วิศวกรรมชลศาสตร์

วิศวกรรมชลศาสตร์ (อังกฤษ: hydraulic engineering) เป็นวิชาย่อยของวิศวกรรมโยธาที่ศึกษาการไหลและการเคลื่อนที่ของน้ำเป็นหลัก โดยอาศัยความรู้ด้านกลศาสตร์และแรงโน้มถ่วงในการคำนวณเพื่อหาการเคลื่อนที่และพฤติกรรมต่าง ๆ ของน้ำ ซึ่งสามารถนำไปเป็นเนื้อหาในการออกแบบสะพาน เขื่อน ทางน้ำเปิด หรือวิศวกรรมด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม

วิศวกรรมชลศาสตร์เป็นวิชาที่สามารถนำหลักการกลศาสตร์ของไหลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล การควบคุม การขนส่ง การควบคุม การวัด หรืออื่น ๆ ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมากในโลกปัจจุบันที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสิ้นเปลือง

ประวัติ แก้

เดิมวิชาวิศวกรรมชลศาสตร์ได้รับการนำมาใช้กับเกษตรกรรมในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา การควบคุมและส่งถ่ายทรัพยากรน้ำนั้นมีมานานแล้ว หนึ่งในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องนั้นคือนาฬิกาน้ำซึ่งเริ่มใช้กันมานานนับพันปีก่อนคริสตกาล อีกทั้งยังมีกะนาต (qanāt) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่งถ่ายน้ำจากอีกที่ไปอีกที่ของชาวเปอร์เซีย คล้ายกับระบบน้ำตูร์ปัน (Turpan water system) ในจีนโบราณ หรือคลองถ่ายน้ำในเปรู

ชาวจีนโบราณให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิศวกรรมชลศาสตร์เป็นอย่างมาก วิศวกรจีนได้สร้างคลองขนาดใหญ่เพื่อใช้ส่งน้ำซึ่งยังพัฒนาไว้ให้เรือสามารถผ่านได้ด้วย โดยนายซุนชู เอ๋า (Sūnshū Áo) ได้รับการขนานนามให้เป็นวิศวกรชลศาสตร์ชาวจีนคนแรก วิศวกรชลศาสตร์ที่สำคัญคนอื่น ๆ ก็มีนายซีเหมิน เป้า (Xīmén Bào) ซึ่งเป็นผู้ทดสอบการขนถ่ายน้ำขนาดใหญ่ในช่วง 481-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช