สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327

สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327 เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่างสยามรัตนโกสินทร์ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับเวียดนามราชวงศ์เตยเซิน (Tây Sơn dynasty) ในประเด็นเรื่องการสนับสนุนเหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh) หรือ"องเชียงสือ" ให้กลับไปครอบครองเมืองไซ่ง่อนดังเดิม ฝ่ายสยามยกทัพเข้าโจมตีเวียดนามภาคใต้ นำไปสู่การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) ในพ.ศ. 2328 ซึ่งฝ่ายเวียดนามเตยเซินสามารถเอาชนะทัพฝ่ายสยามได้

สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-เวียดนาม

การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (พิพิธภัณฑ์กวนชุนภูพงศ์ ณ ไทเซิน)
วันที่เมษายน พ.ศ. 2327 ถึง มกราคม พ.ศ. 2328
สถานที่
เวียดนามภาคใต้
ผล เวียดนามเตยเซินได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ตระกูลเหงียน
ราชวงศ์เตยเซิน (เวียดนาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
พระยาวิชิตณรงค์
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)
เหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh)
เจิว วัน เตี๊ยป (Châu Văn Tiếp) †
เล วัน เกวิน (Lê Văn Quân)
พระเจ้าท้ายดึ๊ก เหงียนญัค (Nguyễn Nhạc)
เหงียน เหวะ (Nguyễn Huệ)
เจือง วัน ดา (Trương Văn Đa)
กำลัง
มากกว่า 50,000 คน 35,200 คน

เหตุการณ์นำ แก้

สงครามเมืองบันทายมาศ แก้

หลังการล่มสลายของราชวงศ์หมิง ชายชาวจีนกวางตุ้งชื่อว่าหมักกิ๋ว (鄚玖, Mạc Cửu) หรือม่อจิ่ว (พินอิน: Mò Jiǔ) จากเมืองเหลยโจว (雷州, Léi Zhōu) มณฑลกวางตุ้ง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง จึงเดินทางอพยพมายังเมืองพนมเปญของอาณาจักรกัมพูชาในพ.ศ. 2241[1] ขณะนั้นมีพ่อค้าชาวจีนและญวนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองบันทายมาศ หรือเมืองเปียม (เขมร: ពាម) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาอยู่เป็นจำนวนมาก หมักเก๋าเปิดบ่อนเบี้ยของตนเองขึ้นที่เมืองบันทายมาศจนมีรายได้ร่ำรวย ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์กัมพูชาเป็นที่ยศตำแหน่งขุนนาง"ออกญา" หมักเก๋ามีอำนาจปกครองชาวจีนและชาวญวนในเมืองบันทายมาศ นำไปสู่การกำเนิดของราชรัฐห่าเตียน หมักเก๋าเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจู (Nguyễn Phúc Chu 阮福淍) ในพ.ศ. 2251 เหงียนฟุกจูแต่งตั้งให้หมักเก๋าเป็นเจ้าเมืองห่าเตียน (Hà Tiên 河仙) หรือเมืองบันทายมาศ เมื่อหมักเก๋าถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2278 หมักเทียนตื๊อ (Mạc Thiên Tứ) หรือม่อซื่อหลิน (莫士麟 พินอิน: Mò Shìlín) บุตรชายของหมักเก๋าขึ้นเป็นเจ้าเมืองห่าเตียนคนต่อมา

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 เจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงสองพระองค์ได้แก่ เจ้าศรีสังข์ ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสให้เสด็จลี้ภัยมายังเมืองบันทายมาศ จากนั้นจึงเสด็จลี้ภัยต่อไปยังเมืองอุดงของกัมพูชา อีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าจุ้ย พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัย (ซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) เสด็จหลบหนีมาประทับที่เมืองบันทายมาศ ในพ.ศ. 2312 ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินกำลังเสด็จยกทัพลงไปปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชนั้น หมักเทียนตื๊อได้มอบหมายให้หลานชายของตนยกทัพเรือเข้ามาโจมตีเมืองจันทบุรีและเมืองทุ่งใหญ่ (ตราด)[1]

ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ[2] นำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 เพื่อปราบหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศ และเพื่อค้นหาองค์เจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ย โดยมีพระราชโองการให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง 陳聯 หรือ เฉินเหลียน พินอิน: Chén Lián) ซึ่งว่าที่โกษาธิบดี ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) สามารถเข้ายึดเมืองบันทายมาศได้สำเร็จ หมักเทียนตื๊อหลบหนีไปยังโจดก (Châu Đốc 朱篤) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) ขึ้นเป็นพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ได้รับสมยานามว่า “พระยาราชาเศรษฐีจีน” ในขณะที่หมักเทียนตื๊อได้รับสมยานามว่า "พระยาราชาเศรษฐีญวน" ต่อมาเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần 阮福淳) ส่งทัพญวนมาช่วยเหลือหมักเทียนตื๊อจนสามารถรวบรวมกำลังกลับเข้ามายึดเมืองบันทายมาศคืนได้สำเร็จในพ.ศ. 2315 พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) ยกทัพกลับขึ้นยึดเมืองบันทายมาศได้อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเมืองบันทายมาศรักษาไว้ได้ยาก[2] จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) กวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศเลิกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี ฝ่ายหมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองบันทายมาศยังคงตั้งมั่นอยู่ในเวียดนามภาคใต้ต่อมา

กบฏเตยเซิน องเชียงสือลี้ภัย แก้

 
เหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh) หรือ"องเชียงสือ" เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ในพ.ศ. 2314 ปีเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศนั้น เกิดกบฏเตยเซิน (Tây Sơn, 西山) หรือกบฏไกเซินขึ้น นำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงียนวันได้แก่ เหงียนวันญัค หรือเหงียนญัค (Nguyễn Nhạc, 阮岳) เหงียนวันหลือ หรือเหงียนหลือ (Nguyễn Lữ, 阮侶) และเหงียนวันเหวะ หรือเหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ, 阮惠) สามพี่น้องเหงียนวันยกทัพกบฏเตยเซินเข้ายึดเมืองกวีเญิน (Qui Nhơn, 歸仁) ไว้เป็นฐานที่มั่น ในขณะที่เจ้าญวนเหนือจิ่ญซัม (Trịnh Sâm, 鄭森) ฉวยโอกาสยกทัพลงมาเข้ายึดเมืองเว้ได้สำเร็จ ทำให้เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนพร้อมทั้งสมาชิกตระกูลเหงียนต้องอพยพลี้ภัยลงมาอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน เหงียนเหวะยกทัพลงมายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จในพ.ศ. 2320 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนหลบหนีมาพึ่งหมักเทียนตื๊อ หมักเทียนตื๊อเข้าช่วยเหลือเจ้าญวนใต้โดยการตั้งรับเตยเซินที่เมืองล็องเซวียน (Long Xuyên, 龍川)[1] เหงียนเหวะยกทัพเข้ายึดเมืองล็องเซวียนได้สำเร็จ จับกุมตัวเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนไปประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงทราบว่าหมักเทียนตื๊อพ่ายแพ้ให้แก่เตยเซิน จึงทรงส่งทรงข้าหลวงนั่งเรือไปพบกับหมักเทียนตื๊อ[1] หมักเทียนตื๊อเกรงพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงยินยอมเดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงธนบุรีแต่โดยดีพร้อมกับ”องเชียงชุน” (ông chánh Xuân, 翁正春) โตนเทิ๊ตซวน (Tôn Thất Xuân 尊室春) ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูลเหงียน

เหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) หรือ"องเชียงสือ" ตั้งมั่นที่เมืองไซ่ง่อนเพื่อต้านทานกบฏเตยเซิน ในพ.ศ. 2323 ขุนนางชาวกัมพูชาถวายจดหมายฉบับหนึ่ง กราบทูลว่าองเชียงสือมีจดหมายลับมาถึง”องเชียงชุน”โตนเทิ๊ตซวนให้ก่อการกบฏขึ้นเข้ายึดกรุงธนบุรี หมักเทียนตื๊อเมื่อทราบข่าวได้ทำการฆ่าตัวตายไปก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิต”องเชียงชุน” รวมทั้งบุตรต่าง ๆ ของหมักเทียนตื๊อและผู้ติดตามชาวญวนจำนวนรวมทั้งสิ้นห้าสิบสามคน[1] เหลือเพียงบุตรคนหนึ่งของหมักเทียนตื๊อชื่อว่าหมักตื๊อซิญ (Mạc Tử Sinh 鄚子泩) ซึ่งอายุยังน้อย พระยากลาโหมได้ทูลขอให้ไว้ชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไว้ชีวิตหมักตื๊อซิญแต่ทรงให้เนรเทศไป

พ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชา ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2324 แต่ทว่าได้เกิดเหตุจลาจลกบฎพระยาสรรค์ที่ธนบุรี ตามเอกสารเวียดนาม เจ้าพระยาสุรสีห์ได้เจรจาสงบศึกกับแม่ทัพญวนเหงียนหิวทวิ่[3] (Nguyễn Hữu Thụy) ซึ่งเป็นผู้แทนขององเชียงสือ จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงทำการปราบจลาจลที่กรุงธนบุรีแล้วขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในพ.ศ. 2325 และในปีเดียวกันนั้น องเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญพ่ายแพ้ให้แก่เหงียนเหวะแห่งราชวงศ์เตยเซิน เหงียนเหวะสามารถเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จเป็นเหตุให้องเชียงสือเดินทางลี้ภัยมายังเกาะกระบือแขวงเมืองกำปงโสม ในขณะนั้นพระยาชลบุรีและพระระยองตระเวนสลัดไปจนถึงเกาะกระบือพบกับองเชียงสือ พระยาชลบุรีและพระระยองเสนอให้องเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพ[4] เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่า เหงียนฟุกอั๊ญได้มอบหมายให้ขุนนางคนสนิทชื่อว่าเจิววันเตี๊ยป (Châu Văn Tiếp, 朱文接) ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสยามผ่านทางขุนนางสยามชื่อว่าพระยาทัศดาจตุรงค์

องเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญพร้อมทั้งครอบครัวและขุนนางผู้ติดตามทั้งหลายเดินทางถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรฯทรงให้การช่วยเหลือแก่องเชียงสือเป็นอย่างดี ตามสัญญามิตรไมตรีที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านี้เมื่อพ.ศ. 2324 ที่กัมพูชา พระราชทานให้ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านต้นสำโรง (ต่อมาคือสถานกงสุลโปรตุเกส) หมักตื๊อซิญ บุตรชายของหมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองบันทายมาศได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อองเชียงสือ ที่กรุงเทพฯ องเชียงสือได้พบกับหมักตื๊อซิญ (Mạc Tử Sinh 鄚子泩) บุตรชายของหมักเทียนตื้อเจ้าเมืองบันทายมาศที่ยังเหลือรอดชีวิตไม่ถูกประหาร หมักตื๊อซิญได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อองเชียงสือ[3]

พระยานครสวรรค์ตีเมืองไซ่ง่อน แก้

ในพ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้พระยานครสวรรค์และพระยาวิชิตณรงค์ ยกทัพไปทางกัมพูชาเพื่อโจมตียึดเมืองไซ่ง่อนจากเตยเซินคืนให้แก่องเชียงสือ[4] พระยานครสวรรค์และพระยาวิชิตณรงค์ได้รับกำลังพลจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ผู้สำเร็จราชการกัมพูชา และยกทัพลงไปโจมตีเมืองไซ่ง่อน “องติเวือง”เหงียนหลือ หนึ่งในสามพี่น้องเตยเซินซึ่งรักษาเมืองไซ่ง่อนอยู่นั้น ทราบข่าวว่าสยามยกทัพมาตีเมืองไซ่ง่อนจึงจัดมาตั้งรับฝ่ายไทยที่เมืองซาเด๊ก (Sa Đéc, 沙瀝) พระยานครสวรรค์นำทัพเรือฝ่ายไทยเข้าโจมตีฝ่ายญวนที่ซาแดกเป็นสามารถยึดเรือและอาวุธของฝ่ายเตยเซินได้ แต่พระยานครสวรรค์กลับส่งอาวุธที่ยึดมาได้คืนให้แก่ฝ่ายญวน พระยาวิชิตณรงค์จึงบอกเข้าไปยังกรุงเทพว่าพระยานครสวรรค์เป็นกบฏไปเข้ากับศัตรู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้มีตราเรียกทัพของพระยานครสวรรค์กลับคืน สอบสวนแล้วเป็นความจริง จึงทรงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยานครสวรรค์พร้อมทั้งพรรคพวกอีกสิบสองคนที่วัดโพธาราม[4]

