สถานีรถไฟนครลำปาง

(เปลี่ยนทางจาก สถานีนครลำปาง)

สถานีรถไฟนครลำปาง (อังกฤษ: Nakhon Lampang Railway Station) เป็นสถานีรถไฟระดับหนึ่งบนเส้นทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพ–เชียงใหม่) ซึ่งถ้าเป็นสถานีรถไฟประจำจังหวัดลำปาง ซึ่งลงสถานีนี้สามารถเดินทางไปจังหวัดพะเยาและจังหวัดตากได้อีกด้วย โดยสถานีรถไฟนครลำปางอยู่ระหว่างสถานีรถไฟหนองวัวเฒ่า กับสถานีรถไฟห้างฉัตร

สถานีรถไฟนครลำปาง
สถานีระดับที่ 1
ด้านหน้าสถานี
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นลำปาง
ที่ตั้งถนนรถไฟ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
พิกัด18°16′44″N 99°28′24″E / 18.27889°N 99.47333°E / 18.27889; 99.47333
ผู้ให้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม
สาย
ชานชาลา2
ราง6
โครงสร้าง
ประเภทโครงสร้างระดับดิน
ที่จอดรถลานจอดรถหน้าสถานี
ข้อมูลอื่น
รหัสสถานี1193 (ลป.)
ประเภทสถานีรถไฟชั้น 1
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ1 เมษายน พ.ศ. 2459 (107 ปี)
การเชื่อมต่อ
สถานีก่อนหน้า การรถไฟแห่งประเทศไทย สถานีต่อไป
หนองวัวเฒ่า สายเหนือ ห้างฉัตร
มุ่งหน้า เชียงใหม่
นครลำปาง
Nakhon Lampang
กิโลเมตรที่ 642.293
หนองวัวเฒ่า
Nong Wua Thao
−4.88 กม.
ห้างฉัตร
Hang Chat
+12.57 กม.
ดูเพิ่ม: รายชื่อสถานีรถไฟ สายเหนือ
ที่ตั้ง
แผนที่

สถานีนครลำปางก่อสร้างและเปิดเดินรถในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันตัวสถานีและย่าน (ไม่นับย่านโรงรถจักร และย่านนอกสถานี) มีจำนวนทาง 8 ทาง เป็นทางหลัก 1 ทาง ทางหลีก 4 ทาง ทางตัน 3 ทาง โดยเป็นทางติดชานชาลา 2 ทาง

สถานีรถไฟนครลำปางเป็นสถานีหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่

สถานีรถไฟนครลำปางเป็นสถานีหนึ่งในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ (สถานีกลางบางซื่อ) - เชียงใหม่ ช่วงสถานีรถไฟพิษณุโลก - เชียงใหม่ ใช้ชื่อ สถานีลำปาง รหัสสถานี HN10 อยู่ระหว่างสถานีรถไฟศรีสัชนาลัย กับสถานีรถไฟลำพูน เปิดใช้งานประมาณปี พ.ศ. 2575

แต่เดิม ระหว่างสถานีรถไฟห้างฉัตรกับสถานีรถไฟนครลำปางเคยมี ที่หยุดรถบ่อแฮ้วแต่ปัจจุบันได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว

ประวัติ แก้

สถานีรถไฟนครลำปางก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2458 และเปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยเส้นทางช่วงแม่จาง-นครลำปาง ซึ่งมีระยะทาง 42 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายเหนือ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมัน เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างสถานีรถไฟนครลำปาง เป็นสถานีรถไฟยุคแรกๆที่ยังคงเหลืออาคารอยู่ภายหลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ในช่วงปี พ.ศ. 2459 - 2464 สถานีรถไฟนครลำปางได้เป็นสถานีรถไฟปลายทางของเส้นทางสายเหนือ มีขบวนรถรวมพิษณุโลก - ลำปาง และอุตรดิตถ์ - ลำปาง ก่อนมีรถด่วนจากกรุงเทพขึ้นมาทำขบวนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2465[1] ซึ่งในเวลานั้นทำให้จังหวัดลำปางเป็นชุมทางขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งทำเกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ แล้วยังเป็นจุดขายกระจายสินค้า และผู้คนจากภาคกลาง ที่จะเดินทางไปที่อื่นๆในภาคเหนือ[2]

ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีรถไฟนครลำปางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย เนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยหลักฐานที่มาอยู่ถึงปัจจุบันคือรอยกระสุนปืน ที่คานหลังคาชานชลาสถานีรถไฟ[2]

