก หน้า ๑ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