สนธิสัญญาแวร์ซาย

สนธิสัญญาสันติภาพฉบับสำคัญที่สุดที่ยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
(เปลี่ยนทางจาก สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (1919))

สนธิสัญญาแวร์ซาย (อังกฤษ: Treaty of Versailles; ฝรั่งเศส: Traité de Versailles; เยอรมัน: Versailler Vertrag, ออกเสียง: [vɛʁˈzaɪ̯ɐ fɛɐ̯ˈtʁaːk] ( ฟังเสียง)) เป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับสำคัญที่สุดที่ยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ณ พระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนกลุ่มประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลางอื่น ๆ มีการตกลงยกเลิกสถานภาพสงครามด้วยสนธิสัญญาฉบับอื่น แม้จะได้ลงนามสงบศึกตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 แล้วก็ตาม การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสกินเวลานานกว่าหกเดือน จึงได้มีการสรุปสนธิสัญญาฯ

สนธิสัญญาแวร์ซาย
สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและประเทศที่เข้าร่วม กับเยอรมนี
หน้าต้นของสนธิสัญญาแวร์ซายฉบับภาษาอังกฤษ
ประเภทสนธิสัญญาสันติภาพ
วันลงนาม28 มิถุนายน ค.ศ. 1919
ที่ลงนามพระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
วันมีผล10 มกราคม ค.ศ. 1920
ผู้ลงนามเยอรมนี เยอรมนี

สหราชอาณาจักร จักรวรรดิบริติช
ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
อิตาลี อิตาลี
ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
สหรัฐ สหรัฐ

ผู้เก็บรักษารัฐบาลฝรั่งเศส
ภาษาฝรั่งเศส และอังกฤษ
The Signing of the Peace Treaty of Versailles

ผลจากสนธิสัญญาฯ กำหนดให้จักรวรรดิเยอรมันต้องยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ข้อตกลงข้อ 231 (ภายหลังรู้จักกันว่า "อนุประโยคความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม") และในข้อ 232–248 เยอรมนีถูกปลดอาวุธ ยกดินแดนให้แก่ประเทศอื่น ตลอดจนต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่กลุ่มประเทศฝ่ายไตรภาคีจำนวนมหาศาล เมื่อปี ค.ศ. 1921 ประเมินว่ามูลค่าของค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายนั้นสูงถึง 132,000 ล้านมาร์ก (ราว 31,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 6,600 ล้านปอนด์)[1][a] นักเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น รวมทั้งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ผู้แทนบริติช ณ การประชุมสันติภาพปารีส พยากรณ์ว่าสนธิสัญญาฯ โหดร้ายเกินไป เป็น "สันติภาพคาร์เธจ" และว่ายอดค่าปฏิกรรมนั้นสูงเกินและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทัศนะที่เป็นหัวข้อถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์มานับแต่นั้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรบางคน เช่น จอมพลแฟร์ดีน็อง ฟ็อชชาวฝรั่งเศส วิจารณ์สนธิสัญญาฯ ว่าละมุนละม่อมกับเยอรมนีมากเกินไป

ผลของเป้าหมายซึ่งชิงชัยและบางทีก็ขัดแย้งกันในหมู่ผู้ชนะเกิดเป็นข้อประนีประนอมที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่พอใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมนีซึ่งไม่ถูกกำราบให้ราบคาบ หรือปรองดอง หรือถูกทำให้อ่อนแออย่างถาวร ปัญหาที่เกิดจากสนธิสัญญาฯ จะนำไปสู่สนธิสัญญาโลคาร์โน ซึ่งปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับชาติยุโรปอื่น และการเจรจาระบบค่าปฏิกรรมสงครามจนเกิดเป็นแผนการดอวส์, แผนการยัง และการเลื่อนการชำระค่าปฏิกรรมสงครามออกไปอย่างไม่มีกำหนดที่การประชุมโลซาน ค.ศ. 1932 บางทีอ้างว่าสนธิสัญญาฯ เป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าผลกระทบแท้จริงไม่ได้รุนแรงอย่างที่หวาดกลัวกัน แต่ข้อกำหนดยังทำให้เกิดความเดียดฉันท์ใหญ่หลวงในเยอรมนีจนขับเคลื่อนความเจริญของพรรคนาซี

เป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร

แก้
 
จากซ้ายไปขวา: นายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ แห่งสหราชอาณาจักร วิตตอริโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ฌอร์ฌ เกลอม็องโซแห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา

เป้าหมายของฝรั่งเศส

แก้

เป้าหมายของฝรั่งเศสเน้นไปทางการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยจากการรุกรานของเยอรมนี จากการรบบนแนวรบด้านตะวันตก ฝรั่งเศสสูญเสียทหารไปราว 1.5 ล้านนาย รวมไปถึงพลเรือนอีกกว่า 400,000 คน สงครามได้สร้างความเสียหายแก่ฝรั่งเศสพอ ๆ กับเบลเยี่ยม นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลม็องโซ ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการล้างแค้นเยอรมนี โดยต้องการให้เยอรมนีกลายเป็นอัมพาต ทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจและการเมือง[4]

เจตนาของเกลม็องโซนั้นชัดเจนและเรียบง่าย นั่นคือ กองทัพของเยอรมนีต้องไม่ถูกทำให้อ่อนแอเพียงช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต้องทำให้อ่อนแออย่างถาวรจนกระทั่งไม่สามารถทำการรุกรานฝรั่งเศสได้อีก นอกจากนี้ เขายังต้องการให้มีการทำลายเครื่องหมายของลัทธินิยมทหารของจักรวรรดิเยอรมันเดิม เช่นเดียวกับความต้องการปกป้องสนธิสัญญาลับและเรียกร้องให้ขยายการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนีต่อไปอีก เพื่อให้ฝรั่งเศสสามารถควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออกของประเทศผู้แพ้สงคราม เกลม็องโซนั้นเป็นบุคคลที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มผู้นำทั้งสี่ จนได้รับฉายา "Tigre" (เสือ) ด้วยเหตุผลดังกล่าว[5]

ฌอร์ฌ เกลม็องโซแห่งฝรั่งเศสต้องการค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีเพื่อฟื้นฟูความมั่งคั่งของประเทศที่ได้รับความเสียหายและเห็นว่าการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามนั้นจะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอลง[6] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปรารถนาที่จะเอาแคว้นอาลซัส-ลอแรน ซึ่งถูกฉีกออกไปจากฝรั่งเศสนับตั้งแต่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ค.ศ. 1871 กลับคืน หรือถ้าเป็นไปได้ก็แสวงหาแม่น้ำไรน์เป็นพรมแดนธรรมชาติติดกับเยอรมนี[7]