สงคราม แก้

ในปีต่อมา เดือนเมษายนพ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ เสด็จยกทัพจำนวน 5,000 คน[4] ยกทัพเรือทางทะเลไปโจมตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสืออีกครั้ง พร้อมทั้งโปรดฯให้พระยาวิชิตณรงค์เกณฑ์ทัพกัมพูชาจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) อีก 5,000 สมทบไปทางบกเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อน ในขณะที่เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่า แม่ทัพสยามที่ยกทัพมาทางกัมพูชาชื่อว่า Lục Côn Sa Uyên, 綠崑沙鴛 (นครสวรรค์?) และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์แบน (Chiêu Chùy Biện , 昭錘卞) ในขณะที่ทัพทางเรือสยามมีแม่ทัพชื่อเจ้าตัง (Chiêu Tăng, 昭曾 หมายถึงกรมหลวงเทพหริรักษ์) และเจ้าเสือง? (Chiêu Sương, 昭霜) ส่วนตัวองเชียงสือเองนั้น จัดหากองกำลังได้เป็นจำนวนประมานสามพันคน โดยมีเจิววันเตี๊ยปและหมักตื๊อซิญเป็นแม่ทัพ

ฝ่ายเตยเซินเมืองไซ่ง่อนในขณะนั้น มีเจืองวันดา (Trương Văn Đa 張文多) เป็นผู้รักษาเมืองไซ่ง่อน เมื่อเจืองวันดาทราบข่าวว่าสยามยกทัพมาตีเมืองไซ่ง่อน จึงจัดทัพไปตั้งรับสยามที่ล็องเซวียน

การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต แก้

 
อนุสาวรีย์ของเหวียน เหวะ (Nguyễn Huệ) หรือพระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) แห่งราชวงศ์เตยเซิน ตั้งอยู่ที่เมืองกวีเญิน

กรมหลวงเทพหริรักษ์เสด็จยกทัพเรือไปถึงเมืองบันทายมาศ ได้ทัพของพระยาทัศดาจตุรงค์ที่เมืองบันทายมาศเข้าสมทบ ประจบกับทัพของพระยาวิชิตณรงค์ที่ยกมาจากกัมพูชา ทัพฝ่ายสยามใช้เวลาในการจัดตั้งทัพและยกทัพมาถึงบริเวณปากแม่น้ำโขงในเดือนตุลาคมปลายปีพ.ศ. 2327 พระยาวิชิตณรงค์ยกทัพร่วมสยาม-กัมพูชาล่วงหน้าไปเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีเมืองซาเด๊กหรือเปียมจอซาแดก ถึงแพรกพระยามัน พระยาวิชิตณรงค์ได้ต่อสู้กับทัพของเจืองวันดาและสามารถขับทัพฝ่ายเตยเซินให้ถอยร่นไปได้ เจิววันเตี๊ยปแม่ทัพคนสนิทขององเชียงสือถูกสังหารในที่รบ พระยาทัศดาจตุรงค์ได้รับบาดเจ็บ องเชียงสือตั้งเลวันเกวิน (Lê Văn Quân 黎文勻) ขึ้นเป็นแม่ทัพแทน ฝ่ายสยามสามารถยึดสักซ้า (Rạch Giá,瀝架) โจดก และเกิ่นเทอ (Cần Thơ, 芹苴) ได้ ฝ่ายเจืองวันดาถอยไปตั้งที่หมีทอ (Mỹ Tho, 美湫) หรือสมิถ่อ ในขณะที่ทัพฝ่ายไทยตั้งอยู่ที่ซาเด๊ก

