สงครามมิทริเดทีส

สงครามมิทริเดทีส เป็นความขัดแย้งสามครั้งระหว่างสาธารณรัฐโรมันกับพระเจ้ามิทริเดทีสที่ 6 กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพอนตัสที่ครอบครองพื้นที่รอบทะเลดำ สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่าง 88–63 ปีก่อนคริสตกาล มูลเหตุมาจากพระเจ้ามิทริเดทีสผนวกมณฑลเอเชียของโรมันเข้ากับอาณาจักรของพระองค์ ตามด้วยการสังหารหมู่เอเชียติกเวสเปอร์ หรือชาวโรมันที่อาศัยอยู่ในหลายเมืองในอานาโตเลีย[1] สงครามมิทริเดทีสครั้งที่หนึ่งจึงอุบัติขึ้นเมื่อโรมส่งกองทัพมายึดดินแดนคืน แม้จะต้องเผชิญกับการลุกฮือในกรีซและดินแดนอื่น ๆ โดยมีพระเจ้ามิทริเดทีสหนุนหลัง และความขัดแย้งภายในโรมระหว่างฝ่ายออปติเมตส์กับปอปปูเลรีส[2] แต่สงครามครั้งแรกที่เริ่มขึ้นใน 88 ปีก่อนคริสตกาลจบลงด้วยชัยชนะของโรม ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาดาร์ดานอส ซึ่งระบุให้เขตแดนทั้งสองฝ่ายกลับไปเหมือนก่อนสงคราม[3]

สงครามมิทริเดทีส

ราชอาณาจักรพอนตัส
วันที่88 – 63 ปีก่อนคริสตกาล
สถานที่
ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
ผล โรมันชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
กรีซและตะวันออกใกล้
คู่สงคราม
สาธารณรัฐโรมัน ราชอาณาจักรพอนตัส และพันธมิตร
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ส่วนใหญ่เป็นแมยิสเตร็ดฝ่ายออปติเมตส์ แต่บางครั้งเป็นฝ่ายปอปปูเลรีส พระเจ้ามิทริเดทีสที่ 6 แห่งพอนตัส พระราชโอรส และแม่ทัพอื่น ๆ

เนื่องจากสนธิสัญญาดาร์ดานอสให้ผลประโยชน์ในเอเชียน้อยแก่โรมไม่มาก ลูกิอุส ลิกินิอุส มูเรนา แม่ทัพโรมซึ่งได้รับคำสั่งให้ยึดดินแดนคืนจึงก่อสงครามครั้งที่สองใน 83 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อทราบข่าวมูเรนารุกรานดินแดนของตน พระเจ้ามิทริเดทีสส่งแม่ทัพกอร์ดิอุสให้มายึดดินแดนคืนจนปะทะกับทัพโรมัน มูเรนาที่พ่ายแพ้หนีไปฟรีเจียและได้รับคำสั่งจากกงสุลซัลลาให้เลิกทัพเนื่องจากพระเจ้ามิทริเดทีสไม่ได้ละเมิดสนธิสัญญา สงครามครั้งที่สองจบลงใน 81 ปีก่อนคริสตกาลด้วยชัยชนะของพอนตัส และมูเรนาถอนทัพกลับโรม[4]

73 ปีก่อนคริสตกาล ทัพพระเจ้ามิทริเดทีสปะทะกับทัพโรมันที่นำโดยมาร์กุส เอาเรลิอุส กอตตาและได้รับชัยชนะในยุทธการที่แคลซีดอน ยุทธการครั้งนี้เป็นการปะทะกันครั้งแรกในสงครามครั้งที่สาม[5] ครั้งนี้พระเจ้ามิทริเดทีสเป็นพันธมิตรกับสมเด็จพระเจ้าไทกราเนสมหาราชแห่งอาณาจักรอาร์มีเนียผู้มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ด้านโรมส่งกงสุลลูกัลลัสเป็นผู้นำทัพ ลูกัลลัสประสบชัยชนะเหนือทัพพอนตัสและอาร์มีเนียในยุทธการที่คาบิราและไทกราโนเซอร์ตา แต่การรุกไปข้างหน้าหยุดชะงักหลังลูกัลลัสพ่ายในยุทธการที่อาร์ตาซาตาและเซลา อีกด้านหนึ่ง ปอมปีย์ กงสุลโรมันอีกคนสามารถปราบโจรสลัดซีลีเชียที่สนับสนุนโดยพระเจ้ามิทริเดทีสได้สำเร็จ ทำให้ปอมปีย์ได้ขึ้นเป็นผู้นำทัพแทนลูกัลลัส[6] ต่อมาปอมปีย์ร่วมมือกับพระเจ้าฟราอาเตสที่ 3 แห่งจักรวรรดิพาร์เธีย บุกพอนตัสและอาร์มีเนียจนสามารถยึดภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกได้เกือบทั้งหมด[7] สงครามครั้งนี้จบลงเมื่อพระเจ้าไทกราเนสยอมจำนนต่อโรม ด้านพระเจ้ามิทริเดทีสที่หลบหนีไปไครเมียเพื่อหวังจะตั้งทัพมาสู้กับโรมใหม่ประสบความล้มเหลว จึงพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายพระเจ้ามิทริเดทีสสั่งให้ทหารปลงพระชนม์พระองค์[8] หลังสงครามโรมได้อาณาจักรอาร์มีเนียของพระเจ้าไทกราเนสและอาณาจักรราชวงศ์แฮสโมเนียในยูเดียมาเป็นรัฐบริวาร[9] และรวมอาณาจักรพอนตัสเข้ากับบิธีเนีย กลายเป็นมณฑลบิธีเนียและพอนตัส[10]

อ้างอิง แก้

  1. Cary, Max; Scullard, Howard Hayes (1975). History of Rome: Down to the Age of Constantine. New York City, United States: Springer. p. 231. ISBN 9781349024155.
  2. "6 Civil Wars that Transformed Ancient Rome". HISTORY. August 28, 2015. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
  3. Gillespie, Alexander (2013). The Causes of War: Volume 1: 3000 BCE to 1000 CE. London, United Kingdom: Bloomsbury Publishing. p. 52. ISBN 9781782255970.
  4. Sampson, Gareth C. (2013). The Collapse of Rome: Marius, Sulla and the First Civil War. Barnsley, South Yorkshire, United Kingdom: Pen and Sword. p. 90. ISBN 9781473826854.
  5. Brennan, T. Corey (2000). The Praetorship in the Roman Republic: Volume 2: 122 to 49 BC. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press. p. 562. ISBN 9780195114607.
  6. "Cilician Pirates". Livius.org. April 26, 2019. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
  7. "Mithridates VI". Ancient History Encyclopedia. December 4, 2017. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
  8. "Appianus, XVI, §111". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-15. สืบค้นเมื่อ 2019-11-18.
  9. "The Provinces of the Roman Empire, from Caesar to Diocletian, Vol. II". The Project Gutenberg. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
  10. "Pontus (kingdom)". Livius. May 9, 2019. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.