วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงริเริ่มทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม โดยทรงตั้งชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” เนื่องจากส่งกระจายเสียงจากพระราชวังพญาไท และยังทรงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยกองช่างวิทยุ ดำเนินการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นการคู่ขนานกับสถานีส่วนพระองค์ โดยผู้ฟังนิยมเรียกว่า “สถานีวิทยุศาลาแดง” เนื่องจากสถานีส่งกระจายเสียง ตั้งอยู่ในบริเวณย่านที่เรียกว่าศาลาแดง และต่อมาสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท เปิดกระจายเสียงอย่างเป็นทางการ เริ่มด้วยการถ่ายทอดเสียงสด กระแสพระราชดำรัส เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 กองช่างวิทยุต้องดำเนินการขนย้าย เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท เข้าไปไว้รวมกันที่สถานีวิทยุศาลาแดง เนื่องจากทางกองทัพบกต้องการนำที่ดิน บริเวณพระราชวังพญาไท เพื่อไปใช้สอยในราชการ (ก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 คณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ลงมติให้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขดำเนินการอยู่นั้น ไปขึ้นตรงกับกรมโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) โดยให้ชื่อใหม่ว่า สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ซึ่งใช้อยู่เพียงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเปลี่ยนอีกครั้งเป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2484 หลังจากมีประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482

สืบเนื่องจากในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เครื่องบินต่างชาติทิ้งระเบิดลงมา ยังโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งของจังหวัดพระนคร จนเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก กรมโฆษณาการจึงไม่มีกระแสไฟฟ้า สำหรับส่งกระจายเสียงวิทยุ เป็นเวลาหลายวัน ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงดำเนินการก่อตั้ง สถานีวิทยุ 1 ป.ณ. ที่อาคารกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังเก่า บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร ช่วงหน้าวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เพื่อส่งกระจายเสียงโดยคู่ขนาน กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม ที่ให้รื้อฟื้นการส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นใหม่ เพื่อสำรองใช้ในราชการ หากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้

ประวัติ แก้

ประเทศไทยเริ่มรู้จักเครื่องวิทยุเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2447 เมื่อห้าง บี.กริมม์ นำผู้แทนบริษัทวิทยุโทรเลข เทเลฟุงเก็น เข้ามาตั้งเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขทดลองในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นทางราชการกองทัพเรือ และกองทัพบกจึงได้นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขขนาดเล็ก มาใช้ราชการในเรือรบและในงานสนาม ในปี พ.ศ. 2456 ทางราชการทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขถาวรขึ้นที่ตำบลศาลาแดงในกรุงเทพฯสถานีหนึ่ง และที่ชายทะเล อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อีกแห่งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จมาทรงเปิดสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 มกราคม (ปลายปี) พ.ศ. 2456

พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดี กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มให้มีการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยปี พ.ศ. 2470 พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ได้ทรงซื้อเครื่องส่งวิทยุเข้ามาเพื่อศึกษายังที่ประทับของพระองค์เองคือวังบ้านดอกไม้ ทั้งศึกษาและทดลองเอาโทรศัพท์และเสียงเพลงมาส่งเสียงพูด พร้อมเสียงดนตรีกระจายออกไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ก็ทรงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาถึงลักษณะของวิทยุกระจายเสียงและทดลองรูปแบบที่สมควรจัดตั้งในสยาม โดยได้สั่งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงกำลังส่ง 200 วัตต์ ขนาดความยาวคลื่น 36.42 เมตร ซึ่งเป็นคลื่นสั้นเข้ามา 1 เครื่องทำการทดลองที่กรมไปรษณีย์โทรเลขที่ปากคลองโอ่งอ่าง และเริ่มส่งวิทยุกระจายเสียงอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีวิทยุแห่งนี้ว่า "4 พีเจ" ซึ่งพีเจย่อมาจาก "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

จากนั้นกองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ย้ายสถานีจากปากคลองโอ่งอ่าง ไปตั้งที่ศาลาแดงใช้สัญญาณเรียกว่า " 2 พีเจ" ช่างวิทยุไทยจึงได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุใช้เองอีก 1 เครื่อง ส่งกระจายเสียงโดยใช้สัญญาณเรียกขานว่า " 11 พีเจ " (อ่านว่า หนึ่ง หนึ่ง พีเจ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ประชาชนเริ่มมีความตื่นเต้นในการฟังวิทยุกระจายเสียงกันมากและมีการสร้างเครื่องรับวิทยุ ที่เรียกว่า เครื่องแร่กันมากขึ้น

ดังนั้น สมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน จึงทรงสั่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ขนาด 2.50 กิโลวัตต์ และขนาดคลื่น 300 เมตรจากบริษัท ฟิลลิปเรดิโอ จากประเทศฮอลแลนด์ ราคา 80,000 บาท เข้ามาอีก 1 เครื่อง พร้อมให้ห้างเกียร์สัน ดำเนินการสร้างห้องส่งกระจายเสียง เพื่อตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกในประเทศไทยในชื่อว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phayatai) ตั้งอยู่ในพระราชวังพญาไท บริเวณทุ่งพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) นับว่าประเทศไทยเริ่มตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง หลังจากบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาเพียง 7 ปี เครื่องส่งวิทยุโทรเลขครั้งนั้นเป็นแบบประกายไฟฟ้า (Spark) ทำคลื่นวิทยุชนิดคลื่นลด สมัยนั้นยังไม่มีหลอดวิทยุ และยังไม่สามารถทำคลื่นวิทยุชนิดคลื่นต่อเนื่องได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 นายพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงซื้อเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ชนิดใช้หลอด 3 อิเลคโตรด ใช้ความถี่สูง (คลื่นสั้น) กำลังส่งประมาณ 200 วัตต์ มาติดตั้งที่วังดอกไม้ ในกรุงเทพฯ เพื่อทรงทดลองค้นคว้า ได้ทรงทดลองส่งเสียงพูด และเสียงดนตรี ด้วยเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ ทำนองส่งวิทยุกระจายเสียง นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการส่งวิทยุกระจายเสียงด้วยการบุกเบิกริเริ่ม ของเสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

ฝ่ายกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ก็ได้ดำเนินการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง โดยใช้เครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็ก กำลังส่งประมาณ 200 วัตต์ ณ ที่ตั้งของกองช่างวิทยุ ในตึกที่ทำการ กรมไปรษณีย์โทรเลข (เก่า) ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) ซึ่งปัจจุบันได้รื้อลงหมดแล้ว เพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทางด้านฝั่งกรุงเทพมหานคร กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นงานประจำ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 เป็นต้นมา การส่งวิทยุกระจายเสียงในระยะเริ่มแรกนี้ ใช้ขนาดความถี่สูงประมาณ 8,000 กิโลเฮิรตซ์ (หรือที่เรียกว่า คลื่นสั้น ความยาวคลื่นประมาณ 37 เมตร) มีกำลังส่งออกอากาศ 200 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขาน (Call Sign) ประจำสถานีว่า 4 พี.เจ. (HS 4 PJ)

ต่อมากองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ย้ายกิจการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง จากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข (เก่า) ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ไปดำเนินการที่สถานีวิทยุศาลาแดง และเปลี่ยนใช้ความถี่ประมาณ 10,100 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 29.5 เมตร) มีกำลังส่ง 500 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขานว่า 2 พี.เจ.

กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ประกอบพิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 อันเป็นวันที่ระลึกฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยการถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร มีใจความว่า “การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป”

การทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงในระยะต้น ๆ ด้วยความถี่สูง (หรือคลื่นสั้น) เช่นนี้ ปรากฏผลว่าการรับฟังในระยะทางใกล้ เช่นในเขตจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ไม่ใคร่ได้ผลดี เนื่องจากมีอาการจางหาย กองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงเปลี่ยนไปทดลองส่งด้วยความถี่ปานกลาง (หรือที่เรียกกันว่าคลื่นยาวในสมัยนั้น) ขนาดความถี่ประมาณ 937.5 กิโลเฮิรตซ์ หรือความยาวคลื่น 320 เมตร ใช้กำลังส่ง 1,000 วัตต์ มีสัญญาณเรียกขานว่า “หนึ่ง หนึ่ง พี.เจ.” (HS 1 1 P J) ปรากฏว่าได้ผลการรับฟังดีกว่าเมื่อใช้ความถี่สูงจึงได้ใช้คลื่นวิทยุขนาดความถี่ปานกลางนี้สำหรับการส่งวิทยุกระจายเสียงภายในประเทศ ส่วนการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงด้วยความถี่สูง คงใช้สำหรับการส่งวิทยุกระจายเสียงไปต่างประเทศเท่านั้น

โดยที่ปรากฏว่า ประชาชนสนใจและนิยมรับฟังวิทยุกระจายเสียงกันมากขึ้น โดยใช้เครื่องรับชนิดแร่ และชนิดหลอดขนาดเล็ก เพียง 2-3 หลอด กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรขึ้นที่บริเวณทุ่งพญาไท กรุงเทพ ฯ ตัวอาคารเครื่องส่งอยู่ในบริเวณทุ่งนา หน้าโฮเตลพญาไท (เดิมคือพระราชวังพญาไท) ส่วนห้องส่งกระจายเสียงอยู่บนชั้นสองของโฮเตลพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ของกองทัพบก)

เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงใหม่นี้ เป็นเครื่องที่ซื้อมาจากบริษัทฟิลิปส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มี 2 เครื่องตั้งเคียงกัน มีกำลังส่งเครื่องละ 2,500 วัตต์ เครื่องหนึ่งใช้ความถี่ 857 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 350 เมตร) ใช้ชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ใช้สัญญาณเรียกขานว่า เอช.เอส.พี.เจ. (HSPJ) ส่วนอีกเครื่องหนึ่งเป็นเครื่องความถี่สูง (คลื่นสั้น) ใช้เครื่องแปรรูปคลื่นวิทยุ (มอดูเลเตอร์) เครื่องเดียวกัน จึงส่งพร้อมกันทั้งสองเครื่องไม่ได้

กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ประกอบพิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ (ปลายปี) พ.ศ. 2473 อันเป็นวันที่ระลึกฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยการถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยมีใจความสำคัญว่า “การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป”

ส่วนการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงของกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข จากสถานีวิทยุศาลาแดง ก็ยังคงดำเนินการต่อไป ได้ปรับปรุงสร้างเครื่องส่งใหม่มีกำลังส่ง 10,000 วัตต์ ใช้ความถี่ 750 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 400 เมตร) ใช้สัญญาณเรียกขานว่า 7 พี.เจ. (HS 7 P J ) ทดลองส่งรายการภาคในประเทศนอกเวลาส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท (คือเมื่อสถานีวิทยุกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท ปิดสถานีแล้ว) และมักเป็นคืนวันพุธกับคืนวันเสาร์ ส่วนการทดลองวิทยุกระจายเสียงภาคต่างประเทศนั้นใช้ความถี่ 12,000 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 25 เมตร) ใช้สัญญาณเรียกขานว่า “8 พี.เจ.” (HS 8 P J) ส่งจากสถานีวิทยุศาลาแดงต่อไปตามเดิม

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลได้สั่งโอนกิจการวิทยุกระจายเสียง จากกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปขึ้นอยู่กับสำนักงานโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี (ภายหลังได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ดังนั้นการจดทะเบียนเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงกับเครื่องขยายเสียง และการดำเนินงานวิทยุกระจายเสียงภายในประเทศ รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท จึงไปขึ้นอยู่กับสำนักงานโฆษณาการทั้งหมด

ส่วนการส่งวิทยุกระจายเสียงภาคต่างประเทศด้วยความถี่สูงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงทดลอง 8 พี.เจ. ที่ศาลาแดง กรุงเทพ ฯ คงโอนไปแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดรายการวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น งานฝ่ายช่างที่เกี่ยวกับห้องส่งกระจายเสียง และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงยังคงอยู่กับกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข

(ต่อมาทางราชการกองทัพบกต้องการสถานที่ ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไทตั้งอยู่ จึงต้องย้ายเครื่องส่งวิทยุของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท กลับมารวมอยู่ที่สถานีวิทยุศาลาแดง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ระหว่างการย้ายก็ได้ใช้เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง 7 พี.เจ. กำลัง 10 กิโลวัตต์ ทำงานแทน ภายหลังเมื่อได้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียงไปขึ้นกับสำนักงานโฆษณาการ ซึ่งได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นกรมโฆษณาการในภายหลังและกรมโฆษณาการหาที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ใหม่ที่ ซอยอารีย์สัมพันธ์ พระรามที่ 6 30 ถนนพระราทที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จึงได้ตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ณ ที่แห่งใหม่นี้)

ครั้นเมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาในต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เป็นผลให้กรุงเทพฯ ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเสียหาย ต้องอพยพโยกย้ายที่ทำการรัฐบาลหลายแห่ง รวมทั้งสถานีวิทยุศาลาแดงด้วย การทดลองวิทยุกระจายเสียงจึงต้องระงับไป

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 โรงจักร์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่งคือโรงจักร์ไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงจักร์ไฟฟ้าสามเสน ถูกทิ้งระเบิดเสียหายมาก ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ การส่งวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการจึงต้องหยุดไปหลายวัน

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคมจึงมีคำสั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลขรื้อฟื้นการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นใหม่ เพื่อสำรองใช้ราชการ ในยามที่สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการไม่อาจส่งวิทยุกระจายเสียงได้

กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ตั้งสถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. ขึ้นที่แผนกช่างวิทยุ ซึ่งย้ายจากสถานีวิทยุศาลาแดง มาอยู่ที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขเก่า เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ฝั่งพระนคร และส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยเครื่องส่งขนาดเล็กใช้ความถี่สูง ภายหลังจึงเพิ่มกำลังส่งเป็น 500 วัตต์ ใช้ความถี่ 4,755 กิโลเฮิรตซ์ 7,022 กิโลเฮิรตซ์ 5,955 กิโลเฮิรตซ์ และ 950 กิโลเฮิรตซ์รวม 4 เครื่อง ส่งวิทยุกระจายเสียงพร้อมกันด้วยรายการเดียวกัน

สถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. จึงเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรก ที่ส่งรายการวิทยุกระจายเสียงคู่กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมโฆษณาการ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้