ในปี พ.ศ. 2506 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดส่งหัวรถจักรไอน้ำมาแสดงไว้ที่สถานีรถไฟลำปาง และกำหนดให้สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีประวัติศาสตร์ และทำการอนุรักษ์ไว้ โดยมีตัวอาคารสถานี คลังสินค้า พื้นที่เก็บหัวรถจักรและตัวรถไฟ รวมถึงพื้นที่บ้านพักพนักงาน ซึ่งอาคารสถานีได้ผ่านการต่อเติมมาเป็นบางส่วน โดยเฉพาะช่วงก่อนปี พ.ศ. 2520 มีการต่อเติมส่วนควบคุมบริเวณปีกทางทิศใต้ ส่วนพักคอยด้านติดรางรถไฟ และ ซุ้มด้านหน้าที่จอดรถ[1]

ในปี พ.ศ. 2536 สถานีรถไฟนครลำปาง ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536 [2]

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา กระเบื้องพื้น ของตัวสถานี และปรับปรุงพื้นชั้นล่างทั้งหมด[1] ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมยังคงรูปแบบและเอกลักษณ์เดิมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันสถานีรถไฟประจำจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 161 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ 642.293 กิโลเมตร

สถาปัตยกรรม แก้

อาคารสถานีเป็นอาคารสองชั้นที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือกับสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาวาเรียนคอทเทจ (Bavarian Cottage) ออกแบบโดย เอิรสท์ อัลท์มันน์ (Mr. Ernst Altmann) วิศวกรชาวเยอรมนี ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนใช้ระบบคานโค้ง (Arch) 4 ช่วง ขนาบด้วยโค้งช่วงเล็กประกบทั้งสองฝั่งเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิก (Neoclassic) ชั้นบนสร้างด้วยไม้มีกรอบเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมมีไม้ยึดยันแนวทแยงเสริมเป็นช่วงๆ ไม่ให้อาคารโยก ซึ่งนี้เป็นเทคนิคด้านโครงสร้างที่เด่นมากจากฟากเยอรมนี นอกจากนั้นยังมีการกรุใต้ไม้ฝาตีตามแนวนอน และอวดโครงสร้างกรอบเป็นรูปแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ (Half Timber)

หลังคาของสถานีเป็นทรงปั้นหยาผสมจั่วซ้อนชั้นคล้ายหลังคาตามสถาปัตยกรรมล้านนา ราวระเบียงและช่องแสงเหนือประตูหน้าต่างประดับด้วยช่องปรุไม้แกะสลักลวดลายเลียนแบบศิลปะล้านนา ที่โดดเด่นมากๆ และมองไปทางไหนก็เห็น คือลายแจกันหรือหม้อปูรณฆฏะผสมลายเครือเถา ประดับช่อดอกไม้ม้วนขมวดเป็นวงตามแบบที่พบได้ตามวัดล้านนา ซึ่งเป็นฝีมือช่างที่ประณีตและละเอียดเป็นอย่างมากบนหน้าจั่วของอาคารชั้นบนมีตัวเลขพุทธศักราช 2458 และคริสต์ศักราช 1915 ซึ่งเป็นปีสร้างอาคารเป็นตัวนูนออกมา โดยฝั่งที่หันไปทางกรุงเทพฯ เป็นคริสต์ศักราช และฝั่งที่หันไปทางเชียงใหม่เป็นพุทธศักราช

หลังคาคลุมชานชาลาด้านหน้าอาคารที่ใช้งานปัจจุบัน ไม่ได้ถูกสร้างและติดตั้งที่นี่มาตั้งแต่แรก ซึ่งไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาประกอบเข้าช่วงไหน แต่มีหลักฐานข้อมูลว่าถูกยกมาจากสถานีรถไฟแปดริ้ว(ที่หยุดรถไฟแปดริ้วในปัจจุบัน) ซึ่งเคยสถานีรถไฟประจำจังหวัดฉะเชิงเทราในสมัยนั้น ก่อนถูกลดขั้นสถานีแล้วย้ายที่ตั้งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเส้นทางรถไฟสายตะวันออก

