วาด รวี

นักเขียนชาวไทย

วาด รวี ชื่อจริง รวี สิริอิสสระนันท์ (27 มิถุนายน พ.ศ. 2514 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565) เป็นนักเขียนชาวไทยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ เคยเป็นบรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดินและดำเนินงานสำนักหนังสือใต้ดิน[1] วาด รวี เคยเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำหน้าที่ได้ไม่นานก็ลาออกเนื่องจากความไม่ลงรอยในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสมาคมนักเขียน[2]

รวี สิริอิสสระนันท์
เกิด27 มิถุนายน พ.ศ. 2514
โรงพยาบาลหัวเฉียว กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (50 ปี)
โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาวาด รวี
อาชีพนักเขียน, บรรณาธิการ
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงเวลาพ.ศ. 2542 – 2563
แนวร่วมในทางวรรณคดีคณะนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยหัวก้าวหน้า ที่เชิญชวนให้ร่วมลงชื่อแก้ไข ม. 112 ในปี พ.ศ. 2554

วาด รวี เสียชีวิตลง โดยได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยการเปิดเผยของ วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชนผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน[3]

ประวัติ

แก้

วาด รวี มีชื่อเล่นว่า "เป้" เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2514[4] ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว โดยที่เชื้อสายฝั่งพ่อมาจากประเทศจีน ฝั่งแม่สืบเชื้อสายมาจากทหารเรือ (ทวด) เรียนระดับชั้นอนุบาลที่ YWCA ระดับเตรียมประถมที่โรงเรียนบุปผานุกุล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ระดับอาชีวศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ และระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ[5]

ระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไปเขากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนอยู่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาสนใจ จนทำทำให้เขาตัดสินใจเขียนหนังสือในระหว่างเรียน จึงเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้น และส่งไปตีพิมพ์ที่นิตยสารช่อการะเกด ที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการ หลังจากเขียนเรื่องสั้นส่งตีพิมพ์ได้ระยะหนึงจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเป็นหลัก และไม่เรียนหนังสือต่อ ออกมาเป็นนักเขียนอิสระ โดยเขียนทั้งเรื่องสั้น บทกวี ความเรียง และออกเดินทางโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง[6]

ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ด้านงานเขียนเลย วาด รวีจึงไปปรึกษากับ วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ทำให้วชิระมีแนวคิดในการจัดตั้งสำนักพิมพ์ใต้ดินขึ้นมา โดยให้วาด รวีเป็นผู้ร่วมงานในสำนักพิมพ์แห่งนั้น โดยบางคนระบุว่าเขาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ใต้ดิน ซึ่งกิจกรรมแรกที่เขาจัดคือการจัดงาน “ทางเลือกทางรอดของวรรณกรรมนอกกระแส” และเชิญคนในวงการวรรณกรรมนอกกระแสมาร่วมพูดคุย อาทิ เรืองเดช จันทรคีรี, จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์, วชิระ บัวสนธ์, รักษ์ มนัญญา บรรณาธิการดอกหญ้า[6]

จากนั้นเขาได้ออกมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing House) จดทะเบียนในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2544[7] โดยตีพิมพ์งานเกี่ยวกับ งานเขียนวิชาการเพื่อสาธารณะ และความรู้เรื่องสังคมการเมือง บทกวี เรื่องสั้น นิยาย เรียงความ บันทึก ประวัติศาสตร์ และงานแปลต่าง ๆ[8] โดยมีสโลแกนว่า กล้าที่จะรู้ ! กล้าที่จะแสดงความคิดและจินตนาการ !![7]

วาด รวี เป็นหนึ่งใน 7 นักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยหัวก้าวหน้า ที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนไทยทั่วประเทศ ให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้ยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวปิดกั้นการแสดงออกและความเห็นทางการเมืองในปี พ.ศ. 2554[5][9]

วาด รวี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ท่ามกลางความอาลัยของนักเขียน และนักกิจกรรมที่เคยร่วมงานด้วย โดยได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ณ วัดด่าน (พระราม 3) กรุงเทพมหานคร และฌาปณกิจในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[10]

ผลงาน

แก้

วาด รวี มีผลงานเขียนหลากหลายและตีพิมพ์สม่ำเสมอ เฉพาะผลงานที่รวมเป็นหนังสือเล่ม ได้แก่[11]

  • พ.ศ. 2542 รวมเรื่องสั้น เดนฝัน พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน
  • พ.ศ. 2544 เรื่องสั้น ปิดบริสุทธิ์ พิมพ์โดย สำนักหนังสือใต้ดิน
  • พ.ศ. 2546 รวมเรียงความ คิดสั้น พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2548 รวมเรื่องสั้น ชั่วขณะ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2549 รวมบทความ ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ open
  • พ.ศ. 2551 สารคดี Fighting Publisher ประวัตินักทำหนังสือกบฏฉบับใต้ดิน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ open
  • พ.ศ. 2552 ผลงานแปล บันทึกสงครามปฏิว้ติคิวบา ของ เช เกวารา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา
  • พ.ศ. 2554 วิกฤต 19, ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
  • พ.ศ. 2555 รวมบทความ ภูเขาน้ำแข็ง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2556 รวมเรื่องสั้น พื้นผิวของความทรมาน โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2557 รวมเรียงความ ในลวงใจ โดย สำนักพิมพ์ไชน์
  • พ.ศ. 2557 ผลงานแปลเรื่องสั้น ชายชรากับทะเล ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ โดย สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
  • พ.ศ. 2560 รวมบทความ การเมืองโมเบียส พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์[12]
  • พ.ศ. 2563 โอลด์รอยัลลิสต์ดาย พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไชน์[13]

อ้างอิง

แก้
  1. วาด รวี ผมวางมือจากสำนักหนังสือใต้ดินแล้ว. สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น. 24 ก.ค. 2555 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) Link
  2. วาด รวี แถลงลาออก กก.พานแว่นฟ้า แฉพฤติกรรมแก๊งค์นักเขียน. ประชาไท. 25 ก.ย. 2556 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) Link
  3. matichon (2022-05-14). "วงการวรรณกรรม เศร้า ร่วมโพสต์อาลัย การจากไปของ 'วาด รวี'". มติชนออนไลน์.
  4. "รวี สิริอิสสระนันท์ (วาด รวี) 27 มิถุนายน 2514 - 14 พฤษภาคม 2565". Facebook. 2022-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "THAIWRITER.ORG | วาด รวี" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. 6.0 6.1 "วาด รวี". www.praphansarn.com (ภาษาอังกฤษ).
  7. 7.0 7.1 "เกี่ยวกับสำนักพิมพ์ - Shine". Shine. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "สำนักพิมพ์ไชน์ - ศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย #ThaiBookFair". www.thaibookfair.com.
  9. "นักเขียนไทยนับร้อยร้องแก้มาตรา 112". www.posttoday.com. 2011-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-14. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.
  10. matichon (2022-05-14). "สวดอภิธรรมนักเขียนดัง 'วาด รวี' คืนแรก วงวรรณกรรม-นักเคลื่อนไหวยกย่องจุดยืนชัด ไม่แปรเปลี่ยน". มติชนออนไลน์.
  11. วาด รวี. ThaiWriter.org. 16 ก.ค. 2558 (เข้าถึง 2 มี.ค. 2563) http://www.thaiwriter.org/?p=1019
  12. "การเมืองโมเบียส". m.se-ed.com.
  13. โอลด์รอยัลลิสต์ดาย Old Royalists Die — วาด รวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-05-14.