วิหค เทียมกำแหง

วิหค เทียมกำแหง เป็นนักมวยไทยชื่อดังที่มีชื่อเสียงทางด้านการไหว้ครูสวยงาม[1] วิหคเป็นบุตรของนายไพ นางน้อย ตั้งสัตยา เริ่มหัดชกมวยไทยกับหมื่นชงัดเชิงชก โดยหัดทั้งศิลปะมวยไทยแบบโบราณที่ยังไม่ได้นำเอาการเต้นฟุตเวิร์กแบบมวยสากลมาใช้ และการรำมวยไหว้ครูซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เขามาก เมื่อเขาขึ้นชกที่ต่างจังหวัด จะจัดให้เขาชกวันหนึ่ง รำวันหนึ่งเป็นประจำ

วิหค เทียมกำแหง
ชื่อจริงสันต์ ตั้งสัตยา
ฉายาปักษาร้าย
เกิด14 มิถุนายน พ.ศ. 2461
นครราชสีมา
เทรนเนอร์หมื่นชงัดเชิงชก

วิหคขึ้นเปรียบมวยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2482 ในงานวัดที่อำเภอโนนไทย คู่ชกในวันนั้นเป็นครูมวยชื่อครูชุ่ม เลือดโนนไทย วิหคสู้เต็มที่ ผลปรากฏว่าเสมอกัน วิหคได้ตระเวนเปรียบมวยไปทั่วจังหวัดนครราชสีมา จนกระทั่งเทียมหลี กรองกาญจน์ คหบดีเจ้าของค่ายเทียมกำแหง จนเขาเข้ามาอยู่ในสังกัด ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงใช้ชื่อว่าวิหค เทียมกำแหง เมื่อวิหคมีชื่อเสียงในต่างจังหวัดจนหาตัวจับยาก เทียมหลีจึงส่งเขามาชกในกรุงเทพฯ ในยุคนั้นยังไม่มีการสร้างเวทีราชดำเนิน เขาขึ้นชกครั้งแรกที่โรงละครศรีอยุธยา ชนะน็อค อินทร์ สังขวิฑูร ยก 3 และขึ้นชกกับนักมวยมีชื่ออีกหลายคน เช่น สหะ สิงหเดช ที่ชกกันอีกถึงสามครั้ง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง วิหคไปเปรียบมวยที่ภาคเหนือ ชนะคู่ชกหลายคน เช่น วิม ชัยสงัด เชาว์ ชัยสงัด เสมา เมืองราช แล้วจึงลงมาชกกรุงเทพฯอีกครั้ง ช่วงนั้น เวทีราชดำเนินสร้างเสร็จแล้ว เขาขึ้นชกอีกหลายครั้ง เช่น ชนะคะแนน ลพ สุวมิตร ขึ้นชกชิงเสื้อสามารถ เข้าถึงรอบชิงแต่แพ้คะแนน วีระศักดิ์ เมืองสุรินทร์ แบบค้านสายตา การขึ้นชกที่กรุงเทพฯนี้เป็นช่วงท้ายของชีวิตการชกมวยของวิหคแล้วเพราะร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน ช่วงหลังเขาแพ้แตก จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ชิงแชมป์มวยไทยรุ่นเฟเธอร์เวทของเวทีราชดำเนินก็แพ้แตก สวง ใจมีบุญอีก เมื่อชกแก้มือชนะสวงได้แล้ว วิหคก็แขวนนวมไปเมื่อ พ.ศ. 2491

เมื่อเลิกมวยแล้ว วิหคเข้าทำงานเป็นช่างที่โรงงานประณีตอุตสาหกรรม ส่วนชีวิตครอบครัวแต่งงานกับยุพิน สุชาติมีบุตร 4 คน เมื่ออายุ 58 -59 ปี วิหคเข้าอุปสมบทเป็นพระที่วัดคลองเตยนอก บวชอยู่ 12 ปี เมื่อสังขารอ่อนแอลงจึงลาสิกขา มาเป็นเทรนเนอร์ใหญ่อยู่ที่ค่ายส.เพลินจิต

อ้างอิง แก้

  • สมพงษ์ แจ้งเร็ว. วิหค เทียมกำแหง “พญาปักษาร้ายจากโคราช” . ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ 2536 หน้า 112 – 117
  1. "ครูมวยโคราช ที่สำคัญในสมัยรุ่งเรือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.