สดใส พันธุมโกมล
บทความนี้มีข้อมูลไม่เป็นแก่นสารหรือปลีกย่อยเป็นอันมาก (ตุลาคม 2019) |
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล (สกุลเดิม วานิชวัฒนา; เกิด 18 มีนาคม พ.ศ. 2477) เป็นนางงามและผู้กำกับการแสดงชาวไทย เป็นตัวแทนประเทศไทยในการประกวดนางงามจักรวาล ค.ศ. 1959 ที่สหรัฐอเมริกา ได้รับตำแหน่งนางงามมิตรภาพ หรือ Miss Amity ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน (Candlelight Blues) ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมก่อตั้งชมรมดนตรีสากล สจม. (C.U. BAND) ผู้กำกับละครเวทีและละครโทรทัศน์ เจ้าของรางวัลเมขลาสาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2527 และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554
เกิด | 18 มีนาคม พ.ศ. 2477 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
---|---|
สัญชาติ | ไทย |
ตำแหน่ง | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554 |
คู่สมรส | รศ.นพ. ตรง พันธุมโกมล |
บิดามารดา |
|
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2476 ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นธิดาคนที่สองของ ศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนา ราชบัณฑิต และ นางประยงค์ศรี วานิชวัฒนา (สกุลเดิม ลักษณะสุต) อดีตนางเอกภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เรื่อง เพลงหวานใจ รองศาสตราจารย์ สดใส สมรสกับ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ตรง พันธุมโกมล อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตประธานชมรมดนตรีสากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน
ขณะกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษใน เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน (Candlelight Blues) ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้รับทุนฟุลไบรต์ไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาศิลปะการละคร ที่ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างศึกษาในปี พ.ศ. 2502 ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวด นางงามจักรวาล ค.ศ. 1959 ที่สหรัฐอเมริกา ได้รับตำแหน่งนางงามมิตรภาพ หรือ Miss Amity
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2505 ได้กลับมารับราชการที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรวิชาศิลปะการละครเป็นวิชาเอกของนิสิตอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2507 และก่อตั้งแผนกวิชาศิลปะการละครขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชานี้อย่างครบวงจร เป็นแม่แบบของหลักสูตรวิชาการละครและการแสดงในสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ได้ปฏิบัติราชการเจริญก้าวหน้าตามลำดับ กระทั่งได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2519 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งประถมาภรณ์ช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2529 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมหาวชิรมงกุฎ ในปี พ.ศ. 2532
ในด้านวิชาการมีผลงานโดดเด่นคือ หนังสือเรียนศิลปกรรม ศ 031 ศิลปการละครเบื้องต้น ตอนที่ 1 : หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีพุทธศักราช 2524 ศิลปะของการแสดง (ละครสมัยใหม่) และปริทัศน์ศิลปะการละคร ซึ่งใช้อ้างอิงแพร่หลายทั้งในวงการศึกษา วิชาการ วิชาชีพ และมีผลงานวิจัยอื่น เกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของนักแสดง ในการกำกับการแสดงละครสมัยใหม่แนวต่าง ๆ ในประเทศไทย มีผลงานกำกับการแสดงละครเวทีให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายเรื่อง อาทิ ตุ๊กตาแก้ว แผลในดวงใจ:ผู้แพ้ -ผู้ชนะ เกิดเป็นตัวละคร คนดีที่เสฉวน ยอดปรารถนา พรายน้ำ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนการละครให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และมีผลงานกำกับการแสดงละครโทรทัศน์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คือ คำพิพากษา และ คนดีศรีอยุธยา ได้รับรางวัลเมขลา สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2527
หลังเกษียณอายุราชการ รองศาสตราจารย์ สดใส ยังคงทำงานสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิต ในฐานะอาจารย์พิเศษที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ปรึกษาหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการละคร ได้ประกอบกิจกรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่คณะอักษรศาสตร์ เช่น การกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนก่อตั้งมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ภายในอาคารมหาจักรีสิรินธร ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังใหม่ของคณะ และการกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ด้านเทคนิคในโรงละครอักษรศาสตร์แห่งใหม่ ทำให้ได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่นคณะอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2546
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[1]
- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[3]
- พ.ศ. 2556 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขามนุษยศาสตร์[4]
- พ.ศ. 2524 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๒๔, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๓, ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒๓๐, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