เป้าหมายของบริเตน

แก้

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด ลอยด์ จอร์จ ได้สนับสนุนการเรียกเก็บค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีเช่นเดียวกัน แต่ในขอบเขตที่น้อยกว่าการเรียกร้องของฝรั่งเศส อังกฤษเพียงแต่วางแผนที่จะฟื้นฟูสถานะของเยอรมนีให้เป็นประเทศคู่ค้าของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง[6] นอกจากนั้น เขายังกังวลกับข้อเสนอของวิลสันเกี่ยวกับการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และต้องการปกปักรักษาผลประโยชน์ของประเทศของตน ซึ่งเหมือนกับฝรั่งเศส โดยสภาพดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกสองแห่ง ซึงได้มีส่วนในการรบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เดวิด ลอยด์ จอร์จก็เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งซึ่งสนับสนุนการปิดล้อมทางทะเลกับเยอรมนีและสนธิสัญญาลับ

ยังมีคำกล่าวบ่อย ๆ ว่าลอยด์ จอร์จเดินทางสายกลางระหว่างข้อเสนออันเพ้อฝันของวิลสันและข้อเสนอพยาบาทของเกลม็องโซโซ[8] อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของเขานั้นเป็นข้อเสนอที่แสนบอบบางกว่าที่ปรากฏในตอนแรก มหาชนชาวอังกฤษต้องการให้เกิดการลงโทษเยอรมนีให้หนักเหมือนกับข้อเสนอของฝรั่งเศส เพื่อให้รับผิดชอบต่อผลของสงครามที่เกิดขึ้น และได้สัญญาไว้เช่นสนธิสัญญาการเลือกตั้ง ค.ศ. 1918 ซึ่งลอยด์ จอร์จได้รับชัยชนะ นอกจากนั้นยังมีการบีบคั้นจากพรรคอนุรักษนิยม ในความต้องการแบบเดียวกันกับชาวอังกฤษ เพื่อปกปักรักษาจักรวรรดิอังกฤษ

เป้าหมายของสหรัฐอเมริกา

แก้

นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 สหรัฐอเมริกาก็ต้องการให้สงครามยุติลงโดยเร็วที่สุดโดยที่ไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะ[9] ก่อนสงครามยุติ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ได้ผลักดันให้ข้อเสนอหลักการสิบสี่ข้อ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าความต้องการอังกฤษและฝรั่งเศส ให้เป็นจุดมุ่งหมายในการทำสงครามของสหรัฐอเมริกา มหาชนชาวเยอรมันคิดว่าสนธิสัญญาสันติภาพควรจะมีเงื่อนไขออกมาประมาณนี้ ซึ่งทำให้พวกเขามีความหวัง แต่ทว่าหลักการดังกล่าวไม่เคยประสบผลเลย[10]

กรณีพิพาทเกี่ยวกับดินแดน

แก้

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีการลงนามในสัญญาลับจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกันและกันตามความต้องการ โดยได้มีการนำเอาดินแดนต่าง ๆ เข้ามาเป็นรางวัลเพื่อแลกกับการเข้าร่วมรบกับฝ่ายตน ซึ่งมีทั้งรัสเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น[11] แต่เมื่อสงครามยุติลง ปรากฏว่าประเทศที่เข้าร่วมสงครามไม่ได้รับดินแดนตามที่เคยสัญญากันไว้ อันก่อให้เกิดปัญหาในการประชุมร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย และความตึงเครียดหลังสงคราม[12] นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้ขัดแย้งกับหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความต้องการแสวงหาดินแดนเพิ่มเติมอีก[13]

การเจรจา

แก้
 
ภาพขณะที่คณะผู้แทนจากนานาประเทศกำลังลงนามสนธิสัญญาแวร์ซาย ในห้องแห่งกระจก

การเจรจาระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 1919 ในอาคาร Salle de l'Horloge ของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มจากการประชุมของคณะผู้แทน 70 คนจาก 26 ประเทศมีส่วนร่วมในการประชุม[14] ส่วนเยอรมนี ออสเตรียและฮังการีผู้แพ้สงครามถูกยกเว้นไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม สหภาพโซเวียตก็ถูกห้ามมิให้เข้าประชุมด้วย เนื่องจากได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพแยกต่างหากกับเยอรมนีแล้วใน ค.ศ. 1917

จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1919 บทบาทที่สำคัญที่สุดของการเจรจา ความซับซ้อนและเงื่อนไขอันยุ่งยากของสันติภาพอยู่ระหว่างการประชุมของ "สภาสิบ" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญจาก 5 ประเทศผู้ชนะสงครามหลักเท่านั้น (สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น) ด้วยรูปร่างแปลกประหลาดอันไม่เหมาะสมและไม่เป็นทางการในการตัดสินใจของที่ประชุม ญี่ปุ่นจึงได้ถอนตัวออกจากการประชุมหลัก จึงเหลือเพียง "สี่มหาอำนาจ" เท่านั้น[15] ต่อมาภายหลัง อิตาลีก็ได้ถอนตัวจากการประชุมเช่นกัน (กลับมาเซ็นสัญญาในเดือนมิถุนายนเพียงชั่วคราวเท่านั้น) ทำให้การครอบครองฟียูเม (ปัจจุบันคือ ริเยกา) ถูกปฏิเสธ ดังนั้น เงื่อนไขสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเหลือเพียง "สามมหาอำนาจ" เท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ส่วนทางด้านเยอรมนีนั้นถูกห้ามมิให้เข้าร่วมประชุม ในการเจรจาดังกล่าวนั้น เป็นการยากที่จะตัดสินใจในฐานะธรรมดาเนื่องจากว่าเป้าหมายของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ซึ่งสุดท้ายก็ได้ออกมาเป็น "การประนีประนอมอย่างไม่มีความสุข"[16]

เงื่อนไข

แก้

มาตรการที่มีต่อเยอรมนี

แก้

การจำกัดทางกฎหมาย

แก้
  • ข้อ 227 แจ้งข้อหาแก่จักรพรรดิแห่งเยอรมนี จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม
  • ข้อ 228-230 ระบุถึงอาชญากรสงครามชาวเยอรมันที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อ 231 ("อนุประโยคความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม") ได้ถือว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่ส่งผลประทบต่อพลเรือนของกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

การกำหนดกำลังทหาร

แก้

ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซายว่า "ในความพยายามที่จะเริ่มต้นการจำกัดอาวุธของนานาประเทศนั้น เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ซึ่งปริมาณของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้"

  • แคว้นไรน์แลนด์เป็นเขตปลอดทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
  • กองทัพเยอรมันถูกจำกัดทหารเหลือเพียง 100,000 นาย การประกาศระดมพลถูกล้มเลิก
  • ตำแหน่งทหารชั้นประทวนจะได้ต้องยกเลิกไปเป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจะต้องได้รับการยกเลิกไปเป็นเวลา 25 ปี
  • ห้ามทำการผลิตอาวุธในเยอรมนี และห้ามทำการครอบครองรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ เครื่องบินรบและปืนใหญ่ทั้งสิ้น
  • ห้ามเยอรมนีนำเข้าและส่งออกอาวุธ รวมไปถึงการผลิตและการครอบครองแก๊สพิษ
  • กำลังพลกองทัพเรือถูกจำกัดลงเหลือ 15,000 นาย เรือรบ 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 10,000 เมตริกตัน) เรือลาดตระเวน 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 6,000 เมตริกตัน) เรือพิฆาตตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 800 เมตริกตัน) และเรือยิงตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 200 เมตริกตัน) เยอรมนีห้ามมีเรือดำน้ำในครอบรอง
  • การปิดล้อมทางทะเลต่อเรือถูกสั่งห้าม

การกำหนดพรมแดน

แก้
 
ประเทศเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  ดินแดนที่ถูกผนวกเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
  ดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของสันนิบาตชาติ
  ประเทศเยอรมนี

จากสนธิสัญญาแวร์ซาย ได้กำหนดให้เยอรมนีสูญเสียอาณานิคมทั้งหมด รวมไปถึงดินแดนบางส่วนของแผ่นดินแม่ โดยดินแดนที่สำคัญ ได้แก่ ดินแดนปรัสเซียตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง และยังต้องสูญเสียฉนวนโปแลนด์และทางออกสู่ทะเลบอลติก นับตั้งแต่ผลของการแบ่งโปแลนด์ และทำให้แคว้นปรัสเซียตะวันออกถูกกีดกันออกไปจากแผ่นดินเยอรมนีเป็นดินแดนแทรก

  • อำนาจอธิปไตยเหนือแคว้นอาลซัส-ลอแรน ซึ่งเป็นดินแดนของเยอรมนีตามสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อปีค.ศ. 1871 จะถูกยกคืนแก่ฝรั่งเศส (คิดเป็นดินแดน 14,522 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 1,815,000 คน (ประมาณการ ณ ค.ศ. 1905) [17] เกลม็องโซเชื่อมั่นว่าเยอรมนีมีประชากรมากเกินไป และการยึดครองแคว้นอาลซัส-ลอแรนดังกล่าวจะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอลงและทำให้ฝรั่งเศสแข็งแกร่งขึ้น[18]
  • ดินแดนชเลสวิชตอนเหนือต้องคืนให้แก่เดนมาร์ก ตามผลของการลงประชามติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 (คิดเป็นดินแดน 3,984 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 163,600 คน) ส่วนดินแดนชเลสวิชตอนกลาง รวมทั้งเมืองเฟล็นส์บวร์ค ยังคงเป็นของเยอรมนี จากผลของการลงประชามติใน ค.ศ. 1920[19][20]
  • ส่วนใหญ่ของมณฑลโพเซินและปรัสเซียตะวันตก ซึ่งปรัสเซียได้รับมาหลังจากการแบ่งดินแดนโปแลนด์ เมื่อค.ศ. 1772 ถึง 1795 ต้องคืนให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 53,800 ตารางกิโลเมตร รวมไปถึงดินแดน 510 ตารางกิโลเมตร ประชากร 26,000 คน จากอัปเปอร์ซิลีเซีย) [17] ซึ่งดินแดนส่วนที่ฉีกออกมานั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปแลนด์อย่างสมบูรณ์หลังจากเหตุการณ์ก่อจลาจลเมื่อปี ค.ศ. 1918 ถึง 1919 แต่ประชาชนไม่ยอมรับการลงประชามติ การรวมเอาดินแดนปรัสเซียตะวันตกและการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยของรัฐโปแลนด์ ทำให้พลเมืองปรัสเซียตะวันตกอพยพสู่ดินแดนเยอรมนีเป็นจำนวนมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 โดยคิดเป็นกว่า 1,000,000 คนในปี ค.ศ. 1919 และอีกกว่า 750,000 คนในปี ค.ศ. 1926[21]
  • ยกดินแดนฮุลทชิน ของอัปเปอร์ซิลีเซีย ให้แก่เชโกสโลวาเกีย (คิดเป็นดินแดน 333 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 49,000 คน) โดยปราศจากการลงประชามติ[20]
  • ยกทางตะวันออกของแคว้นอัปเปอร์ซิลีเซียให้แก่โปแลนด์ (คิดเป็นดินแดน 3,214 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 965,000 คน) โดย 2 ใน 3 รวมเข้ากับเยอรมนี และอีก 1 ใน 3 รวมเข้ากับโปแลนด์ตามผลของการลงประชามติ[22]
  • ยกมอเรสเนต ยูเพนและมาเมลคืนให้เบลเยี่ยม[22] รวมไปถึงยกรางรถไฟเวนนบานให้แก่เบลเยี่ยมด้วย
  • ยกอาณาเขตของโซลเดา ในปรัสเซียตะวันออก ชุมทางรถไฟสายวอร์ซอ-ดานซิกที่สำคัญ ให้แก่โปแลนด์โดยไม่ต้องมีการลงประชามติ[23]
  • ยกดินแดนทางตอนเหนือของอัปเปอร์ซิลีเซีย หรือแคว้นมาเมล ให้อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ต่อมาได้โอนให้แก่ลิทัวเนีย
  • ยกดินแดนทางตะวันออกของปรัสเซียตะวันตกและทางตอนใต้ของปรัสเซียตะวันออกให้แก่โปแลนด์ หลังจากผลการลงประชามติ[24][25][26]
  • ให้ดินแดนซาร์ลันท์อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาตชาติเป็นเวลา 15 ปี และหลังจากครบกำหนดเวลาจะมีการลงประชามติว่าจะเลือกรวมกับฝรั่งเศสหรือรวมกับเยอรมนีตามเดิม (ผลการออกเสียงใน ค.ศ. 1935 ได้รวมกับเยอรมนี) [19] โดยในช่วงเวลาระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ ผลผลิตถ่านหินของแคว้นให้เป็นของฝรั่งเศส
  • เมืองท่าดานซิก ซึ่งตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวิสตูล่า ริมชายฝั่งทะเลบอลติก ต้องเป็นนครเสรีดานซิก ภายใต้การปกครองของสันนิบาติชาติ โดยปราศจากการลงประชามติ (คิดเป็นดินแดน 1,893 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 408,000 คน (ประมาณการปี ค.ศ. 1920) [27]
  • เยอรมนีต้องรับรองและให้ความเคารพแก่ความเป็นเอกราชของออสเตรียอย่างเคร่งครัด และห้ามประเทศทั้งสองรวมเข้าด้วยกัน แม้ว่าประชาชนของทั้งสองฝ่ายมีความต้องการเช่นนั้น[28][29]
  • ในข้อ 22 อาณานิคมเยอรมนีถูกแบ่งกันระหว่างเบลเยียม สหราชอาณาจักร บางประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่าอาณานิคมเหล่านี้จะต้องไม่กลับเข้าไปรวมกับเยอรมนีอีก ซึ่งเป็นการรับประกันตามข้อ 119[30]

ปัญหามณฑลซานตง

แก้
 
ชาวจีนในขบวนการ 4 พฤษภาคม

ตามข้อที่ 156 ของสนธิสัญญา ได้กำหนดให้สัมปทานของเยอรมนีในมณฑลชานตงของจีนต้องถูกโอนให้แก่ญี่ปุ่น แทนที่จะถูกโอนกลับมาให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ชาวจีนจึงจัดการเดินขบวนต่อต้านครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนการ 4 พฤษภาคม (อังกฤษ: May Fourth Movement) และส่งผลกระทบให้จีนไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว จีนได้ประกาศยุติสงครามกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1919 และลงนามในสนธิสัญญาแยกต่างหากกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1921

ค่าปฏิกรรมสงคราม

แก้

ตามข้อที่ 231 ของสนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้เริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้กำหนดค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจำเป็นต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้เรียกร้องเอาทองคำจากเยอรมนีเป็นมูลค่า 226,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 11,300 ล้านปอนด์) ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ในปี ค.ศ. 1921 ถูกปรับลดลงมาเหลือ 132,000 ล้านไรซ์มาร์ก (หรือ 4,990 ล้านปอนด์)[32]

การเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีส่วนหนึ่งนั้นเป็นการแก้แค้นของฝรั่งเศส เนื่องจากผลของสนธิสัญญาแฟรงเฟิร์ตเมื่อปี ค.ศ. 1871 ที่ได้ลงนามหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ซึ่งฝรั่งเศสจำเป็นต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่เยอรมนีมากพอ ๆ กัน ขณะที่แผนการยัง ในปี ค.ศ. 1929 ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ของเยอรมนี ซึ่งจะหมดอายุเมื่อปี ค.ศ. 1988[33]

การชดใช้หนี้ตามที่ระบุในสนธิสัญญาแวร์ซายได้อยู่ในหลายรูปแบบ อย่างเช่น ถ่านหิน เหล็กกล้า ทรัพย์สินทางปัญญา และผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากการคืนเงินในรูปของสกุลเงินจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งได้เกิดขึ้นในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1920 และเป็นการลดผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะได้รับ ที่ประชุมนานาชาติแห่งปี ค.ศ. 1953 กำหนดให้รัฐบาลเยอรมนีชำระหนี้ให้หมดภายในปี ค.ศ. 2020[34]

การจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ

แก้

ในส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายได้กล่าวถึงกติกาของสันนิบาตชาติ ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งสันนิบาตชาติ อันเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยมีจุดประสงค์ที่จะขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่สิบสามของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็ได้เป็นจุดกำเนิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ[35] โดยมีความพยายามที่จะกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน รวมไปถึงการกำหนดเพดานวันและเวลางานสูงสุด การกำหนดการบรรจุแรงงาน และการป้องกันการว่างงาน การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ การดูแลรักษาแรงงานจากอาการป่วยและบาดเจ็บ การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและผู้บาดเจ็บ การกำหนดผลประโยชน์ของแรงงานเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือและการอบรมจากประเทศที่ได้รับการบรรจุ รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง และยังได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้นเพื่อดูแลดินแดนแถบแม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์ แม่น้ำเนอเมนและแม่น้ำดานูบ

ประเทศเกิดใหม่จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย

แก้
  •   ออสเตรีย มีพื้นที่ 28,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 6 ล้านคน
  •   ฮังการี มีพื้นที่ 45,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 8 ล้านคน
  •   เชโกสโลวาเกีย (ประกอบด้วยแคว้นโบฮีเมีย มอเรเวีย สโลวาเกียและบางส่วนของไซลีเชีย) มีพลเมือง 11 ล้านคน
  •   ยูโกสลาเวีย (ประกอบด้วยแคว้นมอนเตเนโกร บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา สลาโวเนีย แดลเมเชียและโครเอเชีย: ซึ่งเคยเป็นประเทศบอสเนียมาก่อน) มีพลเมือง 9 ล้านคน
  •   โปแลนด์ มีพื้นที่ 120,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 12 ล้านคน
  •   ฟินแลนด์ มีพื้นที่ 150,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน
  •   เอสโตเนีย มีพื้นที่ 18,355 ตารางไมล์ มีพลเมือง 1 ล้านคน
  •   ลัตเวีย มีพื้นที่ 25,384 ตารางไมล์ มีพลเมือง 2 ล้านคน
  •   ลิทัวเนีย มีพื้นที่ 21,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน

ผลที่เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาแวร์ซาย

แก้

ฝ่ายสัมพันธมิตร

แก้
 
เฮนรี คาบอท ลอดจ์ สมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งมีความเห็นคัดค้านเนื้อหาของสนธิสัญญาแวร์ซาย

ประธานาธิบดีเกลม็องโซแห่งฝรั่งเศสประสบความล้มเหลวที่ไม่อาจทำตามความต้องการของชาวฝรั่งเศสได้ และต้องพ้นตำแหน่งไปหลังจากการเลือกตั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1920 ส่วนจอมพลแห่งฝรั่งเศส แฟร์ดีน็อง ฟ็อช ได้แสดงความคิดเห็นออกมาว่า การจำกัดความสามารถของเยอรมนีนั้นเป็นความกรุณามากเกินไป "นี่ไม่ใช่สันติภาพ แต่เป็นสนธิสัญญาพักรบที่มีอายุยี่สิบปีเท่านั้น"[36]

ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นที่แตกต่างของเฮนรี คาบอท ลอดจ์ วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ได้ลงมติปฏิเสธที่จะอนุมัติสนธิสัญญาดังกล่าว แม้ว่าจะมีการโต้วาทีครั้งสำคัญก็ตาม ประธานาธิบดีวิลสันได้ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนแก่สนธิสัญญาแวร์ซายเช่นกัน[37] ผลที่ตามมา คือ สหรัฐอเมริกามิได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสันนิบาติชาติ แม้ว่าประธานาธิบดีวิลสันจะอ้างว่าเขาสามารถ "ทำนายด้วยความมั่นใจเกือบเต็มร้อยว่าในอีกชั่วอายุคนหนึ่งจะมีสงครามโลกเกิดขึ้นอีกครั้ง ถ้าหากประชาชาติไม่ได้ประสานงานกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น"[38]

