ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์

ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ เจ้าของฉายา เพชฌฆาตจากแปดริ้ว มีชื่อจริงคือ เกษม ประไพศรี ชื่อเล่น เษม เป็นนักมวยไทยชาวไทยประเภทจังหวะฝีมือ ผู้มีอาวุธเด็ดคือเตะซ้าย-ต่อยซ้าย[1]

ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์
เกิดเกษม ประไพศรี
2 ธันวาคม พ.ศ. 2489[1]

ประวัติ

แก้

เกิดวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ที่ ตำบลเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษา จบ ม.ศ.1 จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์[1]

เริ่มหัดมวยด้วยตนเองเพราะมีใจรักในเรื่องการต่อสู้ตั้งแต่อายุ 17 ปี ระยะแรก ๆ ชกอยู่แถวบ้านใช้ชื่อว่า สุขเกษม ลูกสี่แยก เป็นมวยซ้ายที่ใช้อาวุธรุนแรงทั้งแข้งทั้งหมัด และเคยชกกับ อุสมานน้อย ลูกหัวหมาก ถึงแก่ความตายคาเวที แฟนมวยแถบจังหวัดฉะเชิงเทราจึงเรียกว่า "ไอ้เษม...ซ้ายเพชฌฆาต" และด้วยจิตสำนึกที่ว่าตนเองเป็นผู้ทำให้ครอบครัวของอุสมานน้อยต้องเสียหัวหน้าครอบครัว จึงแบ่งค่าตัวให้ครอบครัวของอุสมานน้อยทุกครั้ง จนได้รับการยกย่องจากคนในวงการมวยตลอดมา

เมื่อเข้ามาชกในกรุงเทพมหานครระยะแรก ใช้ชื่อว่า สุขเกษม ส.สงวนศักดิ์ แต่ชกได้ไม่กี่ครั้งก็ย้ายมาอยู่กับ โกเฮง อ่าวถาวร (อดีตโปรโมเตอร์ "ศึกศิริมงคล") และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์" ซึ่งเป็นค่ายของ อั้งตี่ เริงณรงค์ ตั้งแต่นั้นมา

ศิริมงคลได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่ให้ความประทับใจแก่คนดูเสมอต้นเสมอปลาย บนสังเวียนไม่เคยเอาเปรียบคู่ต่อสู้ นอกสังเวียนเป็นคนอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย จึงเป็นที่รักใคร่ชอบพอของคนในวงการมวย ช่วงตลอดระยะเวลา 7 ปี พ.ศ. 2512-พ.ศ. 2518 ได้ชกกับนักมวยไทยมามากมาย และสามารถปราบนักมวยค่าย "เมืองสุรินทร์" เกือบหมด ยกเว้น แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เพียงคนเดียว เพราะในขณะนั้นร่างกายเริ่มโรยราแล้ว นอกจากนี้เคยชนะ วิชาญน้อย พรทวี ถึง 3 ครั้ง ชนะ คงเดช ลูกบางปลาสร้อย ดุเดือดทั้งที่แบกน้ำหนัก ผลัดกันแพ้ชนะ ฟ้าใส ทวีชัย, บรรดิษฐ์ สิงห์ปราการ และยังประมือกับยอดนักมวยไทยร่วมสมัยเช่น พุฒ ล้อเหล็ก, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ, วิชิต ลูกบางปลาสร้อย, เริงศักดิ์ พรทวี มาแล้วทั้งสิ้น

ศิริมงคลได้แชมป์เฟเธอร์เวท สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นตำแหน่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2513 ชนะคะแนน อนันตกร ส.ลูกเมืองราช ก่อนสละไปชิงรุ่นใหญ่กว่า ชนะน็อก พยัคฆ์ภูมิ พยัคฆ์ขาว ยก 3 คว้าแชมป์ไลท์เวท สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อปี พ.ศ. 2517 นอกจากนี้ยังเคยชกมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติ ในรายการชิงแชมป์เอเชีย (ถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ) โดยในรอบชิงชนะเลิศสามารถเอาชนะอาร์เอสซีนักมวยชาวอิหร่านไปได้เพียงแค่ยกแรก ทำให้ได้รับรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา ได้รับเหรียญทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2516

ปี พ.ศ. 2520 สภาพร่างกายเริ่มโรยรา ไปชกที่ญี่ปุ่นหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายแพ้คะแนน โยโกะ โทสะเก้น เลยโดนปลดจากแชมป์จำต้องเลิกมวยไปพัก ก่อนมาชกอีกก็ไปไม่ไหวจึงแขวนนวมถาวรในปี พ.ศ. 2533 ขณะที่มีอายุถึง 34 ปี

หลังจากนั้นได้ผันตัวเองเป็นครูสอนมวยไทยที่ญี่ปุ่นนานหลายปี ก่อนกลับมาประเทศไทยทำธุรกิจซื้อขายที่ดิน และบริษัททัวร์ชื่อ "ประไพศรีทัวร์" รับทำหนังสือเดินทางและติดต่อที่พักให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยมอบให้นางปัทมา ภรรยาเป็นผู้ดูแล

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ อดีตคู่ชกเก่าที่วัดตรีทศเทพวรวิหาร ศิริมงคลได้เดินทางไปร่วมงานด้วย และในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552 ในศึกชิงแชมป์เฉพาะกาลรุ่นฟลายเวท ของ สภามวยโลก (WBC) ระหว่าง พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม กับ ฮูลิโอ ซีซ่าร์ มิรันดา ที่หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ศิริมงคลก็ได้ไปแสดงตัวในงานด้วยในฐานะที่เคยเป็นยอดมวยของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ชีวิตส่วนตัว

แก้

สมรสกับปัทมา ฉายพันธ์มาลี และมีบุตรธิดา 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน พำนักอยู่ที่หมู่บ้านพงษ์ศิริชัย 4 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร[1]

เสียชีวิต

แก้

ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ เสียชีวิตในช่วงหัวค่ำของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ด้วยอาการน้ำท่วมปอด สิริอายุได้ 71 ปี[2] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร

เกียรติประวัติ

แก้

รางวัล

แก้
  • พ.ศ. 2556 รางวัลฮอลออฟเฟมแห่งปี สยามกีฬาอะวอร์ด ครั้งที่ 7 [3]
  • นักกีฬายอดเยี่ยมสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา พ.ศ. 2516 [1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 มวยสยาม Extra. บริษัท สยามพริ้นท์ จำกัด. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2556. หน้า 72
  2. หน้า 19 กีฬา, ศิริมงคลอดีตนักมวยดังสิ้นลม. "ย่อยข่าวกีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 25,148: วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ
  3. ประกาศ 10 ฮีโร่รุ่นเก๋าคว้ารางวัลฮอลออฟเฟม[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้