ศาสนาฮินดูแบบบาหลี
ศาสนาฮินดูแบบบาหลี (อินโดนีเซีย: Agama Hindu Dharma) หรือ ลัทธิวารีศักดิ์สิทธิ์ (อินโดนีเซีย: Agama Tirtha) เป็นศาสนาฮินดูรูปแบบหนึ่งที่ปฏิบัติในกลุ่มชาวบาหลีบนเกาะบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย อันมีความแตกต่างจากศาสนาฮินดูสายหลักคือมีการสักการะผีพื้นเมือง บูชาผีบรรพบุรุษ และเคารพพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นของคติทางศาสนาพุทธด้วย แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินโดนีเซียจะนับถือศาสนาอิสลามและคริสต์ แต่ชาวบาหลียุคปัจจุบันยังคงยึดมั่นในหลักธรรมของตนและยังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างฮินดูอยู่
ประวัติ
แก้ศาสนาฮินดูเข้าสู่อินโดนีเซียตั้งแต่ศตวรรษแรกโดยชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขาย ก่อนถูกแทนที่โดยศาสนาพุทธที่กลายเป็นศาสนาหลักของเกาะสุมาตราและชวา แต่ภายหลังการเข้ามาของศาสนาอิสลามช่วงศตวรรษที่ 14 และด้วยอุปสรรคทางวัฒนธรรมบางประการ จึงทำให้บาหลีเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายของชาวฮินดูยุคก่อนและประชากรส่วนใหญ่ของบาหลียังคงเป็นฮินดูมาจนถึงปัจจุบัน[1][2] นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวฮินดูจำนวนมากอาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะขนาดน้อยทางตะวันออกของเกาะชวา ส่วนบริเวณเกาะชวาทางฝั่งตะวันออกสุดของเกาะก็ยังมีหมู่บ้านฮินดูกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
หลักธรรม
แก้หลักธรรมทางศาสนาขั้นพื้นฐาน หากประพฤติดีปฏิบัติชอบจะเรียกว่า ธรรมะ หากประพฤติชั่วจะเรียกว่า อธรรม ชาวฮินดูจึงต้องมุ่งแสวงหาความสมดุลกันระหว่างธรรมะและอธรรมดังกล่าวจึงจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และบรรลุสิ่งที่สูงสุดคือ โมกษะ[3][4]
ศาสนาฮินดูแบบบาหลีแบ่งจักรวาลวิทยาออกเป็นสามภพคือ สวรรค์ (suarga ซูวาร์กา) อันเป็นที่พำนักของทวยเทพ โลก (buwah บูวะฮ์) เป็นที่อยู่ของมนุษย์ และนรก (bhur บูร์) เป็นที่อยู่ของปีศาจและวิญญาณของมนุษย์ประพฤติชั่วที่ถูกลงทัณฑ์ เปรียบได้ถึงร่างกายของมนุษย์สามส่วน คือ ศีรษะ ร่างกาย และเท้า และยังพบตามศาลพระภูมิต่าง ๆ นอกเรือนชานของชาวบาหลี[3][5]
เทพเจ้า
แก้ชาวฮินดูแบบบาหลีจะมีการนมัสการพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุตามคติดั้งเดิมของศาสนา แต่มีเอกลักษณ์พิเศษคือมีเทพพื้นเมืองเพิ่มเข้าไปด้วย[6] หนึ่งในนั้นคือซังฮฺยังวีดี (Sang Hyang Widhi) หรือ อจินไตย (Acintya) เป็นหนึ่งในเทพเจ้าตามคติบาหลี และต่อมาได้นับถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียวตามหลักปรัชญาปัญจศีลของประเทศอินโดนีเซีย[7] โดยซังฮฺยังวีดีหรืออจินไตยจะมีที่ประทับเรียกว่า ปัทมาสน์ (padmasana ปัดมาซานา) ซึ่งมีลักษณะเป็นเก้าอี้ว่างเปล่า พบได้ทั่วไปตามบ้านเรือนและศาสนสถานต่าง ๆ[8]
นอกจากอจินไตยแล้ว คติฮินดูแบบบาหลียังมีเทพเจ้าอีกจำนวนมากหาคณานับ อาทิ เทพเจ้าแห่งข้าวหรือเทวีศรี หรือแม้แต่เทพเจ้าแห่งขุนเขาหรือมหาสมุทรก็มี โดยชาวบาหลีเชื่อว่าเทพเจ้าจะสถิตอยู่ยอดเขาสูง พื้นดินคือที่อยู่ของมนุษย์ และมหาสมุทรคือที่สถิตของวิญญาณร้าย ด้วยเหตุนี้ชาวบาหลีจึงสร้างวัดบริเวณกึ่งกลางระหว่างภูเขาและทะเลเพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ[9]
นักบวช
แก้นักบวชของศาสนาฮินดูแบบบาหลี แบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่[10][11]
- เปอดันดา (pedanda) คือนักบวชชั้นสูง เป็นบุคคลวรรณะพราหมณ์ (ทวิชาติ)
- เปอมังกู (pemangku) คือนักบวชประจำศาสนสถาน เป็นบุคคลจากวรรณะกษัตริย์ แพศย์ และศูทร (เอกชาติ)
- บาเลียน (balian) คือผู้เป็นสื่อกลาง หรือ พ่อหมอสำหรับติดต่อกับเทพเจ้า
พิธีกรรม
แก้ศาสนาฮินดูแบบบาหลีจะมีหน้าที่ที่เรียกว่า ปัญจยุธะ (panca yudha) หรือ ยัชญะ 5 ประการ ที่ต่างออกไปจากปรกติ[12] ได้แก่[13]
- เทวยัชญะ (dewa yadnya เดวายัดญา) – บูชาเทพเจ้า
- ภูตยัชญะ (buta yadnya บูตายัดญา) – บูชาภูตผีปีศาจ
- ฤษียัชญะ (resi yadnya เรอซียัดญา) – การอุทิศถวายแก่นักบวช
- มนุษยยัชญะ (manusa yadnya มานูซายัดญา) – พิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเกิด การผ่านเข้าสู่ช่วงวัยใหม่ การสมรส
- ปิตฤยัชญะ (pitra yadnya ปิตรายัดญา) – สำหรับการตายและการเกิดใหม่
การเกิดและชีวิต
แก้ชาวบาหลีมีพิธีกรรมทางศาสนากว่า 13 พิธี (ไม่รวมพิธีกรรมหลังการตาย) ประกอบไปด้วยสี่ประการคือ ขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ทำให้บริสุทธิ์ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ การเผาเครื่องหอมให้กลิ่นโชยไปกับลม และการสวดภาวนา สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของมนุษย์ เช่น การเกิด การเข้าสู่วัยรุ่น การตะไบฟัน และการสมรส[11] เมื่อมีการเกิด ในช่วง 42 แรกของชีวิตทารกจะถือว่าเป็นตัวแทนของผีบรรพชนและเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ ส่วนมารดานั้นจะถือว่ามีมลทินไม่สามารถร่วมปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ทารกจะไม่สามารถนำเท้าลงแตะพื้นได้จนกว่าจะอายุครบ 105 วัน เพราะถือว่าพื้นโลกมีราคี เมื่ออายุครบ 210 วันตามปฏิทินปาวูกนของบาหลี ก็จะมีการฉลองวันเกิดครั้งแรกแก่ทารก ครั้นเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นก็จะมีพิธีตะไบฟันหกซี่บนจนเสมอกัน[14][15] ซึ่งถือว่าฟันหกซี่บนนั้นเสมือนความชั่วร้าย 6 ประการ อันได้แก่ ความขี้เกียจ ความเฉื่อยชา ความโลเล ความโลภ กิเลสตัณหา และโทสะ เมื่อตะไบฟันแล้ว จะถือว่าเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์[16]
การสมรสถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวบาหลีที่นับถือฮินดู ซึ่งสามีจำต้องเป็นทั้งหัวหน้าครอบครัวและการเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน การให้กำเนิดบุตรถือเป็นสิ่งยืนยันว่ามีผู้สืบวงศ์ตระกูล และต้องบุตรคนใดคนหนึ่งมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับการกลับชาติมาเกิดใหม่ อันเป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่วัยรุ่น[14][15][17]
การตายและการเกิดใหม่
แก้เมื่อมีการเสียชีวิตก็จะมีพิธีกรรมทางศาสนา ชาวฮินดูเชื่อว่าเมื่อตายลงวิญญาณจะเป็นอิสระและจะกลับไปเกิดใหม่ หากจะเป็นอิสระได้ก็ต้องมีการฌาปนกิจศพให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีการ เพราะการฌาปนกิจไม่ใช่แค่การกำจัดศพ แต่เป็นการส่งดวงวิญญาณให้กลับไปสู่เทพเจ้าและเป็นผีบรรพบุรุษคอยบันดาลพูนสุขแก่ลูกหลานบนโลก กระนั้นการฌาปนกิจแบบบาหลีนั้นค่าใช้จ่ายสูงนักเนื่องจากมีพิธีกรรมค่อนข้างซับซ้อน หลายครอบครัวจึงต้องฝังศพไว้ก่อนจนกว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่างานศพ ทั้งนี้ศพของนักบวชและชนชั้นสูงจะถูกเก็บไว้เหนือผืนดินไม่ให้ฝังไว้ใต้ดิน[18][19]
วรรณะ
แก้ระบบวรรณะของบาหลีปรากฏอยู่ในเอกสารของชาวยุโรปช่วงศตวรรษที่ 20 แบ่งเป็นสามกลุ่มได้สามกลุ่ม คือ ตรีวังสา (เกิดสามครั้ง) ทวิชาติ (เกิดสองครั้ง) และเอกชาติ (เกิดครั้งเดียว) โดยจะสูงศักดิ์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนวรรณะทั้งสี่แบบอินเดียนั้นจะออกเสียงแตกต่างออกไป คือ[20]
- วรรณะพราหมณ์ (Brahmana บราห์มานา) – นักบวช
- วรรณะกษัตริย์ (Satria ซาตรียา) – นักรบ
- วรรณะแพศย์หรือไวศยะ (Wesia เวซียา) – วานิช
- วรรณะศูทร (Sudra ซูดรา) – ทาส
นักมานุษยวิทยาชาวดัตช์ได้แบ่งกลุ่มวรรณะพราหมณ์ของบาหลีออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ ซีวา (Siwa) และบูดา (Buda) ซึ่งกลุ่มซีวาสามารถแบ่งย่อยได้อีก 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ เกอเมอนุฮ์ (Kemenuh) เกอนีเติน (Keniten) มัซ (Mas) มานูบา (Manuba) และเปอตาปัน (Petapan) คือกลุ่มย่อยที่รองรับการสมรสระหว่างชายวรรณะสูงกับหญิงวรรณะต่ำ และนักมานุษยวิทยายังยังแบ่งวรรณะกลุ่มย่อย ๆ อีกตามเกณฑ์ลักษณะนี้ในศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ตามการแต่งงานในกลุ่มวรรณะเดียวกัน ต่างวรรณะ หรืออาจมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบชนชั้นในอาณานิคมเม็กซิโกของสเปน และการศึกษาระบบวรรณะในอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ[20]
ศาสนสถาน
แก้เทศกาล
แก้กาลุงงันและกูนิงงัน
แก้เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองชัยชนะของธรรมะเหนืออธรรม จะมีการคำนวณ 210 วันตามปฏิทินปาวูกน (pawukon calendar) จะจัดขึ้นในวันพุธ (buda) สัปดาห์ที่ 11 (dunggulan) เชื่อว่าวิญญาณผีบรรพชนจะลงมาจากสวรรค์กลับมาหาลูกหลาน 10 วันก่อนกลับสวรรค์ในวันกูนิงงัน
เญปี
แก้ช่อของเทศกาลแปลว่า "วันแห่งความเงียบ" เป็นวันปีใหม่ของการนับศักราชแบบบาหลี มักอยู่ช่วงเดือนสิบเอ็ดหรือเกอดาซา (kedasa) ซึ่งตรงกับช่วงมีนาคมตามปฏิทินสากล[21] จะมีการเดินขบวนในพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีเยาวชนถือคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ในการเผาทำลายปีศาจโอโกะฮ์โอโกะฮ์ ที่ถือว่าเป็นวิญญาณชั่วร้าย[22][23]
เทศกาลอื่น ๆ