เพื่อนของประธานาธิบดีวิลสัน ชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด แมนเดล เฮาส์ ได้เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1919 ไว้ว่า:

"ผมกำลังออกจากกรุงปารีส หลังจากผ่านช่วงเวลาอันสำคัญนานแปดเดือนด้วยอารมณ์ที่สับสน เมื่อได้มองดูที่ประชุมในห้วงความทรงจำของผม มีหลายสิ่งที่น่ายินดีและหลายสิ่งที่น่าเสียใจ มันเป็นการง่ายมากที่จะกล่าวว่าอะไรควรจะเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่กลับหาทางที่จะลงมือทำอย่างแท้จริงได้ยากยิ่งนัก สำหรับผู้ที่คิดว่าสนธิสัญญานี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายและไม่สมควรที่จะถือกำเนิดขึ้นมาเลย และบอกว่ามันจะมีผลเกี่ยวพันถึงทวีปยุโรปในความยุ่งยากไม่สิ้นสุดจากผลของมัน ผมจะมีความรู้สึกเห็นด้วยกับคนคนนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผมก็จะตอบแก่เขาว่าจักรวรรดิไม่สามารถถูกทำลายลงได้ และรัฐแห่งใหม่ที่เจริญขึ้นมาจากเศษซากของจักรวรรดิเก่าโดยปราศจากความไม่สงบ ความพยายามใด ๆ ที่จะสร้างเขตแดนแห่งใหม่ขึ้นย่อมหมายถึงการก่อปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีวันหมดสิ้น ขณะที่ผมควรจะหันไปทางสันติภาพที่แตกต่าง ผมก็สงสัยเป็นอันมากว่ามันจะทำได้จริงหรือ เพราะส่วนประกอบหลายอย่างที่ต้องการในการสร้างสันติภาพขึ้นมานี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในกรุงปารีสแห่งนี้เลย"[39]

หลังจากที่ผู้แทนของประธานาธิบดีวิลสัน วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง ได้ทำการต่อต้านแนวคิดสันนิบาตชาติต่อไป วุฒิสภาได้ผ่านมติน็อกซ์-พอร์เตอร์ (อังกฤษ: Knox-Porter Resolution) ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1921[40]

ประเทศเยอรมนี

แก้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน คณะผู้แทนเยอรมนีภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อูริก กราฟ วอน บรอกดอร์ฟฟ์-รันเซา ได้เดินทางมาถึงที่ประชุมแวร์ซาย ในวันที่ 7 พฤษภาคม เมื่อเขาได้เห็นเงื่อนไขที่ผู้ชนะกำหนดขึ้นมานั้น รวมไปถึง "อนุประโยคความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มสงคราม" แล้ว เขาได้ตอบแก่ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรในที่ประชุมว่า "เราได้รับทราบถึงความเกลียดชังรุนแรงที่เราได้เผชิญ ณ ที่แห่งนี้ พวกท่านต้องการให้เรายอมรับว่าเราเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ผิดในสงครามครั้งนี้ การยอมรับของข้าพเจ้าก็จะเป็นแค่เพียงคำโกหกเท่านั้น"[41]

 
ชาวเยอรมันมารวมตัวกันหน้ารัฐสภาไรซ์ตาร์กเพื่อต่อต้านการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย

เพราะว่าเยอรมนีไม่มีส่วนใด ๆ ในการเข้าร่วมประชุม รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีจึงยื่นคำร้องประท้วงต่อข้อเรียกร้องอันไม่เป็นธรรม และ "การทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ"[42] และยกเลิกการเดินหน้าการประชุมแวร์ซายในเวลาไม่นานหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ฟีลิพพ์ ไชเดมันน์ ได้ปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายและถอนตัวออก และในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1919 เขาได้เรียกสนธิสัญญาดังกล่าวว่าเป็น "แผนการสังหาร" และเปล่งเสียงออกมาว่า:

"มือที่พยายามจะจับเราล่ามโซ่จะไม่ร่วงโรยหรือ สนธิสัญญานี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"[43]

ภายหลังจากการถอนตัวของไชเดมันน์ รัฐบาลผสมใหม่ของเยอรมนีภายใต้การนำของ กุสตาฟ เบาเออร์ มีความจำเป็นที่จะต้องลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ที่ประชุมแห่งชาติไวมาร์ได้ลงคะแนนเสียง โดยคะแนนเสียงให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายชนะไป 237 ต่อ 138 เสียง รวมทั้งไม่ลงคะแนน 5 เสียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เฮอร์มันน์ มึลเลอร์ และ โจฮานเนส เบล เป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญา สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1919 และได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ด้วยคะแนนเสียง 209 ต่อ 116[44]

พวกอนุรักษนิยม พวกชาตินิยม และนายทหารนอกประจำการได้เริ่มต้นการพูดคุยอย่างฉุกเฉินเกี่ยวกับสันติภาพ และพวกนักการเมือง พวกสังคมนิยม พวกคอมมิวนิสต์ และชาวยิวถูกจับตามอง เนื่องจากว่ามีความเห็นโอนเอียงไปหาต่างประเทศ รวมทั้งยังมีข่าวลือออกมาว่า พวกเขาเหล่านี้ไม่สนับสนุนสงคราม และขายชาติให้กับศัตรู สมาชิกขององค์การไซออนโลกได้พยายามที่จะชักจูงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้มุ่งไปยังจักรวรรดิออตโตมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชะตากรรมของปาเลสไตน์ และกลายมาเป็น การประชุมสันติภาพปารีส[45] พวกอาชญากรเดือนพฤศจิกายน (อังกฤษ: November Criminals) หรือ ผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเยอรมนีที่กำลังอ่อนแอ และสาธารณรัฐไวมาร์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ผู้แทงข้างหลัง" จาก แนวหน้าที่บ้าน โดยวิจารณ์ลัทธิชาตินิยมของชาวเยอรมัน หรือไม่ก็ยุยงให้เกิดการจลาจลและการประท้วงหยุดงานในอุตสาหกรรมทางทหารที่สำคัญ หรือ การลักลอบขายสินค้าราคาแพง โดยแนวคิดดังกล่าวมีผู้เชื่อว่าเป็นความจริงจำนวนมาก เพราะว่าหลังจากที่เยอรมนียอมจำนนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 กองทัพเยอรมันส่วนมากยังคงอยู่ในดินแดนของฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ไม่เท่านั้น ทางแนวรบด้านตะวันออกก็ได้รับชัยเหนือจักรวรรดิรัสเซีย และมีการบังคับใช้สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ และทางด้านตะวันตก กองทัพเยอรมันก็เกือบจะเอาชนะสงครามได้ในการรุกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ความล้มเหลวทำให้เกิดการประท้วงในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ ทำให้ทหารเยอรมันมียุทธสัมภาระที่ไม่เพียงพอ การประท้วงดังกล่าวได้รับการยุยงจากพวกกบฏ โดยพวกยิวได้รับการตราหน้ามากที่สุด การมองข้ามตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของเยอรมนีทำให้แนวหน้าต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด

ตำนานแทงข้างหลังได้รับความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันจากพรรคการเมืองตั้งแต่ฝ่ายซ้ายจัดไปจนถึงฝ่ายขวาจัด เนื่องจากเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายถูกมองว่า ไม่อาจยอมรับได้

การละเมิดสนธิสัญญา

แก้

เศรษฐกิจของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอ่อนแอมาก และค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถจ่ายคืนโดยเป็นสกุลเงินของเยอรมนีได้ กระนั้น แม้แต่การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเพียงน้อยนิดนี้ก็ยังเป็นภาระหนักสำหรับเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยส่งผลกระทบกว่าหนึ่งในสามของภาวะเงินเฟ้อในสาธารณรัฐไวมาร์ และส่งผลให้เกิดการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายหลายครั้ง อย่างเช่น

  • ในปี ค.ศ. 1919 ได้ปรากฏการการล้มล้างกองเสนาธิการ อย่างไรก็ตาม แก่นกลางของกองเสนาธิการกลับอยู่ในอีกองค์กรหนึ่ง ที่เรียกว่า ทรุปเปเนมท์ (เยอรมัน: Truppenamt) ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของกองทัพบกและกองทัพอากาศขึ้นใหม่[46] และมีอุปกรณ์การฝึกสอนที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1922 ผู้แทนของรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาราพัลโล ณ การประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองกานัว ประเทศอิตาลี สนธิสัญญาดังกล่าวได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ยกเลิกคำกล่าวอ้างทางเศรษฐกิจ และให้การรับประกันต่อความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ในปี ค.ศ. 1932 รัฐบาลเยอรมนีประกาศว่าเยอรมนีจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงลดอาวุธตามสนธิสัญญา เนื่องจากความล้มเหลวของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะลดอาวุธ ตามเนื้อหาในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซาย
  • ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สั่งให้มีการระดมพลในเยอรมนีและสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงกองทัพเรือ กองพลยานเกราะ (เป็นครั้งแรกในโลก) และกองทัพอากาศ
  • ในเดือนมิถุนายน 1935 สหราชอาณาจักรละเมิดสนธิสัญญาอย่างร้ายแรง เมื่อลงนามใน ข้อตกลงการเดินเรือระหว่างอังกฤษ-เยอรมัน
  • ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ส่งทหารเข้าไปยังเขตปลอดทหารไรน์แลนด์
  • ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
  • ในเดือนกันยายน 1938 ฮิตเลอร์ได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีให้ยึดครองซูเตเดนแลนด์
  • ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ยึดครองเชโกสโลวาเกียทั้งประเทศ
  • 1 กันยายน 1939 เยอรมนีบุกครองโปแลนด์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง

หลายแง่คิดเกี่ยวกับสนธิสัญญาแวร์ซาย

แก้

ในหนังสือ The Economic Consequences of the Peace ของ จอห์น เมย์เนิร์ด เคนส์ ได้กล่าวถึงสนธิสัญญาแวร์ซายไว้ว่าเป็น สันติภาพคาร์เธจ การวิเคราะห์ดังกล่าวได้รับการโต้แย้งจากนักเศรษฐศาสตร์ของกองทัพเสรีฝรั่งเศส ชื่อว่า Étienne Mantoux ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 เขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า The Carthaginian Peace, or the Economic Consequences of Mr. Keynes ในความพยายามดังกล่าว โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

เมื่อถึงเร็ว ๆ นี้ได้มีการโต้เถียงกัน (จากแนวคิดของเจอร์ฮาร์ด เวนเบิร์ก นักประวัติศาสตร์ ในหนังสือ A World At Arms[47]) ว่า สนธิสัญญาแวร์ซายนั้นในความเป็นจริงแล้ว เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายเยอรมนีเสียด้วยซ้ำ เพราะว่า Bismarckian Reich ยังคงเป็นหน่วยการเมืองแทนที่จะล่มสลายไป และทำให้เยอรมนีรอดพ้นจากการถูกยึดครองทางทหารครั้งใหญ่ (ซึ่งผิดกับผลที่ตามมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง)

นักประวัติศาสตร์การทหารชาวอังกฤษ คอร์เรลลี บาร์เนตต์ กล่าวว่า สนธิสัญญาแวร์ซาย "เป็นความกรุณาอย่างสูงแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขแห่งสันติภาพของเยอรมนี เมื่อเยอรมนีปรารถนาที่จะชนะสงคราม และมีจิตใจที่จะบังคับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่แล้ว" นอกเหนือจากนั้น เขายังกล่าวว่า "เป็นการตบหน้าด้วยข้อมือ" เมื่อเปรียบเทียบสนธิสัญญาแวร์ซายกับสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งเยอรมนีบังคับเอาดินแดนจากรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม 1918 คิดเป็นประชากรกว่าหนึ่งในสามของรัสเซีย (นับเฉพาะเชื้อชาติรัสเซียแท้) อุตสาหกรรมกว่าครึ่ง และเหมืองถ่านหินกว่าเก้าในสิบ พร้อมกับค่าปฏิกรรมสงครามกว่าหกพันล้านมาร์ก[48]

บาร์เนตต์ยังบอกอีกว่า เยอรมนีอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าทางยุทธศาสตร์จากสนธิสัญญาแวร์ซาย มากกว่าเมื่อปี ค.ศ. 1914 เสียอีก[49] ในตอนนั้น ชายแดนด้านตะวันออกของเยอรมนีติดกับพรมแดนรัสเซียและออสเตรีย ซึ่งทั้งสองเป็นผู้คานอำนาจของเยอรมนี แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกแบ่งแยก และรัสเซียก็ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติและสงครามกลางเมือง จนประสบความอ่อนแอ และรัฐโปแลนด์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีอำนาจพอที่จะโจมตีเยอรมนีได้เลย

ทางตะวันตก อำนาจเยอรมนีคานกับอำนาจของฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ทั้งสองมีประชากรน้อยกว่าและมีเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เบอร์เนตต์ได้สรุปว่า แทนที่จะเป็นการทำให้เยอรมนีอ่อนแอ สนธิสัญญาดังกล่าวกลับเป็นการ "ส่งเสริม" อำนาจของเยอรมนี[49] บาร์เนตต์กล่าวว่าอังกฤษและฝรั่งเศสควรจะ "แบ่งแยกและทำให้อ่อนแอตลอดกาล" โดยการลบล้างผลงานของบิสมาร์ก และแบ่งแยกเยอรมนีให้เป็นรัฐขนาดเล็กที่อ่อนแอ เพื่อที่จะได้รักษาสันติภาพในทวีปยุโรป[50] และเมื่อทำไม่สำเร็จแล้ว มันก็มิได้เป็นการแก้ปัญหาอำนาจของเยอรมนีและฟื้นฟูความสงบของทวีปยุโรป อังกฤษนั้น "ได้ประสบความล้มเหลวในการมีส่วนร่วมมีบทบาทในสงครามอันยิ่งใหญ่"[51]

นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เรย์มอนด์ คาเทียร์ได้ชี้ว่ามีชาวเยอรมันที่อยู่ในซูเตเดนแลนด์ และโปเซน-ปรัสเซียตะวันตก ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของศัตรู ซึ่งถูกจำกัดและลิดรอนสิทธิอยู่เสมอ[21] เขายืนยันว่ามีชาวเยอรมันกว่า 1,058,000 คนในแคว้นโปเซน-ปรัสเซียตะวันตก ในปี ค.ศ. 1921 และกว่า 758,867 คนได้หลบหนีออกจากโปแลนด์ในเวลาภายในห้าปีหลังจากนี้[21] ในปี ค.ศ. 1926 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของโปแลนด์ได้ประมาณการว่ามีชาวเยอรมันอาศัยอยู่ในโปแลนด์อยู่ไม่เกิน 300,000 คน ความขัดแย้งทางเชื้อชาติอันรุนแรงเช่นนี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการผนวกดินแดนในปี ค.ศ. 1938 และฮิตเลอร์ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการผนวกเชโกสโลวาเกีย และบางส่วนของโปแลนด์[21]

"2008 School Project History" ได้สำรวจถึงคำถามที่ว่าเยอรมนีที่พรรณนาว่า "ยอมรับผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย" ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของเยอรมนีหลายเล่ม ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกว่าผู้แทนเยอรมนีได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายอย่างอิสระ มากกว่าที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภายนอก[52][53] [54] [55]

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. การชำระค่าปฏิกรรมสงครามนัดสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2010[2] วันครบรอบยี่สิบปีการรวมประเทศเยอรมนี และเก้าสิบสองปีพอดีหลังสงครามยุติ[3]

อ้างอิง

แก้
  • David Andelman (2007). A Shattered Peace: Versailles 1919 and the Price We Pay Today. New York: John Wiley & Sons Publishers. ISBN 978-0-471-78898-0
  • Demarco, Neil. (1987). The World This Century: Working with Evidence. Collins Educational. ISBN 0003222179
  • Margaret MacMillan (2001). Peacemakers: The Paris Peace Conference of 1919 and Its Attempt to End War (บ้างก็ชื่อว่า Paris 1919: Six Months That Changed the World และ Peacemakers: Six Months That Changed the World). London: John Murray Publishers. ISBN 0-7195-5939-1.
  • Harold Nicolson. (1933) Peacemaking, 1919, Being Reminiscences of the Paris Peace Conference. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 1-931541-54-X
  • John Wheeler-Bennett (1972).The Wreck of Reparations, being the political background of the Lausanne Agreement, 1932. New York: H. Fertig.

อ้างอิง

แก้
  1. Timothy W. Guinnane (January 2004). "Vergangenheitsbewältigung: the 1953 London Debt Agreement]" (pdf). Center Discussion Paper no. 880. Economic Growth Center, Yale University. สืบค้นเมื่อ 2008-12-06. At the pre-World War I parities, $1 gold = 4.2 gold Marks. One Mark was worth one shilling sterling.
  2. Fareed Zakaria (2010-10-02). "Transcript of interview". CNN. สืบค้นเมื่อ 2011-03-15.
  3. Olivia Lang (2010-10-03). "Why has Germany taken so long to pay off its WWI debt?". BBC. สืบค้นเมื่อ 2011-03-15.
  4. สุปราณี มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป (1815-ปัจจุบัน) เล่ม 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 263
  5. สุปราณี มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป (1815-ปัจจุบัน) เล่ม 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 262
  6. 6.0 6.1 David Thomson, Europe Since Napoleon. Penguin Books. 1970, p. 605.
  7. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. หน้า 240.
  8. สุปราณี มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป (1815-ปัจจุบัน) เล่ม 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 264
  9. ทวีศักดิ์ ล้อมล้ม. หน้า 238.
  10. ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, บรัษัท ตถาตา พับลิเคชั่น, 2549, หน้า 83
  11. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. หน้า 237-238.
  12. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. หน้า 238.
  13. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. หน้า 239.
  14. Lentin, Antony (1985) [1984]. Guilt at Versailles: Lloyd George and the Pre-history of Appeasement. Routledge. p. 84. ISBN 9780416411300.
  15. Alan Sharp, "The Versailles Settlement: Peacemaking in Paris, 1919", 1991
  16. Harold Nicolson, Diaries and Letters, 1930-39,250; quoted in Derek Drinkwater: Sir Harold Nicolson and International Relations: The Practitioner as Theorist, P.139
  17. 17.0 17.1 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 84
  18. Jörg Friedrich, Von deutschen Schulden, Berliner Zeitung, 09. October 1999
  19. 19.0 19.1 ทวีศักดิ์ ล้อมล้ม. หน้า 243.
  20. 20.0 20.1 http://www.baanjomyut.com/library/treaty/treaty4.html
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 La Seconde Guerre mondiale, Raymond Cartier, Paris, Larousse Paris Match, 1965, quoted in: Die "Jagd auf Deutsche" im Osten, Die Verfolgung begann nicht erst mit dem "Bromberger Blutsonntag" vor 50 Jahren, by Pater Lothar Groppe, © Preußische Allgemeine Zeitung / 28. August 2004
  22. 22.0 22.1 ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. หน้า 242.
  23. Nasze miasto: Historia: Lata 1701 - 1871 - dzialdowo.pl.
  24. Results of a plebiscite in three Polish districts conducted between July 1920 and March 1921. Rocznik statystyki Rzeczypospolitej Polskiej link เก็บถาวร 2007-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน(pdf, 623 KB). Główny Urząd Statystyczny Rzeczypospolitej Polskiej GUS, Annual (Main Statistical Office of the Republic of Poland) (1920/1922, part II). Retrieved on 2008-01-23.
  25. *Butler, Rohan, MA., Bury, J.P.T.,MA., & Lambert M.E., MA., editors, Documents on British Foreign Policy 1919-1939, 1st Series, Her Majesty's Stationery Office, London, 1960, vol.x, Chapter VIII, "The Plebiscites in Allenstein and Marienwerder January 21 - September 29, 1920", p. 806
  26. *Butler, Rohan, MA., Bury, J.P.T.,MA., & Lambert M.E., MA., editors, Documents on British Foreign Policy 1919-1939, 1st Series, Her Majesty's Stationery Office, London, 1960, vol.x, Chapter VIII, "The Plebiscites in Allenstein and Marienwerder January 21 - September 29, 1920", p. 826
  27. Yale Law School. "The Versailles Treaty June 28, 1919 : Part III". The Avalon Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-03.
  28. Rolf Steininger, Die Anschlußbestrebungen Deutschösterreichs und das Deutsche Reich 1918/19, in: Arbeitskreis für regionale Geschichte (Hg.), "Eidgenossen, helft Euren Brüdern in der Not!" Vorarlbergs Beziehungen zu seinen Nachbarstaaten 1918-1922, Feldkirch 1990, 65-83.
  29. http://www.historisches-lexikon-bayerns.de/artikel/artikel_44926 (German)
  30. Louis (1967), p. 9
  31. Louis (1967), p. 117-130
  32. ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, หน้า 105
  33. ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, หน้า 107
  34. Jörg Friedrich, Von deutschen Schulden, Berliner Zeitung, 09. October 1999 [1]
  35. Foner, Philip S. History of the Labor Movement in the United States. Vol. 7: Labor and World War I, 1914-1918. New York: International Publishers, 1987. ISBN 0717806383
  36. R. Henig, Versailles and After: 1919 – 1933 (London: Routledge, 1995) p. 52
  37. United States Senate: A Bitter Rejection
  38. "WOODROW WILSON: Appeal for Support of the League of Nations". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-16. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.
  39. Bibliographical Introduction to "Diary, Reminiscences and Memories of Colonel Edward M. House"
  40. Wimer, Kurt; Wimer, Sarah (1967), "The Harding Administration, the League of Nations, and the Separate Peace Treaty", The Review of Politics, 29 (1): 13–24.
  41. "Wir kennen die Wucht des Hasses, die uns hier entgegentritt. Es wird von uns verlangt, daß wir uns als die allein Schuldigen am Krieg bekennen; ein solches Bekenntnis wäre in meinem Munde eine Lüge". 2008 School Projekt Heinrich-Heine-Gesamtschule, Düsseldorf http://www.fkoester.de/kursbuch/unterrichtsmaterial/13_2_74.html
  42. 2008 School Projekt Heinrich-Heine-Gesamtschule, Düsseldorf http://www.fkoester.de/kursbuch/unterrichtsmaterial/13_2_74.html
  43. Lauteinann, Geschichten in Quellen Bd. 6, S. 129
  44. Koppel S. Pinson (1964). Modern Germany: Its History and Civilization (13th printing ed.). New York: Macmillan. p. 397.
  45. T. Segev One Palestine, Complete pp. 33-56 Holt Paperbacks ISBN 0805065873
  46. Parts 1 & 3 Heeresdienstvorschrift 487, Verlag, 1923
  47. Reynolds, David. (February 20, 1994). "Over There, and There, and There." Review of: A World at Arms: A Global History of World War II, by Gerhard L. Weinberg. New York: Cambridge University Press.
  48. Correlli Barnett, The Collapse of British Power (London: Pan, 2002), p. 392.
  49. 49.0 49.1 Correlli Barnett, The Collapse of British Power (London: Pan, 2002), p. 316.
  50. Correlli Barnett, The Collapse of British Power (London: Pan, 2002), p. 318.
  51. Correlli Barnett, The Collapse of British Power (London: Pan, 2002), p. 319.
  52. 2008 School Projekt History, Heinrich-Heine-Gesamtschule, Düsseldorf http://www.fkoester.de/kursbuch/unterrichtsmaterial/13_2_74.html
  53. New York Times, July 11, 1919, Page 5 http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=9406E6D71E3BEE3ABC4952DFB1668382609EDE, see original document: http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?_r=1&res=9406E6D71E3BEE3ABC4952DFB1668382609EDE&oref=slogin
  54. Im Endstadium einer auf allen politischen und militärischen Ebenen geführten Diskussion über die Annahme oder Ablehnung der alliierten Friedensbedingungen demissionierte das in dieser Frage unüberbrückbar gespaltene Kabinett Scheidemann in den frühen Morgenstunden des 20. Juni 1919. Weniger als 100 Stunden vor der von den Alliierten für den Fall der Ablehnung angekündigten Wiederaufnahme des Krieges besaß das Deutsche Reich keine handlungswillige Regierung mehr. Bundesarchiv Berlin - Federal German Archives Berlin, Files of the Reich Chancellery, das Kabinett Bauer, Vol. 1, Introduction, Formation of Government and acceptance of the Versailles Treaty, http://www.bundesarchiv.de/aktenreichskanzlei/1919-1933/0000/bau/bau1p/kap1_1/para2_2.html
  55. The British naval blockade became a Hungerblockade for the German population: Insgesamt erwies sich die britische Seeblockade dabei als sehr wirksame und dauerhafte Waffe gegen die deutsche Wirtschaft und gegen die notleidende Bevölkerung, für die sie zur "Hungerblockade" wurde. Auch nach dem Waffenstillstand von Compiègne im November 1918 setzten die Briten die Blockade fort, was die Verbitterung in Deutschland noch zusätzlich steigerte. ©2008 DHM Deutsches Historisches Museum - German State Museum of History http://www.dhm.de/lemo/html/wk1/kriegsverlauf/seeblockade/index.html

บรรณานุกรม

แก้
  • Andelman, David (2008). A Shattered Peace. London: J. Wiley. ISBN 9780471788980.
  • Demarco, Neil (1987). The World This Century. London: Collins Educational. ISBN 0003222179.
  • Macmillan, Margaret (2001). Peacemakers. London: John Murray. ISBN 0719559391.
  • Markwell, Donald (2006). John Maynard Keynes and International Relations. Oxford: Oxford University Press. ISBN 0198292368.
  • Nicolson, Harold (2001). Peacemaking, 1919. London: Simon Publications. ISBN 193154154X.
  • Wheeler-Bennett, Sir John (1972). The Wreck of Reparations, being the political background of the Lausanne Agreement, 1932. New York: H. Fertig.
  • ล้อมลิ้ม, ทวีศักดิ์ (2542). ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1805-1945 เล่ม 2. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์. ISBN 974-277-617-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้