วัดไทร (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

วัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดไทร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดไทร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

สันนิษฐานว่าสร้างวัดไทรขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยระหว่าง พ.ศ. 1300–1800 โดยเชื่อมโยงกับวัดกลางเก่าและวัดพระโยคที่อยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่พบโบราณวัตถุหลายชิ้น สำหรับวัดไทรพบพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินทราย ปัจจุบันประดิษฐานที่อุโบสถหลังใหม่ ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 ส่วนปฎิมากรรมในสมัยรุ่นเดียวกับวัตถุโบราณที่ปรักหักพังได้เก็บรวบรวมไว้ใต้ฐานอุโบสถ[1]

เดิมวัดไทรเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามีต้นไม้ใหญ่มากมายหลากหลายชนิดโดยเฉพาะต้นไทรซึ่งต่อมาเป็นที่มาของชื่อวัด สภาพภายในวัดมีกุฎิทรงไทยเพียงไม่กี่หลัง อุโบสถหลังเก่าชำรุดแต่ก็ยังพอเห็นร่องรอยของลวดลายของช่างฝืมือสมัยโบราณ เช่น หน้าบันและฝาผนัง เป็นต้น ช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยาวัดไทรเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติธรรม แต่ปรากฏว่าไม่มีการก่อสร้างหรือบูรณะถาวรวัตถุแต่อย่างใด นับตั้งแต่ พ.ศ. 2465 จนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้บูรณปฎิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพรุ่งเรืองจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ยึดเอาศาลาการเปรียญเป็นฐานบัญชาการรบครั้งนั้น

จุดเด่นของวัด คือ ศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 ในสมัยหลวงพ่อฉุย[2] หน้ากว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร สูง 18 เมตร สร้างกับไม้เคี่ยมและไม้หลุมพอ ทั้งหลัง เดิมเคยใช้เป็นศาลาการเปรียญและเป็นที่ตั้งโรงเรียน ธรรม รตน ศึกษา พ.ศ. 2476 สำหรับพระเณรได้ศึกษาหาความรู้ ภายในมีพระพุทธ เญยยอญฎิมา ประดิษฐานให้ประชาชนกราบไหว้บูชา ปัจจุบันได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดไทร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "คู่มือ 5 ศาลเจ้า 9 วัด plus 4 ปี 2". เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี. p. 26.
  3. "พบอาคารไม้100ปี-ระฆังสงครามโลก วัดไทร สุราษฎร์ฯเตรียมบูรณะทำแหล่งท่องเที่ยว". ไทยรัฐ. 3 กรกฎาคม 2560.