ตรุษไทย

(เปลี่ยนทางจาก วันตรุษไทย)

ตรุษไทย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย โดยคำว่าตรุษนั้น เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าตัด หรือการสิ้นไป วันตรุษจึงถือเป็นวันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ โดยประเพณีนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคู่กับประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ตรุษไทย เป็นวันสิ้นปีของไทยแต่โบราณ จึงนิยมบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับและเพื่อเป็นมงคลแก่ตนในโอกาสขึ้นปีใหม่

โดยประเพณีตรุษไทย จะมี 2 วัน คือวันสิ้นนักษัตรเก่าและวันเริ่มนักษัตรใหม่ มีกำหนดคือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นนักษัตรเดิม และวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ถือเป็นวันเริ่มต้นนักษัตรใหม่ ตามการนับแบบจันทรคติ ตามอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชมพูทวีป และกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ราศีเมษตามการนับแบบสุริยคติที่ได้รับอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชาวตะวันตก

แต่แม้จะกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของไทย แต่เกณฑ์การเปลี่ยนปีนักษัตรก็ยังใช้วันตรุษเป็นเกณฑ์ เพราะแนวคิด 12 นักษัตรเป็นแนวคิดทางชาวเอเซียมานานเป็นพันปีแล้ว ซึ่งชาวเอเซียใช้หลักโหราศาสตร์ทางจันทรคติมาเก่าก่อน

ทั้งนี้ คนไทยแต่โบราณเชื่อว่าในวันตรุษนี้ เทวดาผู้ดูแลโลก ดูแลประเทศ ดูแลเมือง จะเปลี่ยนแปลงผู้มาทำหน้าที่ จึงควรจัดเทวตาพลีทำพิธีบรวงสรวงต้อนรับเทวดาที่มาใหม่และขอบคุณเทวดาที่เคยปกปักรักษา เช่น ทำข้าวแช่ เพื่อถวายพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมืองทรงเมือง พระเสื้อวัดทรงวัด เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่าถ้าสตรีได้กินข้าวแช่ที่เสสัง ลามาจากการถวายเทวดาเหล่านั้นแล้ว จะทำให้ได้บุตรธิดาที่หน้าตาดี แข็งแรงสุขภาพดี และฉลาดเฉลียว ถ้าหญิงที่ตั้งครรภ์กิน จะคลอดบุตรง่าย ปลอดภัย บุตรธิดาที่เกิดมาจะมีหน้าตาดี แข็งแรงสุขภาพดี ฉลาดเฉลียว หญิงที่มีลูกยากก็จะได้บุตรธิดาตามความปรารถนา

แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ ประเพณีการทำข้าวแช่เป็นเทวตาพลีจึงเปลี่ยนเป็นวันสงกรานต์แทน โดยประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ชาวมอญยังรักษาอยู่

ประวัติ แก้

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัย ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ [1] ซึ่งเรียกว่าวันตรุษ ซึ่งประเพณีวันตรุษไทยได้รับคติมาจากศรีลังกา ที่รับประเพณีวันตรุษซึ่งเป็นประเพณีเดิมของชนชาติทมิฬอีกทอดหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ เพื่อสร้างสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง


ภายหลังได้กำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันตรุษเป็นเพียงวันสิ้นปีเก่า จากอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากตะวันตก ที่วันปีใหม่คือวันที่เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ โดยราชสำนักไทยเรียกประเพณีตรุษนี้ว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์[2] โดยมีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบำเพ็ญกิจโดยเอนกปริยาย เพื่อขับไล่อัปมงคลและสร้างสิริมงคลแก่พระนครเนื่องในการขึ้นปีใหม่[3] โดยพระราชพิธีนี้ได้ปฏิบัติสืบมา และยกเลิกลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ราชอาณาจักรสยามกำหนดวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย[4] ต่อมาได้เปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล ในปี พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน แก้

เนื่องด้วยประเพณีตรุษ กำหนดวันโดยใช้ปฏิทินทางจันทรคติ ทำให้ส่วนใหญ่วันตรุษจะกำหนดลงในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งใกล้กับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบความสำคัญของวันตรุษไทยนี้ อย่างไรก็ตามวัดตามภาคกลางในประเทศไทยยังคงนิยมจัดประเพณีตรุษไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน ยังคงจัดเป็นสอง หรือสามวัน(คือวันแรม14 หรือ 15 ค่ำเดือน 4 และวันขึ้น 1ค่ำเดือน 5) ตามแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้บรรพชนผู้ล่วงลับ[5] โดย มีรูปแบบการบำเพ็ญกุศลเหมือนกับในวันธัมมัสวนะอื่น ๆ แต่ที่ต่างออกไปคือ พุทธศาสนิกชนที่มาบำเพ็ญกุศล มักนำขนมไทยคือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มมัด หรือกาละแม มาถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. (2513). นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.
  2. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2496). พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง , ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๒๗๕๑
  4. กรมศิลปากร. (2525). ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า131 132
  5. เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 60. ISBN 978-974-364-884-7

แหล่งข้อมูลอื่น แก้