ศาสนาคานาอันโบราณ

ศาสนาคานาอันโบราณ เป็นกลุ่มความเชื่อโบราณที่นับถือปฏิบัติโดยชาวคานาอันที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคลิแวนต์ตั้งแต่ต้นยุคสัมฤทธิ์จนถึงช่วงศตวรรษแรก ๆ ของสากลศักราช ศาสนาคานาอันโบราณเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเซมิติกโบราณ อันเป็นกลุ่มความเชื่อแบบพหุเทวนิยมของชาวเซมิติกในตะวันออกใกล้ และแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ

ดินแดนคานาอัน ซึ่งประกอบด้วยอิสราเอล ปาเลสไตน์ เลบานอน จอร์แดน และซีเรียในปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่มีการนับถือศาสนาคานาอัน คานาอันถูกแบ่งเป็นนครรัฐต่าง ๆ

ชาวคานาอันอาศัยอยู่ในลิแวนต์ตั้งแต่กลางสหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล[1] ชื่อคานาอันมาจากอักษรรูปลิ่มในภาษาแอกแคด 𒆳𒆠𒈾𒄴𒈾 (KURki-na-aḫ-na) บนจดหมายอะมาร์นา ต่อมาปรากฏเป็นอารยธรรมช่วงปลายสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คานาอันไม่ได้หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มเดียว แต่เป็นคำเรียกรวม ๆ ของชนหลายกลุ่มที่อาศัย เช่น ฟินิเชีย ชาวฟิลิสตีน และวงศ์วานอิสราเอล[2] ในคัมภีร์ฮีบรูกล่าวถึงคานาอันอยู่บ่อยครั้ง โดยกล่าวว่าเป็นดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ชนที่อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นลูกหลานของคานาอัน ผู้เป็นบุตรของฮาม และเป็นหลานของโนอาห์ ต่อมาเป็นหนึ่งในเจ็ดกลุ่มชนที่ถูกวงศ์วานอิสราเอลขับไล่หลังวงศ์วานอิสราเอลอพยพจากอียิปต์มายังแผ่นดินแห่งพระสัญญา[3]

ศาสนาคานาอันโบราณมีความเชื่อแบบพหุเทวนิยม และบางกรณีก็ยอมรับเทพหลายองค์ แต่บูชาเทพเพียงองค์เดียว (monolatry) แบ่งออกเป็น 4 ลำดับชั้น โดยเทพสูงสุดคือเอลและพระชายา อะเชียรา[4] แต่ภายหลังตำแหน่งเทพสูงสุดเปลี่ยนมาเป็นบาอัล เทพแห่งการเจริญพันธุ์ ฝน และฟ้าแลบ เป็นการสะท้อนถึงการพึ่งพาฝนของชาวคานาอันในการเพาะปลูก[5] ตามตำนานวัฏจักรบาอัลที่บันทึกด้วยภาษายูการิตกล่าวว่าเมื่อบาอัลเอาชนะเทพยัมแห่งท้องทะเล พระองค์ได้ร้องขอเทพเอลให้มอบพระราชวังให้พระองค์ เมื่อเอลทรงอนุญาต บาอัลได้ท้าทายเทพมอตแห่งยมโลกที่พระราชวังของพระองค์แต่ถูกมอตกลืนกิน ทำให้โลกขาดฝนแห้งแล้งอย่างหนัก อะนัต เทพีแห่งสงครามผู้เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) และพระชายาของบาอัลไปยังยมโลกและเอาชนะมอต ทำให้บาอัลได้กลับมาปกครองโลกอีกครั้ง[6]

ชาวคานาอันทำพิธีที่แท่นบูชาหรือศาสนสถานบนที่สูง กษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธี เช่น พิธีเฮียรอสกามอสช่วงขึ้นปีใหม่ ขณะที่นักบวชมีหน้าที่เซ่นสังเวยให้เหล่าทวยเทพ[7] ชาวคานาอันเชื่อในโลกหลังความตายและเคารพบูชาผู้วายชนม์ โดยเชื่อว่าหลังเสียชีวิตวิญญาณจะถูกส่งไปยังยมโลก มีการฝังสิ่งของไปพร้อมร่าง และเซ่นไหว้ด้วยอาหารเครื่องดื่มเพื่อไม่ให้ผู้วายชนม์มารบกวนผู้ที่ยังมีชีวิต[8][9]

ศาสนาคานาอันโบราณได้รับอิทธิพลมาจากภูมิภาคใกล้เคียงอย่างเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณ โดยแต่ละศาสนาต่างส่งอิทธิพลให้แก่กัน ตัวอย่างเช่น เทพยัมอาจมีที่มาจากเทพยาของเมืองอีบลา ซึ่งเทียบเท่ากับเองกีหรืออีอา เทพแห่งน้ำ เชาวน์ปัญญา และการเจริญพันธุ์ของเมโสโปเตเมีย หรือเทพบาอัลก็เกี่ยวข้องกับเทพเซตของอียิปต์โบราณสมัยที่ปกครองโดยฮิกซอส[10] อิทธิพลของศาสนาคานาอันโบราณยังปรากฏในประมวลเรื่องปรัมปรากรีก เช่น การแบ่งเทพผู้ปกครองหลักเป็นสามองค์ (ซูส โพไซดอน และเฮดีส) สะท้อนภาพของเทพบาอัล ยัม และมอต หรือภารกิจสิบสองประการของเฮอร์คิวลิสก็คล้ายคลึงกับเรื่องของเมลคาร์ท เทพผู้ปกป้องเมืองไทร์ของชาวฟินิเชีย[11]

อ้างอิง แก้

  1. Aubet, Maria E., 1987, 910 The Phoenicians and the West, (Cambridge University Press, New York) p.9
  2. Mark, Joshua J. (October 23, 2018). "Canaan". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 7, 2020.
  3. Rashi on Exodus 13:5
  4. Evans, Annette H. M. "Monotheism and Yahweh", The Development of Jewish Ideas of Angels: Egyptian and Hellenistic Connections, ca. 600 BCE to ca. 200 BCE เก็บถาวร 2020-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. PhD diss., Stellenbosch University, 2007. p. 291. "Handy (1994:176,177) describes the four hierarchical levels in Syro-Palestinian mythology. The first level consists of the deity El (or his equivalents) and Asherah. The second level consists of the active deities or patron gods, for example Baal, and the third, the artisan gods, for example Kothar-wa-Khasis. The lowest level consists of the messenger-gods, who have no independent volition, which Handy equates with the “angels” of the Bible."
    Handy, Lowell K. (1994). "Summary - Cosmic Hierarchy". Among the Host of Heaven: The Syro-Palestinian Pantheon as Bureaucracy. Eisenbrauns. pp. 169–170. ISBN 978-0-931464-84-3. [Per the Syro-Palestinian perception of the cosmos] The fourfold hierarchy of the divine realm may be diagrammed as follows [Authoritative Deities: El; Active Deities: Baal; Artisan Deities: Kothar; Messenger Deities: gpn w ugr]...
  5. Pope (2006).
  6. Wilkinson, Philip Myths & Legends: An Illustrated Guide to Their Origins and Meanings
  7. "Canaanite Religion". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 7, 2020.
  8. Segal, Alan F. Life after death: a history of the afterlife in the religions of the West
  9. Annette Reed (11 February 2005). "Life, Death, and Afterlife in Ancient Israel and Canaan" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 May 2005. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
  10. "Seth - Egyptian god". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 7, 2020.
  11. Stories from Ancient Canaan, Second Edition. ISBN 1611641624. สืบค้นเมื่อ 9 February 2017.