วิสุทธชนวิลาสินี

วิสุทธชนวิลาสินี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในอปาทาน แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคที่ 1 อธิบายความในพุทธวรรคและสีหาสนิยวรรคถึงเมตเตยยวรรค และวรรคที่ 2 อธิบายความในสีหาสนิยวรรคถึงเมตเตยยวรรค ภัททาลิวรรคถึงภัททิยวรรค และในเถริยาปทาน ผลงานของพระเถระ 5 รูป [1]

ผู้แต่ง แก้

คาดว่า คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ หรือพระพุทธโฆษจารย์ [2] อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่า คัมภีร์นี้ไม่มีผู้แต่งที่ชัดเจน [3] ทั้งนี้ ในส่วนเริ่มต้นคัมภีร์ ท่านผู้รจนามิได้เอ่ยถึงชื่อของท่าน แม้แต่พระเถรผู้อาราธนาให้รจนา ซึ่งผิดจากธรรมเนียมการแต่งอรรถกถาฉบับอื่นๆ โดยในเนื้อความระบุแต่เพียงว่า ผู้รจนาแต่งโดยได้รับการอาราธนาจากพระเถระทั้งหลายที่ไม่ปรากฏนาม [4]

เนื้อหา แก้

ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ระบุไว้ในช่วงเกริ่นนำเนื้อความว่า การรจนาคัมภีร์อรรถกถานี้ ได้อาศัยนัยตามอรรถกถาของเก่า หรือ โปราณัฏฐกถา โดยเว้นข้อความที่คลาดเคลื่อนเสีย ใช้เฉพาะแต่เนื้อความพิเศษ มีความแปลก และดีที่สุดมาใช้ในการแต่งคัมภีร์อรรถกถานี้ เพื่อที่จะอธิบายว่า ใครกล่าวเนื้อความต่างๆ ของอปทาน (หรือเรื่องราวแต่หนหลังของบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนา) อปทานเหล่านี้กล่าวไว้ที่ไหน และกล่าวอปทานเหล่านี้ไว้เมื่อไร[5]

จุดประสงค์หลักของคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ก็คือการขยายความเนื้อหาที่ปรากฏในหมวดอปทาน ในแห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก อันมีเนื้อหาว่าด้วยพุทธประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ประวัติพระเถระ และพระเถรีองค์ต่างๆ โดยอรรถกถานี้จะให้ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของประวัตินั้นๆ รวมถึงขยายความข้อธรรมที่ปรากฏในเนื้อหาช่วงนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น ในอรรถกถาทูเรนิทาน อันเป็นตอนต้นๆ ของหมวดอปทาน ภาค 1 ว่าด้วยบุพกรรมที่เกื้อหนุนให้สุเมธดาบส ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าพระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า และมูลเหตุที่สุเมธดาบส ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกร โดยอรรถกถาส่วนนี้มีการให้รายละเอียดถึงเรื่องราวชีวิตและจริยาวัตรของสุเมธดาบส เช่นการเดินจงกรม [6] และบรรยายลักษณะของสมณสุข คือความสุขอันบังเกิดจากการออกบวช [7] และคุณของการอยู่โคนต้นไม้ [8] พร้อมกับระบุว่า ต้นไม้ตรัสรู้ของพระโคตมพุทธเจ้า ชื่อ อัสสัตถพฤกษ์ [9] เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการพรรณนาพุทธประวัติและพระลักษณะของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ มีพระพุทธเจ้าทีปังกรจนถึงพระกัสสปพุทธเจ้า เช่นการพรรณนาว่า พระพุทธเจ้าทีปังกร มีพระวรกายสูง 80 ศอก อยู่ครองเรือนหมื่นปี จึงออกบวชตั้งความเพียรเพียง 10 เดือน จึงตรัสรู้ [10]

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างในส่วนของประวัติในอดีตชาติของพระสาวก เช่น ในอรรถกถาสุภูติเถราปทาน หมวดอปทาน ภาค 2 ว่าด้วยบุพกรรมและประวัติในอดีตของพระสุภูติเถระ ได้มีการขยายความสาเหตุที่พระเถระได้บรรุอรหันตผลในสมัยพุทธกาลว่า ในอดีตชาตินั้นท่านเป็นดาบสชื่อนันทะ มีบริวาร 44,000 ได้ถวายอาสนะดอกไม้ และยืนกั้นฉัตรแด่พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระศาสดาดำริว่า ขอสักการะนี้ของดาบสทั้งหลายจงมีผลมาก แล้วเข้านิโรธสมาบัติตลอด 7 วัน ภิกษุหนึ่งแสนก็เข้านิโรธสมาบัติ ท่านตั้งความปรารถนาตำแหน่งเลิศภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล และผู้อยู่โดยไม่มีกิเลส ต่อมาได้บวชอีก 500 ชาติ แม้ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านก็ได้บวช อยู่ป่าบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร กระทั่งถึงสมัยพุทธกาลของพระโคตมพุทธเจ้า พระเถระถือกำเนิดเป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านไปพร้อมพี่ชายฟังธรรมแล้วบวช มีเมตตาฌานเป็นบาท บรรลุพระอรหันต์แล้ว เมื่อเที่ยวบิณฑบาต ท่านก็เข้าฌานแผ่เมตตาไปทุกๆ บ้าน ออกจากฌานแล้วจึงรับอาหาร [11] ดังนี้ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 77
  2. Pali Book-Titles and Their Brief Designations. หน้า 691
  3. คัมภีร์พุทธศาสน์ หน้า 18
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทานเล่ม 8 ภาค 1 หน้า 11
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 12
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 22
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 23
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 29
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 41
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 1 หน้า 66
  11. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน เล่ม 8 ภาค 2 หน้า 73 - 78

บรรณานุกรม แก้

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • Charles Rockwell Lanman. (1909). Pali Book-Titles and Their Brief Designations. Proceedings of the American Academy of Arts and Sciences Volume 44.
  • ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. (2550). คัมภีร์พุทธศาสน์. โครงการธรรมศึกษาวิจัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม 8 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม 8 ภาค 2