สงครามชาวนาเยอรมัน

สงครามชาวนาเยอรมัน หรือ การก่อการกำเริบชาวนาครั้งใหญ่ เป็นการลุกฮือของชาวนาในพื้นที่พูดภาษาเยอรมันในยุโรปกลาง ระหว่างค.ศ. 1524–1525 สงครามครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการลุกฮือครั้งก่อน ๆ เช่น สงครามฮุสไซต์ ขบวนการบุนด์ชูห์ และกบฏอัศวิน มีสาเหตุมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและความเชื่อทางศาสนาของชาวนา โดยได้รับการสนับสนุนจากนักบวชกลุ่มแอนาแบปติสต์อันเป็นโปรเตสแตนต์สายหนึ่ง การสู้รบถึงจุดสูงสุดช่วงกลางปี ค.ศ. 1525 ก่อนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทัพชาวนา อย่างไรก็ตาม สงครามชาวนาเยอรมันถือเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789

สงครามชาวนาเยอรมัน
ส่วนหนึ่งของ สงครามศาสนาในยุโรป และการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์

แผนที่แสดงพื้นที่ที่เกิดการก่อการกำเริบและยุทธการสำคัญ
วันที่ค.ศ. 1524–1525
สถานที่
ผล การก่อการกำเริบถูกปราบ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถูกประหารชีวิต และส่งผลต่อขบวนการแอนาแบปติสต์
คู่สงคราม
กองทัพชาวนา สันนิบาตสเวเบีย

บางส่วน:
ดินแดนขุนนางเฮ็สเซิน
อาณาเขตเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบืทเทิล
รัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
โทมัส มึนต์เซอร์ โทษประหารชีวิต
ไมเคิล ไกส์แมร์
ฮันส์ มึลเลอร์ ฟอน บัลเกินบัค โทษประหารชีวิต
ยากอบ รอฮ์รบาค
เวนเดิล ฮิปเลอร์
ฟลอเรียน เกเยอร์ 
โบนาเวนทูรา เคิร์ชเนอร์
เกออร์ก ตรุชเซส ฟอน วอลด์บูร์ก
ฟิลิปแห่งเฮ็สเซิน
จอร์จแห่งเว็ตติน
เฮ็นรีแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบืทเทิล
เกิตซ์ ฟ็อน แบร์ลิคีเงิน
กำลัง
300,000 6,000–8,500
ความสูญเสีย
>100,000 เล็กน้อย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นที่หลายส่วนในยุโรปมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงที่เกิดสงครามจักรวรรดิถูกปกครองด้วยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีบรรดาเจ้าชายปกครองดินแดนแบบกึ่งอิสระภายใต้จักรพรรดิอีกที ต่อมาเจ้าชายผู้ปกครองดินแดนพยายามกดดันให้ชาวนาอยู่ใต้อำนาจผ่านการขึ้นภาษีและบังคับใช้กฎหมายแบบโรมัน ซึ่งจะทำให้ที่ดินของชาวนาตกเป็นของเจ้าและทำลายรูปแบบระบบศักดินาที่เจ้าและชาวนาได้ประโยชน์ร่วมกัน[1] ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเกิดการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์อย่างแพร่หลายในเยอรมนี ส่งผลให้ประชาชนใต้การปกครองมีอิสระในการคิดและตั้งคำถามกับชนชั้นปกครองมากขึ้น นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงถึงสาเหตุที่แท้จริงของสงครามครั้งนี้ แต่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเกิดจากความเชื่อทางศาสนา ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม[2]

การก่อการกำเริบเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1524 ที่เมือง Stühlingen ทางใต้ของเยอรมนีในปัจจุบัน[3] ก่อนจะลุกลามผ่านดินแดนรอบป่าดำ แม่น้ำไรน์ ทะเลสาบโบเดิน แม่น้ำดานูบตอนบน และรัฐไบเอิร์น[4] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1525 ชาวเมืองเม็มมิงเงินเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและอื่น ๆ ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลายมาเป็นข้อเรียกร้องสิบสองข้อที่ทัพชาวนาเสนอต่อสันนิบาตสเวเบีย และเป็นหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพลเมืองแรก ๆ ในยุโรป[5][6] ต่อมาเดือนเมษายน ทัพชาวนาปะทะกับทัพสันนิบาตสเวเบียของเกออร์ก ตรุชเซส ฟอน วอลด์บูร์กที่เมือง Leipheim และ Frankenhausen ก่อนจะพ่ายแพ้อย่างหนักในยุทธการที่ Böblingen[7] หลังจากนั้นมีการสูู้รบประปรายก่อนจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน หลังสงครามยุติ ผู้นำทัพชาวนาหลายคนถูกทรมานและประหารชีวิต ข้อเรียกร้องสิบสองของชาวนาไม่ได้รับการตอบสนอง และชาวนาถูกลดสิทธิเสรีภาพลงหลายอย่าง[8]

อ้างอิง

แก้
  1. "Peasants War". Encyclopedia.com. April 13, 2020. สืบค้นเมื่อ April 25, 2020.
  2. "German Peasants War (1524–1525): Uprising of the Poor". ThoughtCo. February 11, 2019. สืบค้นเมื่อ April 25, 2020.
  3. Engels 1978, p. 446.
  4. Miller 2003, p. 4.
  5. Nair, P. Sukumar (2011). Human Rights In A Changing World. New Delhi, India: Gyan Publishing House. p. 22. ISBN 9788178359014.
  6. Lenzerini, Federico (2014). The Culturalization of Human Rights Law. Oxford, England, UK: Oxford University Press. p. 47. ISBN 9780191641312.
  7. Wald 2010, Böblingen.
  8. "Peasants' War - German history". Britannica. สืบค้นเมื่อ April 25, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้