เอเอสอาร์ (รถดีเซลราง)

(เปลี่ยนทางจาก สปรินเทอร์ในประเทศไทย)

เอเอสอาร์ (อังกฤษ: Air conditioner Sprinter Railcar) หรือ รถดีเซลรางสปรินเตอร์ (อังกฤษ: Sprinter Diesel Railcar) เป็นรถดีเซลรางปรับอากาศของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้สำหรับการทำขบวนรถโดยสาร และ ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง สั่งซื้อจากบริษัทบริติช เรล เอนจิเนียริ่ง ลิมิเต็ด สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีต้นแบบมาจากบริติช เรล คลาส 158 ที่ใช้งานในสหราชอาณาจักร[1][2][3]

เอเอสอาร์
รถดีเซลรางสปรินเตอร์ที่สถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง
ประจำการพ.ศ. 2534 - ปัจจุบัน
ผู้ผลิตบริติช เรล เอนจิเนียริ่ง ลิมิเต็ด
ผลิตที่ดาร์บี ลินเชิร์ช เลน เวิร์กส์
ตระกูลสปรินเทอร์
เข้าประจำการพ.ศ. 2534
จำนวนที่ผลิต20
หมายเลขตัวรถ2501-2512 (ไม่มีห้องขับ)
2113-2120 (มีห้องขับ)
ความจุผู้โดยสาร72 ที่นั่ง (มีห้องขับ), 80 ที่นั่ง (ไม่มีห้องขับ)
ผู้ให้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย
สายที่ให้บริการสายตะวันออก
คุณลักษณะ
ความยาว23.21 m (76 ft 2 in)
ความกว้าง2.7 m (8 ft 10 in)
ความเร็วสูงสุด120 km/h (75 mph)
น้ำหนัก37.09 ตัน (81,800 ปอนด์) (มีห้องขับ)
37.06 ตัน (81,700 ปอนด์) (ไม่มีห้องขับ)
น้ำหนักกดเพลา9.73 ตัน (21,500 ปอนด์) (มีห้องขับ)
9.43 ตัน (20,800 ปอนด์) (ไม่มีห้องขับ)
ระบบส่งกำลังDMU
เครื่องยนต์Cummins NT855
กำลังขับเคลื่อน285 แรงม้า ที่ 2,100 รอบต่อนาที
ระบบเบรกลมอัด
ชนิดขอพ่วงJanney coupler
มาตรฐานทางกว้าง1,000 mm (3 ft 3 38 in)
รถดีเซลรางสปรินเตอร์ ทำขบวนรถด่วนพิเศษที่3 กรุงเทพ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์
รถดีเซลรางสปรินเตอร์ที่สถานีรถไฟพัทยา

รถดีเซลรางสปรินเตอร์ มีชื่อรุ่นจากโรงงานว่า คลาส 158/T โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำชื่อสปรินเตอร์ (Sprinter) มาจากชื่อตระกูลรถดีเซลรางของประเทศอังกฤษ ที่มีความหมายว่า "นักวิ่ง" ซึ่งสื่อความหมายได้ถึงความรวดเร็ว มาใช้ตั้งเป็นชื่อเรียกรุ่น รถดีเซลรางสปรินเตอร์ยังมักถูกเรียกว่า "ยอดนักวิ่ง" อีกด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดตัว รถดีเซลรางสปรินเตอร์ เป็นรถด่วนพิเศษดีเซลรางครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ในชื่อ รถด่วนพิเศษ "สปรินเตอร์" สปรินเตอร์ขบวนแรกของไทย คือ ขบวนที่ 907/908 กรุงเทพ–เชียงใหม่–กรุงเทพ ออกให้บริการวันแรก 11 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยวิ่งให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดสถิติใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และถือเป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดในไทยในขณะนั้นด้วย

ปรับปรุงใหม่ แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2555 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำรถดีเซลรางสปรินเตอร์ จำนวน 3 คัน มาปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เป็นจำนวน 1 ชุด ภายใต้โครงการ Sprinter Refurbish หรือการปรับปรุงใหม่ทั้งคัน

  • ได้แก่หมายเลข 2509 , 2118 และ 2512 มีการปรับปรุงด้านหน้ารถแบบใหม่ โดยใช้ไฟหน้าของรถบรรทุกวอลโวมาใช้แทนของเดิม มีการปรับปรุงระบบช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อน ระบบไฟฟ้าภายในรถ

ปัญหาด้านการใช้งานและการซ่อมบำรุง แก้

รถดีเซลรางสปรินเตอร์เป็นรถดีเซลรางที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และมักจะเป็นอุบัติเหตุรุนแรง เนื่องจากมีจุดตัดทางข้ามทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้นหรือทางลักผ่านหลายจุด และผู้ขับขี่พาหนะทางถนนไม่เคารพกฎจราจร และเป็นเหตุทำให้ตัวรถเกิดความเสียหายเป็นอย่างมากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

