วิกตอร์-มารี อูว์โก (ฝรั่งเศส: Victor-Marie Hugo; สัทอักษรสากล: [viktɔʁ maʁi yɡo]; 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802 — 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885) เป็นกวี นักเขียนบทละคร นักประพันธ์ ศิลปิน รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงสำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคโรแมนติกในประเทศฝรั่งเศส

วิกตอร์ อูว์โก
วิกตอร์ อูว์โก ค.ศ. 1883
วิกตอร์ อูว์โก ค.ศ. 1883
เกิด26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802
ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885(83ปี)
ประเทศฝรั่งเศส
อาชีพนักเขียน ศิลปิน รัฐบุรุษ
สัญชาติฝรั่งเศส
แนวร่วมในทางวรรณคดีโรแมนติก

ลายมือชื่อ

ชื่อเสียงของอูว์โกทางด้านงานวรรณกรรมในประเทศฝรั่งเศสมาจากงานกวีนิพนธ์และบทละคร ส่วนงานนวนิยายเป็นที่รู้จักรองลงมา ในบรรดางาน กวีนิพนธ์ของเขา Les Contemplations และ La Légende des siècles จัดเป็นงานที่โดดเด่นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางครั้งอูว์โกได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ขณะที่เขาเป็นที่รู้จักภายนอกประเทศจากผลงานนวนิยาย เรื่อง Les Misérables (เหยื่ออธรรม) และ Notre-Dame de Paris (ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกว่า The Hunchback of Notre Dame หรือ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม)

ประวัติ

แก้

วิกตอร์ อูว์โก เป็นบุตรคนที่สามและคนสุดท้องของโฌแซ็ฟ เลออปอล ซีฌิสแบร์ อูว์โก (1773–1828) และนางโซฟี เทรบูแช (1772-1821) เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802[1] ที่เมืองเบอซ็องซง ในแคว้นฟร็องช์-กงเต พี่ชายของเขาสองคนคือ อาแบล โฌแซ็ฟ อูว์โก (1798–1855) และเออแฌน อูว์โก (1800–1837) เขาใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของเขาในประเทศฝรั่งเศส โดยจำเป็นต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศชั่วเวลาหนึ่งระหว่างรัชสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม โดยไปอาศัยอยู่ในบรัสเซลส์ราว ค.ศ. 1851 ในเจอร์ซีย์ระหว่างปี 1852-1855 และในเกิร์นซีย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1855-1870 กับอีกครั้งหนึ่งในปี 1872-1873 ซึ่งเขาเลือกจะลี้ภัยเองแม้มีการนิรโทษกรรมแล้วในปี ค.ศ. 1859

ในช่วงวัยเยาว์ของอูว์โกมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้าที่เขาจะเกิด ราชวงศ์บูร์บงถูกโค่นลงในการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการรุ่งเรืองและล่มสลายของสาธารณรัฐแห่งแรก การรุ่งเรืองของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง การรวบอำนาจเผด็จการของนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังจากอูว์โกเกิดได้สองปี ราชวงศ์บูร์บงได้รับการสถาปนากลับมาอีกครั้งก่อนที่อูว์โกจะมีอายุครบ 18 ปี แนวคิดทางการเมืองและทางศาสนาที่ตรงข้ามกันของพ่อและแม่สะท้อนถึงแรงผลักดันในการสงครามในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของเขา พ่อของอูว์โกเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพของนโปเลียน ซึ่งไม่นับถือพระเป็นเจ้าแต่ยกย่องนโปเลียนเป็นวีรบุรุษ ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ครอบครัวของอูว์โกต้องย้ายบ้านบ่อย ๆ ตามการรับตำแหน่งของบิดา ทำให้อูว์โกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายระหว่างการเดินทาง ครั้งหนึ่งเมื่อครอบครัวของเขาเดินทางไปยังเนเปิลส์ อูว์โกได้เห็นช่องเขาแอลป์ขนาดใหญ่กับยอดสูงอันปกคลุมด้วยหิมะ เขาได้เห็นทะเลเมดิเตอเรเนียนสีน้ำเงินสด และได้เห็นงานเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ในกรุงโรม แม้เวลานั้นเขาจะมีอายุเพียง 6 ปี แต่ก็สามารถจำการเดินทางครึ่งปีนั้นได้อย่างแม่นยำ พวกเขาอยู่ในเนเปิลส์หลายเดือนก่อนจะย้ายกลับมายังปารีส

โซฟีต้องติดตามสามีไปยังอิตาลี (เลออปอลได้เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นแห่งหนึ่งใกล้เนเปิลส์) และสเปน (เขาได้เข้าควบคุมดูแลจังหวัดในสเปน 3 จังหวัด) เมื่อนางรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโยกย้ายแบบชีวิตทหาร ประกอบกับความไม่พอใจกับความเชื่อทางศาสนาของสามี โซฟีจึงแยกอยู่กับเลออปอลชั่วคราวเมื่อ ค.ศ. 1803 โดยพำนักอยู่ในปารีส นางได้อุปการะเลี้ยงดูอูว์โกให้เติบโตขึ้นและรับการศึกษาจากที่นี่ ผลจากสิ่งนี้ทำให้งานกวีนิพนธ์และนิยายของอูว์โกในยุคแรก ๆ สะท้อนถึงความรู้สึกภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และความศรัทธา จนกระทั่งในช่วงหลัง เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848 อูว์โกจึงเริ่มมีความคิดต่อต้านการศึกษาที่ภักดีต่อราชวงศ์และคาทอลิก หันไปยกย่องแนวคิดสาธารณรัฐนิยมและเสรีนิยม

กวีนิพนธ์และงานเขียนในช่วงต้น

แก้
 
วิกตอร์ อูว์โก ในวัยหนุ่ม

อูว์โกในวัยเยาว์ก็เป็นเหมือนกับนักเขียนอายุน้อยคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีย็อง นักเขียนผู้โดดเด่นและน่าหลงใหลซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมในยุคจินตนิยม และเป็นสัญลักษณ์แห่งวรรณกรชั้นเลิศของฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อูว์โกถึงกับตั้งปณิธานว่า จะต้องเป็นเหมือนชาโตบรีย็อง มิฉะนั้นก็ไม่เป็นอะไรเลย[2] ชีวิตของอูว์โกคล้ายคลึงกับชาโตบรีย็องในหลายด้าน ในเวลาต่อมา อูว์โกก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อวรรณกรรมยุคจินตนิยม และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะผู้นำแนวคิดสาธารณรัฐนิยม จนกระทั่งจำต้องลี้ภัยไปนอกประเทศจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน

ผลงานของอูว์โกชิ้นแรก ๆ เปี่ยมด้วยเสน่ห์และวาทะน่าอ่าน จนกระทั่งเขาสามารถประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้ในเวลาอันรวดเร็ว งานกวีนิพนธ์ชุดแรกของเขา คือ Nouvelles Odes et Poésies Diverses ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1824 ขณะที่เขามีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น งานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลพระราชทานจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 18[3] แต่ถึงแม้งานนี้จะได้รับคำชมเชยอย่างมากมาย ทว่างานกวีนิพนธ์อีกชุดหนึ่ง คือ Odes et Ballades ที่ตีพิมพ์ในอีก 2 ปีต่อมา ได้เผยให้เห็นถึงอัจฉริยะทางกวีของอูว์โกยิ่งกว่า แสดงถึงความเก่งกาจอย่างเป็นธรรมชาติในการประพันธ์ถ้อยคำและท่วงทำนองของดนตรี

อูว์โกหนุ่มตกหลุมรักกับเพื่อนในวัยเด็กชื่อ อาแดล ฟูเช โดยที่แม่ของเขาไม่เห็นชอบด้วย เขาแอบหมั้นกับเธออย่างลับๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1821 เขาจึงได้แต่งงานกับเธออย่างเปิดเผยในปี ค.ศ. 1822[1] ทั้งสองมีบุตรชายคนโตชื่อ เลออปอล เกิดเมื่อ ค.ศ. 1823 แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก หลังจากนั้นอูว์โกมีบุตรอีก 4 คนคือ เลออโปลดีน (เกิด 28 สิงหาคม ค.ศ. 1824) ชาร์ล (เกิด 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1826) ฟร็องซัว-วิกตอร์ (เกิด 28 ตุลาคม ค.ศ. 1828) และอาแดล (เกิด 24 สิงหาคม ค.ศ. 1830)

หลังจากแต่งงาน อูว์โกตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของเขาในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1823 เรื่อง Han d'Islande[3] หลังจากนั้นอีก 3 ปีก็ได้ตีพิมพ์เรื่องที่สอง คือ Bug-Jargal ในปี ค.ศ. 1826 จากนั้นระหว่าง ค.ศ. 1829-1840 เขาได้ตีพิมพ์งานกวีนิพนธ์อีก 5 ชุด (Les Orientales, 1829; Les Feuilles d'automne, 1831; Les Chants du crépuscule, 1835; Les Voix intérieures, 1837; และ Les Rayons et les ombres, 1840) ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ด้านบทไว้อาลัยและบทลำนำในยุคสมัยนั้น

การสร้างผลงานสำคัญ

แก้
 
ภาพประกอบ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม ฉบับดั้งเดิม วาดโดยอาลแฟรด บาร์บู (ค.ศ. 1831)

ผลงานนิยายชิ้นสำคัญชิ้นแรกของอูว์โกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1929 สะท้อนถึงแนวคิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่แทรกอยู่ในงานช่วงหลัง ๆ ของเขาแทบทั้งหมด Le Dernier jour d'un condamné ("วันสุดท้ายของนักโทษประหาร") เป็นงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนยุคต่อมาหลายคน เช่น อาลแบร์ กามูว์, ชาลส์ ดิกคินส์ และฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี งานเขียนเรื่อง Claude Gueux ในปี ค.ศ. 1834 เป็นเรื่องสั้นเชิงพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตจริงของฆาตกรคนหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาอูว์โกยอมรับว่าเป็นงานนำร่องไปสู่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม เรื่อง Les Misérables ("เหยื่ออธรรม") แต่งานเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของอูว์โกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงคือ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม") ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1831 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว[4] ผลกระทบหนึ่งจากนวนิยายเรื่องนี้คือมหาชนหลั่งไหลกันไปเยือนมหาวิหารโนเตรอดามหลังจากอ่านนวนิยาย ทำให้นครปารีสต้องละอายที่ทอดทิ้งมหาวิหารมิได้ฟื้นฟูบูรณะมาเป็นเวลานาน หนังสือเล่มนี้ยังส่งผลให้มีการปรับปรุงอาคารใหม่ให้เป็นแบบยุคก่อนเรเนสซองส์ และต่อมาก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

