สถานีย่อย:การทหาร/บทความยอดเยี่ยม

แก้ไข 

บทความยอดเยี่ยม

การบุกครองโปแลนด์ เป็นการรบที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ระหว่างโปแลนด์ กับอีกฝ่ายคือ นาซีเยอรมนี สโลวาเกียและสหภาพโซเวียต ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939-6 ตุลาคม ค.ศ. 1939 โดยการรุกรานดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตที่ต้องการแบ่งปันอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก ในการรบครั้งนี้ เยอรมนีได้ใช้ยุทธวิธีใหม่คือ บลิทซครีก และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำยานเกราะมาใช้ในการทำสงคราม ผลจากการรบครั้งนี้ ทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1939 แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับไม่มีท่าทีตอบสนองต่อการรุกรานจากสหภาพโซเวียต ...อ่านต่อ...



สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสงครามนับได้ว่าขยายเป็นวงกว้างไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดไม่แน่นอน เป็นการรบระหว่างฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร บนภาคพื้นทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดระยะเวลาของสงคราม มีการระดมทหารกว่า 100 ล้านนาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสงครามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 70 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นสงครามที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงสุดด้วยเช่นกัน ส่วนผลกระทบทางการเมือง ทำให้ศูนย์กลางอำนาจของโลกไม่ได้อยู่ที่ทวีปยุโรปอีกต่อไป แต่แกว่งไปหาประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ผงาดขึ้นมาในสงครามเย็น นั่นคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต...อ่านต่อ...



สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นต้นราชสกุล "จักรพงษ์" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย"

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจากนายพลเอก เป็นจอมพล และทรงเป็นผู้ที่จัดส่งทหารอาสาเขาทำการรบในสงครามครั้งนั้น ต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคพระปับผาสะ ขณะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระวรกายที่สิงคโปร์ พระชนม์เพียง 37 พรรษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ...อ่านต่อ...



เรือประจัญบานยามาโตะตกอยู่ภายใต้การโจมตี เกิดไฟไหม้อย่างหนักที่ท้ายเรือบริเวณโครงสร้างส่วนบน และจมต่ำลงไปกว่าแนวน้ำซึ่งเกิดเพราะความเสียหายจากตอร์ปิโด

ปฏิบัติการเท็งโง เป็นปฏิบัติการทางทะเลหลักครั้งสุดท้ายของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกของสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิบัติการเท็งโงยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า ปฏิบัติการสรวงสวรรค์ และเท็ง-อิชิ-โง

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 เรือประจัญบานยามาโตะของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมเรือรบของญี่ปุ่นลำอื่นๆอีก 9 ลำ ได้แล่นออกจากญี่ปุ่นเพื่อการโจมตีฆ่าตัวตายต่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังสู้รบในยุทธการโอะกินะวะ กองกำลังของญี่ปุ่นถูกโจมตียับยั้งและโดนทำลายเกือบจะทั้งหมดด้วยเรือบรรทุกอากาศยานและอากาศยานบนเรือของสหรัฐก่อนที่จะเดินทางถึงเกาะโอะกินะวะ ยามาโตะและเรือรบอีก 5 ลำอับปางลงในยุทธนาวีนี้

ยุทธนาวีดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจความยิ่งใหญ่ทางอากาศของสหรัฐในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อสงครามมาถึงขั้นนี้ ตลอดจนเรือผิวน้ำที่ถูกโจมตีได้ง่ายเมื่อปราศจากการคุ้มกันทางอากาศ ยุทธนาวีดังกล่าวยังได้แสดงถึงความสมัครใจของญี่ปุ่นที่จะเสียสละชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในความพยายามที่สิ้นหวังที่จะชะลอการรุกคืบสู่แผ่นดินแม่ญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ...อ่านต่อ...



การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สอง ระหว่างราชวงศ์อลองพญาแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยา ในการทัพคราวนี้ กรุงศรีอยุธยา ราชธานีสยามยาวนานเกือบสี่ศตวรรษ ได้เสียแก่พม่า และถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า

ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 และก่อตัวขึ้นใน พ.ศ. 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้ารุกรานอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกันได้ และเริ่มปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนครอย่างป่าเถื่อน ก่อให้เกิดรอยด่างบนผืนความสัมพันธ์ไทย-พม่าตราบบัดนี้ ...อ่านต่อ...