แต่รถดีเซลรางสปรินเตอร์ เป็นรถที่ใช้วัสดุตัวถังเป็นเหล็กกล้าร่วมกับไฟเบอร์กลาส ทำให้การซ่อมแซมตัวถังยากกว่าตัวถังแบบเหล็กกล้าหรือสแตนเลสสตีล รวมไปถึงระบบต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อน ยากต่อการซ่อมบำรุง เป็นสาเหตุให้มีรถดีเซลรางสปรินเตอร์หลายคันที่ยังคงจอดรอการซ่อมบำรุง ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานต่อ หรือมีอายุการใช้งานที่น้อยกว่าคันอื่น ๆ

ขบวนรถที่ให้บริการ แก้

ปัจจุบัน
  • ขบวนรถเร็วที่ 997/998 กรุงเทพ–จุกเสม็ด–กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 3/4 กรุงเทพ–สวรรคโลกศิลาอาสน์–กรุงเทพ (ปัจจุบันงดให้บริการชั่วคราว)
อดีต
  • ขบวนรถจัดเฉพาะที่ 981/982 บางซื่อ–บางซ่อน–บางซื่อ (ยกเลิกการเดินรถแล้ว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560)
  • ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 987/988 กรุงเทพ–สวนนงนุช–กรุงเทพ (ยกเลิกการเดินรถ และเปลี่ยนเป็นขบวนรถเร็วที่ 997/998 โดยขยายเส้นทางเป็นกรุงเทพ–บ้านพลูตาหลวง–กรุงเทพ ปัจจุบันก็คือเส้นทาง กรุงเทพ–จุกเสม็ด–กรุงเทพ)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเลขที่ขบวน 9/10 กรุงเทพ–เชียงใหม่–กรุงเทพ
  • ขบวนรถด่วนพิเศษ (ไม่ทราบเลขขบวน) กรุงเทพ–หนองคาย–กรุงเทพ เปิดการเดินรถวันที่ 22–23 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 (ยกเลิกการเดินรถแล้ว)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 21/22 กรุงเทพ–อุบลราชธานี–กรุงเทพ (เคยวิ่งแทนรถดีเซลรางแดวูใน พ.ศ. 2551)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 39/40 กรุงเทพ–สุราษฎร์ธานี–กรุงเทพ (เคยวิ่งแทนรถดีเซลรางแดวูใน พ.ศ. 2551)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 43/44 กรุงเทพ–สุราษฎร์ธานี–กรุงเทพ (ปัจจุบันใช้รถดีเซลรางแดวูทำขบวนแทน)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 5/6 กรุงเทพ–พิษณุโลก–กรุงเทพ (ยกเลิกการเดินรถแล้ว)
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 7/8 กรุงเทพ–สวรรคโลก–กรุงเทพ (ยกเลิกการเดินรถแล้ว)
  • ขบวนรถด่วนที่ 71/74 กรุงเทพ–ศรีสะเกษ–กรุงเทพ (ปัจจุบันใช้รถดีเซลรางทีเอชเอ็น, เอ็นเคเอฟ และเอทีอาร์ ทำขบวน และขยายเส้นทางเป็นกรุงเทพ–อุบลราชธานี–กรุงเทพ โดยยกเลิกขบวนที่ 74 และเปลี่ยนเลขขบวนรถเที่ยวกลับเป็น 72)
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 367/368 กรุงเทพ–ฉะเชิงเทรา–กรุงเทพ (ปัจจุบันใช้รถจักรพ่วงรถโดยสาร บชสชั้น3 ทำขบวนแทน)
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 389/390 กรุงเทพ–ฉะเชิงเทรา–กรุงเทพ (ปัจจุบันใช้รถดีเซลรางทีเอชเอ็น, เอ็นเคเอฟ ทำขบวน)
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 391/388 กรุงเทพ–ฉะเชิงเทรา–กรุงเทพ (ปัจจุบันใช้รถดีเซลรางทีเอชเอ็น, เอ็นเคเอฟ ทำขบวน)[4]
  • ขบวนฟีดเดอร์ที่ 1171/1172 กรุงเทพ–พระจอมเกล้า–กรุงเทพ (ยกเลิกการเดินรถแล้ว)

อ้างอิง แก้

  1. Thai Express The Railway Magazine issue 1082 June 1991 page 383
  2. State Railway of Thailand 158s Modern Locomotives Illustrated issue 190 August 2011 pages 78-80
  3. More than just a Sprinter Today's Railways UK issue 148 April 2014
  4. http://pantip.com/topic/31921860

แหล่งข้อมูลอื่น แก้