อูว์โกเริ่มวางแผนการเขียนนวนิยายเรื่องเอกของเขา คือ เหยื่ออธรรม ให้มีเนื้อหาสะท้อนความทุกข์ยากและความอยุติธรรมในสังคมตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 และใช้เวลายาวนานกว่า 17 ปีเพื่อเขียนขึ้นมาจนสำเร็จและได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862[4] ความพิถีพิถันในคุณภาพของนวนิยายทำให้หนังสือเป็นที่ต้องการและมีการประมูลแย่งชิงกันมาก สำนักพิมพ์ในเบลเยียมแห่งหนึ่งคือ Lacroix and Verboeckhoven ถึงกับจัดแคมเปญพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการออกหนังสือข่าวเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้เป็นเวลา 6 เดือนเต็มก่อนกำหนดวางแผง ทั้งยังมีการตีพิมพ์เพียงแค่ครึ่งแรกของนิยาย ("Fantine") ออกวางจำหน่ายในเมืองใหญ่พร้อม ๆ กัน หนังสือที่พิมพ์แต่ละคราวจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมฝรั่งเศส[5] มีการวิพากษ์วิจารณ์นิยายเรื่องนี้อย่างรุนแรง เช่น Taine กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เสแสร้งไม่จริงใจ Barbey d'Aurevilly วิจารณ์ว่าใช้ภาษาหยาบคายสามหาว พี่น้อง Goncourts เปรียบว่าเป็นของเทียม และ Baudelaire ผู้เขียนแนะนำนิยายเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ก็ยังวิจารณ์ว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่ามัน "ไร้รสนิยมและไม่ได้เรื่อง" ถึงกระนั้น เหยื่ออธรรม ก็พิสูจน์ความนิยมในตัวเองได้ด้วยปริมาณการขายอย่างมากมายและยังกลายเป็นวาระสำคัญในการประชุม French National Assembly ในเวลาต่อมา นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นที่นิยมตราบจนถึงปัจจุบัน และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีอย่างบ่อยครั้งยิ่งกว่านวนิยายเรื่องอื่นในแนวนี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด[4]

 
ภาพวาดประกอบ เหยื่ออธรรม ฉบับดั้งเดิม วาดโดยเอมีล บายาร์ (ค.ศ. 1862)

การติดต่อโต้ตอบระหว่างอูว์โกกับสำนักพิมพ์ของเขา Hurst & Blackett เมื่อ ค.ศ. 1862 จัดเป็นการโต้ตอบที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าในเวลาที่ เหยื่ออธรรม (ซึ่งเป็นหนังสือหนากว่า 1200 หน้า) วางแผงนั้น อูว์โกอยู่ระหว่างเดินทางพักผ่อน เขาส่งโทรเลขไปถึงสำนักพิมพ์ว่า "?" ซึ่งสำนักพิมพ์ส่งตอบมาว่า "!"[1]

นวนิยายเรื่องต่อมาของอูว์โก คือ Les Travailleurs de la Mer (ผู้ตรากตรำแห่งท้องทะเล) ซึ่งเขาหันเหแนวทางไปจากแนวสังคม-การเมือง นิยายตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1866 และได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลจากความสำเร็จอย่างสูงของ เหยื่ออธรรม ก็ได้ อูว์โกเขียนเรื่องนี้เพื่ออุทิศแด่เกาะแห่งเกิร์นซีย์ซึ่งเขาได้ไปลี้ภัยอยู่นานถึง 15 ปี เขาพรรณนาถึงสงครามระหว่างชายคนหนึ่งกับทะเลและสิ่งมีชีวิตอันน่าสะพรึงกลัวจากมหาสมุทรห้วงลึก คือ ปลาหมึก ซึ่งทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ปลาหมึกไปทั่วนครปารีส นับแต่อาหาร งานนิทรรศการ ไปจนถึงหมวกปลาหมึกและงานสังสรรค์ คำที่ชาวเกิร์นซีย์ใช้เรียกปลาหมึก (pieuvre; ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงปลาหมึกยักษ์) ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาฝรั่งเศสอันเป็นผลจากคำที่ใช้ในนิยายเรื่องนี้ อูว์โกหวนกลับมาเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและสังคมอีกครั้งในนวนิยายเรื่องถัดไปคือ L'Homme Qui Rit (คนที่หัวเราะ) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1869 และได้สร้างภาพอันล่อแหลมเกี่ยวกับคนชั้นสูงในสังคม แต่นิยายเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเทียบกับเรื่องก่อน ๆ อูว์โกเริ่มพิจารณาตัวเองว่าห่างชั้นกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่น ๆ เช่นโฟลแบร์ (Flaubert) และซอลา (Zola) ซึ่งมีงานเขียนที่กำลังเป็นที่นิยม นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Quatrevingt-treize (เก้าสิบสาม) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1874 เขาเขียนเรื่องที่ก่อนหน้านี้เคยหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด คือยุคสมัยแห่งความหวาดหวั่นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ว่าในเวลาที่ตีพิมพ์นั้นชื่อเสียงของอูว์โกเริ่มลดน้อยลงแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยอมรับกันว่า เก้าสิบสาม เป็นหนึ่งในผลงานของอูว์โกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด

งานการเมืองและช่วงลี้ภัย

แก้

หลังจากพยายามอยู่ 3 ครั้ง อูว์โกก็ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกของบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (Académie française) ในปี ค.ศ. 1841[4] ซึ่งทำให้สถานะของเขาในแวดวงศิลปกรรมและวรรณกรรมมั่นคงขึ้น นักวิชาการชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเตียน เดอ ฌูย ผู้ต่อต้านการปฏิวัติยุคโรแมนติก พยายามหน่วงเหนี่ยวให้การรับเลือกของอูว์โกเป็นไปอย่างล่าช้า[6] หลังจากนั้นอูว์โกก็มีบทบาททางการเมืองในฝรั่งเศสสูงขึ้น โดยเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของสาธารณรัฐ เขาได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป เลื่อนให้เป็นขุนนางชั้นสูงในปี ค.ศ. 1841 และได้เข้าสู่สภาสูงในตำแหน่ง pair de France เขาเคลื่อนไหวต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตรวมถึงความไม่ยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยชื่นชมยกย่องเสรีภาพของสื่อและการจัดตั้งรัฐบาลของตนเองในโปแลนด์ ในเวลาต่อมาเขาได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) และสภารัฐธรรมนูญ (Constitutional Assembly) หลังจากนั้นจึงเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 และการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2

 
วิกตอร์ อูว์โก ขณะลี้ภัยในเจอร์ซีย์ (ค.ศ. 1853-55)

เมื่อหลุยส์ นโปเลียน (จักรพรรดินโปเลียนที่ 3) รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในปี ค.ศ. 1851 และจัดตั้งรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านรัฐสภาขึ้น อูว์โกก็ประกาศตัวเองเป็นกบฏต่อประเทศฝรั่งเศส เขาย้ายไปยังบรัสเซลส์ และต่อมาย้ายไปยังเจอร์ซีย์ จนที่สุดจึงมาตั้งถิ่นฐานกันครอบครัวของเขาที่เกาะแชนแนลที่เกิร์นซีย์ เขาลี้ภัยอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1870

ในขณะลี้ภัย อูว์โกได้เผยแพร่ผลงานการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายชิ้นที่ต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เช่น Napoléon le Petit และ Histoire d'un crime[4] หนังสือเหล่านี้ถูกแบนในฝรั่งเศส แต่กระนั้นก็ส่งผลกระทบต่อฝรั่งเศสอย่างมาก อูว์โกยังเผยแพร่งานเขียนอันมีชื่อเสียงอื่น ๆ ของเขาในระหว่างพำนักอยู่ที่เกิร์นซีย์ รวมถึง เหยื่ออธรรม ด้วย ในจำนวนนี้รวมถึงงานกวีนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก 3 ชุด คือ Les Châtiments ในปี 1853; Les Contemplations ในปี 1856; และ La Légende des siècles ในปี 1859

เขาได้เกลี้ยกล่อมคณะรัฐบาลของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียให้ไว้ชีวิตนักโทษชาวไอริช 6 คนที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้าย ผลงานครั้งนี้ได้รับยกย่องในการยกเว้นโทษประหารชีวิตจากรัฐธรรมนูญของเจนีวา โปรตุเกส และโคลอมเบีย[7]

ปี ค.ศ. 1859 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองลี้ภัยทั้งหมด แต่อูว์โกปฏิเสธการอภัยโทษ เพราะนั่นจะทำให้เขาไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อีก จนกระทั่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 สิ้นอำนาจและสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 จัดตั้งขึ้นแล้ว อูว์โกจึงได้หวนคืนแผ่นดินเกิดในปี ค.ศ. 1870 เขาได้รับเลือกตั้งสู่สภาแห่งชาติ (National Assembly) และวุฒิสภาในเวลาต่อมา[4]

อูว์โกพำนักอยู่ในปารีสด้วยระหว่างที่กองทัพปรัสเซียบุกเข้ายึดเมืองในปี ค.ศ. 1870 สวนสัตว์ในกรุงปารีสส่งเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้มาให้เขา ในระหว่างที่การบุกยึดยังดำเนินอยู่และอาหารก็หายากขึ้นทุกที อูว์โกบันทึกไว้ในสมุดประจำวันของเขาว่า เขาต้องลดการ "กินอะไรที่ไม่รู้จัก" ลง

อูว์โกให้ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิของศิลปินและลิขสิทธิ์ เขาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Association Littéraire et Artistique Internationale[4] ซึ่งต่อมานำไปสู่อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการปกป้องสิทธิในงานวรรณกรรมและงานศิลปะ

ช่วงปลายของชีวิต

แก้
 
หลุมฝังศพของวิกตอร์ อูว์โก และเอมีล ซอลา

เมื่ออูว์โกเดินทางกลับมาปารีสในปี ค.ศ. 1870 เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นวีรบุรุษของชาติ แต่ทั้งที่มีชื่อเสียงขนาดนั้นเขาก็ยังแพ้การเลือกตั้งเข้าสู่ National Assembly ในปี ค.ศ. 1872 ต่อมาไม่นานเขาต้องประสบความทุกข์สาหัสเมื่อบุตรสาวของเขา อาแดล ต้องถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการวิกลจริต ตามด้วยการเสียชีวิตของบุตรชาย 2 คน (ส่วนบุตรสาวอีกคนหนึ่งคือ ลีโอโปลดีน จมน้ำจากอุบัติเหตุเรือล่มเมื่อปี ค.ศ. 1843 ภริยาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1868 ส่วนคนรักผู้ซื่อสัตย์ของเขาคือ จูเลียตต์ ดรูเอต์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1883 ก่อนตัวเขาเองสองปี) แม้ว่าเขาจะต้องประสบความสูญเสียมากมายในชีวิตส่วนตัว แต่อูว์โกก็ยังยึดมั่นในงานการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง ปี ค.ศ. 1876 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่[8] บทบาทสุดท้ายในงานการเมืองของเขาค่อนข้างจะล้มเหลว อูว์โกกลายเป็นเฒ่าจอมดื้อและทำอะไรในวุฒิสภาไม่ได้มากนัก

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1881 อูว์โกมีอายุครบ 79 ปี มีการจัดงานวันเกิดให้เขาซึ่งนับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่เคยจัดให้แก่นักเขียนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่[9] งานเฉลิมฉลองเริ่มต้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เขาได้รับมอบแจกันจากแซฟวร์ (Sèvres) ซึ่งเป็นของขวัญตามประเพณีที่จะมอบให้แก่ผู้ทรงเกียรติ วันที่ 27 กุมภาพันธ์มีขบวนพาเหรดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส หัวขบวนอยู่ที่ถนนแอโล (Avenue d'Eylau) และทอดตัวยาวไปตามถนนช็องเซลีเซจนถึงใจกลางเมืองปารีส ผู้ร่วมขบวนใช้เวลาเดินทั้งหมด 6 ชั่วโมงผ่านหน้าของอูว์โกซึ่งนั่งอยู่ที่หน้าต่างบ้านของเขา ทุก ๆ รายละเอียดจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อูว์โก แม้แต่ผู้นำขบวนพาเหรดอย่างเป็นทางการยังสวมชุดรวงข้าว เพื่อสื่อถึงบทเพลงของ Cosette ในเรื่อง เหยื่ออธรรม[9]

วิกตอร์ อูว์โก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885 รวมอายุได้ 83 ปี ยังความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงต่อชนทั้งชาติ เขามิได้เป็นเพียงเสาหลักทางวรรณกรรมของฝรั่งเศส แต่ยังได้รับยกย่องจากนานาชาติในฐานะรัฐบุรุษผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 และนำประชาธิปไตยมาสู่ฝรั่งเศส ประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้เข้าร่วมพิธีศพของเขาในกรุงปารีส[8] ตั้งแต่ประตูชัยไปจนถึงแพนธีออน อันเป็นสถานที่ฝังศพของเขา โดยใช้ที่ฝังศพร่วมกันกับ Alexandre Dumas และ Émile Zola

อูว์โกกับภาพวาด

แก้

นอกจากงานด้านวรรณกรรม อูว์โกยังมีฝีมือด้านทัศนศิลป์อย่างเอกอุ ตลอดชีวิตของเขาได้วาดภาพไว้มากกว่า 4,000 ภาพ ในช่วงแรกการวาดภาพก็เป็นเพียงแค่งานอดิเรก แต่ต่อมามันก็มีความสำคัญต่ออูว์โกมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงก่อนการลี้ภัย เมื่อเขาตัดสินใจหยุดงานประพันธ์เพื่ออุทิศตัวเองแก่งานการเมือง การวาดภาพจึงเป็นทางออกทางเดียวสำหรับความคิดสร้างสรรค์ของเขาในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1848-1851

อูว์โกวาดภาพเฉพาะบนกระดาษ และมักเป็นภาพขนาดเล็ก เขาใช้เทคนิค pen-and-ink วาดด้วยสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ บางครั้งก็แต้มสีขาว แต่ไม่ค่อยใช้สีอื่น ๆ ภาพที่หลงเหลือรอดมาถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นความสามารถอันน่าอัศจรรย์และความ "ทันสมัย" ทั้งแบบอย่าง วิธีการ แสงเงา และเทคนิคต่าง ๆ ทั้งแบบเหนือจริง (surrealism) และแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expressionism)

เขามักวาดภาพโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูกมาช่วยในการสร้างสรรค์ เช่น กระดาษไข กระดาษซับหมึก ดิ้น ยางลบ หรือบางครั้งก็ใช้ถ่านจากแท่งไม้ขีดไฟหรือใช้นิ้วของเขาแทนที่จะใช้ปากกาหรือพู่กัน บางครั้งเขาถึงกับสาดกาแฟใส่หรือหาวิธีสร้างเอฟเฟคต่าง ๆ ที่เขาต้องการ เล่ากันว่าอูว์โกมักจะวาดภาพด้วยมือซ้าย บางครั้งก็วาดโดยไม่มองกระดาษเลย เพื่อที่จะเข้าถึงภาวะจิตใต้สำนึกของตัวเอง ในเวลาต่อมาหลักการนี้จึงเป็นที่รู้จักกันผ่านทางซิกมุนด์ ฟรอยด์

อูว์โกเก็บภาพวาดของเขามิให้สาธารณชนได้เห็น ด้วยเกรงว่ามันจะบดบังผลงานด้านวรรณกรรมของเขาเสีย แต่เขาชอบเอารูปภาพอวดแก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง บางครั้งก็ทำเป็นบัตรอวยพร มีภาพวาดหลายภาพที่มอบให้แก่แขกของเขาเป็นของขวัญในขณะที่เขาอยู่ระหว่างการลี้ภัย ภาพวาดของเขาบางชิ้นได้แสดงแก่ศิลปินร่วมสมัยเช่น ฟัน โคค และเดอลาครัว และเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก เดอลาครัวเคยให้ความเห็นว่าถ้าอูว์โกตัดสินใจมาเป็นศิลปินวาดภาพแทนที่จะเป็นนักเขียน เขาจะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ[10]

ภาพวาดของอูว์โก:

อูว์โกกับดนตรี

แก้

แม้ว่าทักษะทางดนตรีจะไม่ได้เป็นหนึ่งในพรสวรรค์มากมายของอูว์โก แต่กระนั้นเขาก็ยังสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ในโลกของดนตรี ด้วยแรงบันดาลใจอันไร้สิ้นสุดที่ผลงานของเขาส่งผลต่อบรรดานักแต่งเพลงจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ตัวอูว์โกเองชอบดนตรีของกลุ๊กและเวเบอร์ ทั้งยังชื่นชอบเบทโฮเฟินอย่างมาก นอกจากนั้นเขายังชื่นชมผลงานของนักแต่งเพลงในยุคก่อนหน้าเขา เช่น Palestrina และ Monteverdi นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สองคนคือ แบร์ลีโยซและลิซท์ ก็เป็นเพื่อนของอูว์โก คนหลังนี้เคยเล่นเพลงของเบทโฮเฟินที่บ้านของอูว์โกด้วย อูว์โกเคยเขียนขำ ๆ ในจดหมายถึงเพื่อนฉบับหนึ่งว่า ต้องขอบคุณลิซท์ที่ช่วยสอนเปียโนให้เขา ทำให้เขาสามารถเล่นเพลงโปรดของตัวเองได้โดยใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียว อูว์โกยังเคยร่วมงานกับหลุยส์ แบร์แต็ง (Louise Bertin) นักแต่งเพลง โดยช่วยเขียนบทอุปรากรให้แก่เธอในปี ค.ศ. 1836 เรื่อง La Esmeralda อันมีที่มาจากนวนิยายเรื่องหนึ่งของอูว์โก คือ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม[11] ทว่าด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้อุปรากรอันงดงามนี้ต้องปิดการแสดงลงหลังจากเปิดแสดงได้เพียง 5 ครั้ง และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน แต่ยังมีบทเพลงในเวอร์ชันที่บรรเลงด้วยเปียโนของลิซท์ ซึ่งนำกลับมาแสดงอีกครั้งในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ Victor Hugo et Égaux เมื่อ ค.ศ. 2007[12] นอกจากนี้ยังนำมาแสดงเป็นออร์เคสตราเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 ในงาน Le Festival de Radio France et Montpellier Languedoc-Roussillon[13]

มีบทเพลงมากกว่า 1000 บทที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของอูว์โกตลอดช่วงเวลานับแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน บทละครของอูว์โกซึ่งแหวกประเพณีนิยมของงานแสดงในยุคคลาสสิกแต่เปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวในยุคโรแมนติกได้จุดประกายความสนใจแก่บรรดานักแต่งเพลง และพากันจับเรื่องราวเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นอุปรากร มีละครอุปรากรมากกว่า 100 เรื่องที่สร้างขึ้นจากผลงานของอูว์โก ในบรรดาบทละครที่มีชื่อเสียงได้แก่ Lucrezia Borgia ของโดนีเซตตี (ค.ศ. 1833) Rigoletto และ Ernani ของแวร์ดี (ค.ศ. 1851 และ 1844 ตามลำดับ) และ La Gioconda ของ Ponchielli (ค.ศ. 1876) นอกจากบทละครของอูว์โกแล้ว นวนิยายของเขาก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับเหล่านักดนตรี พวกเขาไม่เพียงนำมาดัดแปลงเป็นอุปรากรและบัลเลต์ แต่ยังนำมาทำเป็นละครเพลงด้วย เช่นเรื่อง คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม และเรื่องที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลคือ เหยื่ออธรรม ซึ่งเป็นละครเพลงที่เปิดแสดงอยู่ยาวนานที่สุดในเวสต์เอนด์ กรุงลอนดอน นอกจากนี้ งานกวีนิพนธ์ของอูว์โกก็สร้างแรงบันดาลใจต่อเหล่านักดนตรีและนักแต่งเพลงด้วย พวกเขาแต่งเพลงมากมายขึ้นจากบทกวีของอูว์โก เหล่านักดนตรีเหล่านี้ได้แก่ แบร์ลีโยซ, บีแซ, ฟอเร, ฟร็องก์, ลาโล, ลิซท์, มัสแน, แซ็ง-ซ็องส์, รัคมานีนอฟ และวากเนอร์[14]

จนถึงปัจจุบัน ผลงานของอูว์โกยังส่งอิทธิพลต่องานดนตรีอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นวนิยายเรื่อง The Last Day of a Condemned Man ซึ่งต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต ได้ดัดแปลงมาเป็นละครอุปรากร โดยดาวิด อาลัญญา น้องชายของเขาคือ โรแบร์โต อาลัญญาได้แสดงละครอุปรากรรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อฤดูร้อน ค.ศ. 2007 ในกรุงปารีส และแสดงซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ Victor Hugo et Égaux 2008[15] นอกจากนี้มีงานเทศกาลดนตรีนานาชาติวิกตอร์ อูว์โก จัดขึ้นที่เกิร์นซีย์เป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งมีนักดนตรีมาร่วมงานค่อนข้างมาก

อนุสรณ์

แก้
 
อนุสาวรีย์วิกตอร์ อูว์โก ที่เกิร์นซีย์

ประชาชนชาวเกิร์นซีย์พร้อมใจกันสร้างรูปปั้นของอูว์โกไว้ที่แคนดีการ์เด้น (ท่าเรือเซนต์ปีเตอร์) เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาที่อูว์โกลี้ภัยอยู่บนเกาะแห่งนั้น นอกจากนี้ทางปารีสก็ได้อนุรักษ์บ้านของเขาทั้งที่ Hauteville House ในเกิร์นซีย์ และที่บ้านเลขที่ 6 จัตุรัสโวฌ (Place des Vosges) ในนครปารีสไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านของอูว์โกอีกแห่งหนึ่งที่เมืองฟิยันเดิน (Vianden) ในลักเซมเบิร์ก ซึ่งเขาเคยไปพักอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1871 ก็ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย ที่เจอร์ซีย์ซึ่งอูว์โกเคยไปลี้ภัยช่วงสั้น ๆ ช่วงหนึ่งในปี ค.ศ. 1852 มีแผ่นป้ายอนุสรณ์ (plaque) ติดตั้งไว้ที่ La Vingtiane De La Ville เพื่อเป็นอนุสรณ์การมาเยือนของเขา

มีการสร้างรูปปั้นและอนุสาวรีย์ของอูว์โกไว้มากมาย เช่นที่เกิร์นซีย์ ที่อุทยานกวีเบซีเย (Béziers) ซึ่งภายหลังดัดแปลงกลายเป็นสวนสัตว์ โอกุสต์ รอแด็ง ช่างปั้นผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสได้ปั้นรูปหล่อครึ่งตัวของอูว์โกในปี ค.ศ. 1886 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Gulbenkian ประเทศฝรั่งเศส มีอนุสาวรีย์วิกตอร์ อูว์โกอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองเบอซองซง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอูว์โก ปั้นโดยศิลปินชื่อ Ousmane Sow นอกจากนี้ในรัสเซีย มีอุทยานแอร์มิทาชในกรุงมอสโกซึ่งประดับรูปปั้นครึ่งตัวของอูว์โกไว้เช่นกัน

ที่เขต XVIème ในเมืองปารีส มีถนนชื่อ Victor-Hugo ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา นอกจากนี้ยังมีถนนและตรอกซอยอีกมากมายหลายแห่งทั่วประเทศฝรั่งเศสที่ตั้งชื่อตามชื่อของเขา มีโรงเรียนแห่งหนึ่งชื่อ Lycée Victor Hugo ตั้งอยู่ที่บ้านเกิดของอูว์โกคือเมืองเบอซองซง ถนน Victor-Hugo อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมือง Shawinigan รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ก็ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

อูว์โกเคยอาศัยอยู่ที่เมือง Avellino ประเทศอิตาลี เมื่อย้ายครอบครัวไปอยู่กับพ่อในคราวหนึ่งในปี ค.ศ. 1808 ปัจจุบันที่พักของเขาเป็นที่รู้จักในชื่อ Il Palazzo Culturale อูว์โกเคยเขียนถึงช่วงชีวิตสั้น ๆ ที่เขาพำนักอยู่ที่นี่ กล่าวว่า "C’était un palais de marbre..." ที่เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ มีร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ Victor Hugo ซึ่งเริ่มต้นดำเนินกิจการโดยชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง แต่ถูกซื้อไปในปี ค.ศ. 2005 ร้านนี้ตั้งอยู่ที่เมลวิลล์เทอร์เรซ ใกล้กับหอพักมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในเขตเมืองชีนส์[16]

ปี ค.ศ. 1985 มีการจัดทำเหรียญอนุสรณ์ในโอกาสครบ 100 ปีวันถึงแก่กรรมของอูว์โก เป็นเหรียญ 10 ฟรังค์ฝรั่งเศส

รายชื่อผลงานประพันธ์

แก้

งานที่ตีพิมพ์ระหว่างมีชีวิต

แก้

งานที่ตีพิมพ์หลังจากเสียชีวิต

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 Roche, Isabel (2005). “Victor Hugo: Biography” เก็บถาวร 2008-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Meet the Writers. เว็บไซต์: Barnes & Noble. (จากฉบับพิมพ์คลาสสิกของ บาร์นส์แอนด์โนเบิล เรื่อง The Hunchback of Notre Dame, 2005.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  2. Victor Hugo and his Revolutionary & Napoleonic Era Writings เก็บถาวร 2009-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ napoleonic-literature.com เก็บข้อมูลเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  3. 3.0 3.1 Victor Hugo จาก เอนไซโคลพีเดียบริทันนิกา
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Victor Hugo จาก thefamouspeople.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  5. Les Miserables, 1862 เก็บถาวร 2007-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Life & Work of Victor Hugo. จาก hugo-online.org. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  6. บทบาทของ É. de Jouy ที่ต่อต้านอูว์โก ดูใน Les aventures militaires, littéraires et autres de Étienne de Jouy de l'Académie française โดย Michel Faul (Éditions Seguier, France, 2009 ISBN 978-2-84049-556-7)
  7. Victor Hugo, l'homme océan
  8. 8.0 8.1 Timeline of Victor Hugo จาก BBC Guernsey. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  9. 9.0 9.1 Les Misérables เก็บถาวร 2009-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, About the Author. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  10. Drawings of Victor Hugo เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  11. "Hugo à l'Opéra”, ed. Arnaud Laster, L'Avant-Scène Opéra, no. 208 (2002).
  12. "Cette page utilise des cadres". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-22.
  13. "23 juillet - Festival Radio France et Montpellier Languedoc Roussillon - classique - concert - opéra La Esmeralda Louise Bertin - direction Lawrence Foster - Orchestre Nationa..." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-03-22.
  14. “Hugo et la musique” in Pleins feux sur Victor Hugo, Arnaud Laster, Comédie-Française (1981)
  15. "Festival Victor Hugo & Egaux 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-29. สืบค้นเมื่อ 2009-03-28.
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-06. สืบค้นเมื่อ 2009-03-28.

แหล่งอ้างอิงออนไลน์

แก้
  • Afran, Charles (1997). “Victor Hugo: French Dramatist”. เว็บไซต์: Discover France. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Grolier Multimedia Encyclopedia, 1997, v.9.0.1.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 11-13.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Hernani”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 20-23.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Hugo’s Cromwell”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 18-19.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bittleston, Misha (uncited date). "Drawings of Victor Hugo". เว็บไซต์: Misha Bittleston. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Burnham, I.G. (1896). “Amy Robsart”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Victor Hugo: Dramas. Philadelphia: The Rittenhouse Press, 1896. pp. 203-6, 401-2.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Columbia Encyclopedia, 6th Edition (2001-05). “Hugo, Victor Marie, Vicomte” เก็บถาวร 2008-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Bartleby, Great Books Online. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Haine, W. Scott (1997). “Victor Hugo” เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Encyclopedia of 1848 Revolutions. เว็บไซต์: มหาวิทยาลัยโอไฮโอ. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Illi, Peter (2001-2004). “Victor Hugo: Plays” เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: The Victor Hugo Website. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Karlins, N.F. (1998). "Octopus With the Initials V.H." เว็บไซต์: ArtNet. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Liukkonen, Petri (2000). “Victor Hugo (1802-1885)” เก็บถาวร 2014-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Books and Writers. เว็บไซต์: Pegasos: A Literature Related Resource Site. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Meyer, Ronald Bruce (2004). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: Ronald Bruce Meyer. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Robb, Graham (1997). “A Sabre in the Night”. เว็บไซต์: New York Times (Books). (Excerpt from Graham, Robb (1997). Victor Hugo: A Biography. New York: W.W. Norton & Company.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Roche, Isabel (2005). “Victor Hugo: Biography” เก็บถาวร 2008-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Meet the Writers. เว็บไซต์: Barnes & Noble. (จากฉบับพิมพ์คลาสสิกของ บาร์นส์แอนด์โนเบิล เรื่อง The Hunchback of Notre Dame, 2005.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. “Victor Hugo” เก็บถาวร 2007-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Spartacus Educational. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. “Timeline of Victor Hugo”. เว็บไซต์: BBC. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. (2000-2005). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: The Literature Network. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. "Hugo Caricature" เก็บถาวร 2002-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Présence de la Littérature a l’école. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้