สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Chulalongkorn University Language Institute) หรือที่เรียกันโดยย่อว่า คูลี่ (CULI) เป็นสถาบันหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการให้บริการทางวิชาการด้านวิชาภาษาอังกฤษให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับคณะวิชาต่าง ๆ สถาบันภาษาจะส่งอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานไปทำการสอนในคณะนั้น ๆ ยกเว้นนิสิตทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติของคณะอักษรศาสตร์ จึงทำให้นิสิตจุฬาฯ หลักสูตรภาษาไทยในคณะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คณะอักษรศาสตร์ จะต้องผ่านการเรียนภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานจากสถาบันภาษาทุกคน ไม่มีข้อยกเว้นตามระดับคะแนนสอบเข้าวิชาภาษาอังกฤษเหมือนในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และสถาบันภาษายังจัดการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้เหมาะสมกับคณะวิชานั้น ๆ อีกด้วย นอกจากหน้าที่ในการจัดสอนวิชาภาษาอังกฤษแล้ว สถาบันภาษายังมีศูนย์การเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อสนุนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในทุกทักษะ[1]

สถาบันภาษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chulalongkorn University Language Institute
สถาปนา7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520; 46 ปีก่อน (2520-11-07)
ผู้อำนวยการผศ.ดร.กุลพร หิรัญบูรณะ
ที่อยู่
อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330
เว็บไซต์www.culi.chula.ac.th/

สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่ตั้งอยู่ที่อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330[2]

ประวัติ แก้

 
ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง

นับตั้งแต่มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงปี พ.ศ. 2513 การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่สำคัญและมีอยู่ในทุกภาคส่วนทางวิชาการของจุฬาฯ ตลอดช่วงระยะเวลานี้คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรหลักในการจัดการเรียนการสอนให้กับหลายคณะและนิสิตของคณะอักษรศาสตร์เองด้วย ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี พ.ศ. 2515 ก่อนมีการจัดการให้เป็นระเบียบร่วมกับบริติช เคานซิล ดร.ฟรานซิส ซี. จอห์นสัน ได้ทำการสำรวจระบบการสอนภาษาอังกฤษที่มีอยู่เดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาได้ให้คำแนะนำที่สำคัญว่า มหาวิทยาลัยควรมีการจัดตั้งสถาบันส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการการสอนระดับกับนิสิตระดับปริญญาตรีทุกคน ราวสองเดือนต่อมา จุฬาฯ รับแนวคิดนี้และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำรายละเอียดเพื่อจัดตั้งสถาบันลักษณะที่ ดร.ฟรานซิส ได้แนะนำมา ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ก็ได้ติดต่อบริติช เคานซิลเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งสถาบันนี้ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีปัญหาบางอย่างในการเจรจาระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับกรมวิเทศสหการ (Department of Technical and Economic Cooperation – DTEC) เหตุนี้ทำให้โครงการต้องถูกพักเอาไว้ชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ. 2518 จุฬาฯได้ดำเนินโครงการสถาบันภาษาต่อ[3]

ในปี พ.ศ. 2520 โครงสถาบันภาษาได้พัฒนาครั้งใหญ่สถาบันภาษาได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 เพื่อให้บริการสอนและฝึกฝนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งการทำงานวิจัยและทดลองพัฒนาการเรียนการสอน ในปัจจุบันสถาบันภาษาได้ทำการสอนภาษาอังกฤษให้กับคณะวิชาทุกคณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมกับการส่งเสริมลักษณะนิสัยให้นิสิตสืบค้นและพัฒนาทักษะตามความสนใจ[1]

ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง แก้

สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Access Learning Center; SALC) ที่อาคารเปรมบุรฉัตร ชั้นสองตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2533 ตามแนวคิดใหม่ว่า มหาวิทยาลัยเป็น “แหล่งค้นคว้าวิจัย” (College of Inquiry) ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งแรกๆ ของประเทศไทย ภายในศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมทรัพยากรสารสนเทศภาษาอังกฤษหลากหลาย และคอมพิวเตอร์ติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับฝึกทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน เช่น Tell Me More, English Discoveries, English20 Interactive[4] บริการพื้นที่สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้หลายอย่างแก่นิสิตจุฬาฯ ดังนี้

  • Conversation Hour เป็นกิจกรรมสนทนาเป็นกลุ่ม 15 คนแบบกับอาจารย์ต่างชาติของสถาบันภาษาด้วยเรื่องทั่วไป
  • Let's Chat เป็นกิจกรรมที่ให้นิสิตได้นั่งรวมกลุ่มสนทนากับเพื่อนนิสิตหลักสูตรนานาชาติ
  • Learning Advisor เป็นจุดปรึกษาปัญหาและรับคำแนะนำจากอาจารย์ของสถาบันภาษา
  • Feel Free To Ask T.A. โต๊ะให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาผู้ช่วยสอนของสถาบันภาษา
  • Writing Clinic ฝึกการเขียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ของสถาบันภาษา ภายในศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • Pronunciation Clinic กิจกรรมฝึกทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องตามหลักสัทศาสตร์ กับอาจารย์สถาบันภาษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนการออกเสียง

รายการอ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา. “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ให้จัดตั้งสถาบันภาษาขึ้นในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย .” เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา. 8 พฤศจิกายน 2520. www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/106/33.PDF (1 ธันวาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  2. http://www.culi.chula.ac.th/aboutCULI.htm เก็บถาวร 2016-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เกี่ยวกับสถาบันภาษา จุฬาฯ,2558
  3. ประวัติสถาบันภาษา จุฬาฯ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559
  4. ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง, สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. English Computer Program. เข้าถึงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′07″N 100°31′56″E / 13.735178°N 100.532184°E / 13.735178; 100.532184