เจืองวันดารายงานสถานการณ์ขอความช่วยเหลือไปยังพระเจ้าท้ายดึ๊กเหงียนญัค ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายเตยเซินที่เมืองกวีเญิน เหงียนญัคจึงมีพระราชโองการให้อนุชาคือเหงียนเหวะยกทัพจำนวน 20,000 คน มาช่วยเจืองวันดาต่อสู้กับทัพสยาม เหงียนเหวะยกทัพเรือมาตั้งที่เมืองหมีทอหรือสมิถ่อในเดือนมกราคมพ.ศ. 2328 เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่าเหงียนเหวะพยายามที่จะเจรจากับฝ่ายสยามด้วยการถวายของมีค่าแด่กรมหลวงเทพหริรักษ์ ให้ฝ่ายสยามเลิกสนับสนุนองเชียงสือและมาเป็นไมตรีกับเตยเซินแทน ฝ่ายองเชียงสือได้มอบหมายให้หมักตื๊อซิญจัดเตรียมเรือไว้ในกรณีที่พ่ายแพ้และต้องหลบหนี เหงียนเหวะจัดทัพตั้งซุ่มไว้ที่สักเกิ่ม (Rạch Gầm, 瀝涔) และสว่ายมุ๊ต (Xoài Mút, 吹蔑) ริมสองฝั่งริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบลงใกล้กับหมีทอเพื่อซุ่มโจมตีฝ่ายไทย

 
แผนที่แสดงการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต ฝ่ายสยามยกทัพเรือมาจากซาเด๊ก ล่องตามแม่น้ำโขงไปทางตะวันออกเพื่อเข้าตีเมืองหมีทอ (Mỹ Tho) ฝ่ายเตยเซินตั้งซุ่มอยู่ที่สักเกิ่มและสว่ายมุ๊ต ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบลง

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2328 กรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระบัญชาให้พระยาวิชิตณรงค์ตั้งรักษาเป็นทัพหลังอยู่ที่บ้านป่ายุง (Ba Giồng) และเสด็จนำทัพเรือจากซาเด๊ก เข้าโจมตีเหงียนเหวะที่หมีทอ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2328 ทัพฝ่ายสยามล่องตามแม่น้ำโขงมาถึงสักเกิ่มและสว่ายมุ๊ต จุดที่เหงียนเหวะได้เตรียมซุ่มไว้ นำไปสู่การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) ทัพฝ่ายเตยเซินได้เข้าปิดล้อมทางหัวและท้ายของทัพเรือสยาม ทำให้ทัพฝ่ายสยามถูกล้อมทั้งหน้าและหลัง ทัพเตยเซินเข้าโจมตีกระหนาบสองข้างทำให้ทัพเรือสยามทิ้งเรือหนีขึ้นบกพ่ายแพ้แตกพ่ายไป[4] ในเวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วสมรภูมิ สร้างความลำบากให้แก่ทัพฝ่ายสยามในการถอยทางบก ข้าหลวงในกรมหลวงเทพหริรักษ์หากระบือได้ตัวหนึ่ง ให้ทรงกระบือลุยน้ำเสด็จไปยังกัมพูชา[4] ฝ่ายองเชียงสือซึ่งได้เตรียมเรือไว้ก่อนหน้าแล้ว ล่องเรือกลับมาถึงกัมพูชาเช่นกัน องเชียงสือได้รับความลำบากขาดแคลนอาหารจนกระทั่งเหงียนวันถ่าญ (Nguyễn Văn Thành 阮文誠) คนสนิทขององเชียงสือจำต้องปล้นหาอาหารมาประทังเลี้ยงองเชียงสือผู้เป็นนายของตน และองเชียงสือส่งหมักตื๊อซิญไปกราบทูลแจ้งข่าวให้แก่กษัตริย์สยามให้ทรงทราบ[3]

บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง แก้

 
อนุสรณ์รำลึกถึงการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) ที่เมืองหมีทอ

ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327 นี้ ฝ่ายสยามขาดความชำนาญเกี่ยวกับภูมิประเทศลักษณะสาขาของคลองต่าง ๆ บริเวณปากแม่น้ำโขง ทำให้ฝ่ายเวียดนามเตยเซินสามารถใช้ลักษณะของแม่น้ำเพื่อปิดล้อมทัพเรือสยาม จนนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายเตยเซินในที่สุด

หลังจากการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ตเพียงสิบเดือน เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น ทำให้การตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสือจำต้องยุติ องเชียงสือส่งคนสนิทของตนได้แก่ เลวันเกวิน และเหงียนวันถ่าญ เข้าร่วมกับสยามในการรบกับพม่าที่ไทรโยค (Sài Nặc)[3] หลังจากสิ้นสุดสงครามเก้าทัพ ตามเอกสารเวียดนาม กรมพระราชวังบวรฯประทานให้ยกทัพไปช่วยองเชียงสืออีกครั้ง แต่ฝ่ายองเชียงสือปฏิเสธเนื่องจากไม่ต้องการความช่วยเหลือจากสยามอีกต่อไป[3] คณะทูตโปรตุเกสนำโดยอันโตนิโอ เดอ วีเซนต์ (Antonio de Veesent) มาเข้าเฝ้าฯที่กรุงเทพในพ.ศ. 2329 ฝ่ายโปรตุเกสเสนอช่วยยกทัพช่วยองเชียงสือกอบกู้บ้านเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯไม่โปรดให้โปรตุเกสช่วยองเชียงสือ องเชียงสือจึงปฏิเสธความช่วยเหลือของโปรตุเกสไป[3] ในระหว่างที่พำนักอยู่กรุงเทพองเชืองสือติดต่อ"สังฆราชอาดรัง" (Bishop of Adran) ปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน (Pierre Pigneau de Behaine) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสในการขอความช่วยเหลือทางทหารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จนสุดท้ายบรรลุข้อตกลงกับราชสำนักฝรั่งเศสในพ.ศ. 2330

ฝ่ายราชวงศ์เตยเซิน เหงียนเหวะยกทัพขึ้นเหนือเข้ายึดเมืองดงกิญและเวียดนามภาคเหนือได้สำเร็จในพ.ศ. 2329 ยกเลิกการปกครองของราชวงศ์เลและตระกูลจิ่ญไปในที่สุด เหงียนเหวะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) แห่งราชวงศ์เตยเซิน เมื่อพระเจ้ากวางจุงสวรรคตในพ.ศ. 2331 ราชวงศ์เตยเซินอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้องเชียงสือ เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เข้ายึดเมืองไซง่อนและเวียดนามภาคใต้เป็นฐานที่มั่น ตั้งตนเป็น"เจ้าอนัมก๊ก"ได้ด้วยความช่วยเหลือจากกองเรือฝรั่งเศส ระหว่างที่องเชียงสือเป็นเจ้าอนัมก๊กอยู่ที่เมืองไซ่ง่อนนั้น ได้ส่งเครื่องบรรณการมาถวายที่กรุงเทพฯห้าครั้ง[4] ต่อมาในพ.ศ. 2344 เจ้าอนัมก๊กองเชียงสือสามารถยึดเมืองเว้ได้ ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮว่างเด๊พระเจ้าเวียดนามยาล็องและสถาปนาราชวงศ์เหงียน

ในพ.ศ. 2353 พระเจ้ายาล็องมีสาสน์มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทูลขอเมืองบันทายมาศให้ไปขึ้นแก่ญวน[5] เมืองบันทายมาศจึงเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้น

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  2. 2.0 2.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) . พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โปรดให้พิมพ์แจก ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Cao Xuân Dục. Quốc triều chính biên toát yếu (國朝正編撮要). พ.ศ. 2451. Link
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส.