สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. (Thailand Institute of Nuclear Technology: TINT) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 มีภารกิจหลัก คือ ศึกษาวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบันมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ เป็นผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการได้แก่ พลเรือตรี วัชระ การุณยวนิช และ ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์
Thailand Institute of Nuclear Technology สทน./TINT. | |
ภาพรวมองค์การมหาชน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 21 เมษายน พ.ศ. 2549 |
สำนักงานใหญ่ | 9/9 หมู่ที่ 7 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120 |
ฝ่ายบริหารองค์การมหาชน |
|
ต้นสังกัดองค์การมหาชน | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
เว็บไซต์ | www.tint.or.th |
ประวัติ
แก้จุดเริ่มต้นของการนำนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 รัฐบาลในยุคนั้นเห็นความจำเป็นของการนำนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2505 จึงมีการนำเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยมาติดตั้ง ณ อาคารปฏิกรณ์ปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ
ต่อมาได้มีการกำหนดให้งานควบคุมและกำกับดูแลกับงานวิจัยพัฒนาและการนำนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์แยกออกจากกันอย่างชัดเจน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แยกออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549[2]นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นประธานกรรมการ
ปัจจุบัน สทน. มีสำนักงาน 3 แห่ง คือ สำนักงานบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ศูนย์ฉายรังสีคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี และศูนย์วิจัยองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
ภารกิจ
แก้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีภารกิจหลัก 2 ส่วน คือ
- ให้บริการ เผยแพร่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ
- ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์
- ศูนย์ฉายรังสีอาหาร ให้การบริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตผลการเกษตร เช่น เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และแหนม นอกจากนั้นศูนย์ฉายรังสีแห่งนี้ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกด้วยการให้บริการฉายรังสีผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ สับปะรด และมังคุด เพื่อให้สามารถส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกาได้
- ศูนย์ไอโซโทปรังสี ให้บริการผลิตสารไอโซโทปรังสี จัดส่งให้โรงพยาบาล และสถาบันต่างๆ 25 แห่งรวมทั้งบริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
- ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี ให้บริการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การเปลี่ยนสีของพลอยโทแพซ ให้เป็นสีฟ้าทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
- ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี รับริการจัดการกากกัมมันตรังสี รับจัดการกากกัมมันตรังสีจากทั่วประเทศ
- ศูนย์วิศวกรรมและเครื่องมือด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ให้บริการ ผลิต จำหน่าย ติดตั้ง และซ่อมบำรุงเครื่องมือตรวจวัดรังสี ได้แก่ เครื่องสำรวจรังสีแกมม่า รังสีเบต้า รังสีเอ็กซ์ . เครื่องเฝ้าติดตามปริมาณรังสีในพื้นที่ เป็นต้น
- การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีนิวเคลียร์
- การวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นการใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เพื่อผลิตไอโซโทปรังสีสารประกอบติดฉลากรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรค เช่น สารประกอบไอโอดีน-131 ใช้ตรวจรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ สารประกอบเทคนีเชียม-99 เอ็ม หลายชนิด ใช้ตรวจอวัยวะภายใน เช่น กระดูก ปอด ไต และสารประกอบซาแมเรียม-153 มีรังสีบีตาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งในกระดูก ใช้บรรเทาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย
- การวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตร ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์พืช โดยใช้เทคนิคการฉายรังสี ซึ่งจะมีสารต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่ชื่อว่า โคบอลต์ 60 ปัจจุบันนี้มีผลิตผลทางการเษตรที่สามารถปรับปรุงพันธุ์ได้สำเร็จ เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และการฉายรังสีบัวหลวงสีเหลือง ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ให้สามารถปลูกในประเทศไทยได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของเอเซีย นอกจากนี้ยังมีการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยเทคนิคการฉายรังสี ทำให้แมลงเป็นหมัน เช่น จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครนายก และ จังหวัดจันทบุรี และการถนอมอาหารด้วยการฉายรังสี เช่น ผลไม้เพื่อการส่งออก
- การวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และอุตสาหกรรม สามารถนำประโยชน์ของรังสีมาใช้ในการปรับปรุงคุณสมบัติของวัสดุ เช่น การฉายรังสีสายไฟ เพื่อให้ฉนวนทนความร้อนมากขึ้น การเตรียมวัสดุปิดแผลสดจากไฮโดรเจน เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาตรวจสอบสารกัมมันตรังสีต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม และในร่างกายมนุษย์ก็มีสารกัมมันตรังสีอยู่ด้วยเช่นกัน ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปโฮโดรโลจี้ เป็นการใช้เทคโนโลยีไอโซโทปในการศึกษาอัตราการไหลของน้ำบาดาล การหาแหล่งที่มาของน้ำบาดาล เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรน้ำ
ผู้บริหาร
แก้รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ
พลเรือตรี วัชระ การุณยวนิช รองผู้อำนวยการ
ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา รองผู้อำนวยการ
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 39ก วันที่ 20 เมษายน 2549