แก้วันวาตูกูนุง (Watugunung) เป็นวันสุดท้ายของปฏิทินปาวูกนที่ต้องบำเพ็ญเพียรอุทิศแด่เทพีสุรัสวดี เทพแห่งการเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือ แม้ว่าหนังสือเล่มนั้นจะไม่ได้รับการอนุญาตให้อ่านก็ตาม ส่วนวันที่สี่ของปีจะเรียกว่าวันปาเกอร์เวซี (Pagerwesi) แปลว่า "รั้วเหล็ก" เป็นวันรำลึกถึงการต่อสู้กันระหว่างความดีกับความชั่ว[24]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ Jones (1971) p11
- ↑ Ricklefs (1989) p13
- ↑ 3.0 3.1 Eiseman (1989) pp 11–12
- ↑ Davison & Granquist (1999) pp 4–5
- ↑ Davison & Granquist (1999) pp 5, 8
- ↑ Haer et al (2000) p 46
- ↑ Eiseman (1989) pp 44–45
- ↑ Eiseman (1989) p 274
- ↑ "ชาวบาหลีกับภูเขาไฟ". ศูนย์ข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์. 27 ตุลาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ Haer et al (2000) p 48
- ↑ 11.0 11.1 Eiseman (1989) pp 362 & 363
- ↑ ตามปรกติยัชญะได้แก่ อ้างจาก: "ศาสนาฮินดู". วิทยาลัยศาสนวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-22. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2560.
- พรหมยัชญะ – คือบูชาพรหมและสอนพระเวทแก่อนุชน
- เทวยัชญะ – คือบูชาเทพเจ้าด้วยการใส่เครื่องสังเวยในกองเพลิง
- ปิตฤยัชญะ – บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับในพิธีศารท
- ภูตยัชญะ – ให้ทานคนป่วย คนขัดสน และสัตว์
- มนุษยยัชญะ – ทำหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน เช่นการต้อนรับแขกที่มาบ้านอย่างจริงใจ การสร้างที่พักแก่คนยาก
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Hobart et al (1996) p 102
- ↑ 14.0 14.1 Haer et al (2000) p 52
- ↑ 15.0 15.1 Eiseman (1989) pp 91
- ↑ เผ่าทอง ทองเจือ (26 กันยายน 2556). "กุมารวิถี...บาหลีนิยม (ตอนจบ)". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Hobart et al (1996) p 105
- ↑ Haer et al (2000) p 53
- ↑ Eiseman (1989) pp 116–117
- ↑ 20.0 20.1 James Boon (1977). The Anthropological Romance of Bali 1597-1972: Dynamic Perspectives in Marriage and Caste, Politics and Religion. ISBN 0-521-21398-3.
- ↑ Eiseman (1989) pp 186–187
- ↑ Nyepi Bali, Indonesia (February 2013)
- ↑ Nyepi: Bali's day of Silence Culture, Bali & Indonesia (2009)
- ↑ Eiseman (1989) pp 184–185
- บรรณานุกรม
- Davison, Julian; Granquist, Bruce (1999). Balinese Temples. Periplus Editions. ISBN 962-593-196-1.
- Eiseman, Fred B. (1989). Bali: Sekala & Niskala Volume I: Essays on Religion, Ritual, and Art. Singapore: Periplus Editions. ISBN 0-945971-03-6.
- Haer, Debbie Guthrie; Morillot, Juliette; Toh, Irene (2000). Bali: A Traveller's Companion. Editions Didier Millet Pte Ltd. Publishers Ltd. ISBN 981-3018496.
- Hobart, Angela; Ramseyer, Urs; Leeman, Albert (1996). The Peoples of Bali. Blackwell Publishers Ltd. ISBN 0-631-17687-X.
- Jones, Howard Palfrey (1971). Indonesia: The Possible Dream. Hoover Institution Publications. ISBN 0-15-144371-8.
- Vickers, Adrian (1989). Bali: A Paradise Created. Periplus. ISBN 978-0-945971-28-3.