ด้านหน้าสถานีมีรถจักรไอน้ำโมกุล C56 หมายเลข 728 (C56-36) (C5636) ซึ่งเป็นรุ่นที่นำมาใช้งานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นนำรถจักรไอน้ำรุ่นนี้มาดัดแปลงและนำมาใช้การเป็นอาวุธยุทธโธปกรณ์ในเส้นทางทางรถไฟสายมรณะ ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปสู่ประเทศพม่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อสงครามจบก็ไม่ได้นำกลับไป ทิ้งรถจักรไอน้ำส่วนใหญ่ไว้ให้ใช้เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสงครามในยุคนั้น ซึ่งรถจักรไอน้ำหมายเลข 728 ก็ได้ถูกปลดที่สถานีนี้ในฐานะรถจักรสับเปลี่ยน และได้ถูกจอดตั้งไว้อยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟนครลำปางจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยรอบจะมีจุดจอดรถม้าสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย[3]

ตารางเดินรถ แก้

ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564

เที่ยวไป แก้

ขบวนรถ ต้นทาง นครลำปาง ปลายทาง หมายเหตุ
ชื่อสถานี เวลาออก ชื่อสถานี เวลาถึง
ดพ9 กรุงเทพอภิวัฒน์ 18.40 04.57 เชียงใหม่ 07.15
ดพ13 กรุงเทพอภิวัฒน์ 20.05 06.33 เชียงใหม่ 08.40
ด51 กรุงเทพอภิวัฒน์ 22.30 10.01 เชียงใหม่ 12.10
ท407 นครสวรรค์ 05.00 12.36 เชียงใหม่ 14.35
ร109 กรุงเทพอภิวัฒน์ 14.15 17.11 เชียงใหม่ 04.05
ดพ7 กรุงเทพอภิวัฒน์ 09.05 17.33 เชียงใหม่ 19.30
หมายเหตุขบวนรถ: = สายเหนือ / = สายตะวันออกเฉียงเหนือ / = สายใต้ / = สายตะวันออก / = สายแม่กลอง
ดพ = รถด่วนพิเศษ / ด = รถด่วน / ร = รถเร็ว / ธ = รถธรรมดา / ช = รถชานเมือง / พช = รถพิเศษชานเมือง / ท = รถท้องถิ่น / น = รถนำเที่ยว / ส = รถสินค้า

เที่ยวกลับ แก้

ขบวนรถ ต้นทาง นครลำปาง ปลายทาง หมายเหตุ
ชื่อสถานี เวลาออก ชื่อสถานี เวลาถึง
ร102 เชียงใหม่ 06.30 08.37 กรุงเทพอภิวัฒน์ 20.25
ดพ8 เชียงใหม่ 08.50 10.41 กรุงเทพอภิวัฒน์ 18.55
ท408 เชียงใหม่ 09.30 12.02 นครสวรรค์ 19.55
ด52 เชียงใหม่ 15.30 18.04 กรุงเทพอภิวัฒน์ 05.10
ดพ14 เชียงใหม่ 17.00 19.27 กรุงเทพอภิวัฒน์ 06.10
ดพ10 เชียงใหม่ 18.00 20.17 กรุงเทพอภิวัฒน์ 06.50
หมายเหตุขบวนรถ: = สายเหนือ / = สายตะวันออกเฉียงเหนือ / = สายใต้ / = สายตะวันออก / = สายแม่กลอง
ดพ = รถด่วนพิเศษ / ด = รถด่วน / ร = รถเร็ว / ธ = รถธรรมดา / ช = รถชานเมือง / พช = รถพิเศษชานเมือง / ท = รถท้องถิ่น / น = รถนำเที่ยว / ส = รถสินค้า

รถสินค้า แก้

  • ขบวนรถก๊าซที่ 651/652
  • ขบวนรถน้ำมันที่ 643/644, 673/674

ระเบียงภาพ แก้

งานประจำปีที่สำคัญ แก้

  • งานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ซึ่งมีกำหนดจัดขั้นในห้วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรถไฟรถม้าลำปาง ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ชาวลำปางใช้สัญจรตั้งแต่อดีต ตั้งแต่รถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ มาสู่นครลำปาง เป็นขบวนแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 ในสมัยของรัชกาลที่ 6

สถานที่สำคัญที่ใกล้เคียง แก้

  • วัดศรีรองเมือง
  • ชุมชนตำบลสบตุ๋ย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 ".::สถานีรถไฟลำปาง::". www.lampang.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-07-17.
  2. 2.0 2.1 2.2 Thailand (http://neko.studio), Neko Studio. "เกร็ดประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟนครลำปาง". วารสารเมืองโบราณ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  3. เนียมปาน, วันวิสข์ (2021-01-04). "สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ". The Cloud.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 18°16′47″N 99°28′22″E / 18.2796412°N 99.4727335°E / 18.2796412; 99.4727335