วัดโสธรวรารามวรวิหาร
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
วัดโสธรวรารามวรวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดหลวงพ่อโสธร |
ที่ตั้ง | ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี |
พระประธาน | หลวงพ่อพุทธโสธร |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง
ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ มีรูปทรงสวยงามมาก ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน
ประวัติ
แก้แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่น ๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระพรหมคุณาภรณ์ (จริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 [1]
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ [1] งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยนายประเวศ ลิมปรังษี งานด้านวิศวกรรมโครงสร้าง โดย สำนักออกแบบนายอรุณ ชัยเสรี[2]
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดที่มีผู้คนมาอธิษฐานขอพรกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีผู้คนแวะเวียนกันมาหนาแน่นตลอดทั้งวัน หากใครประสบผลสำเร็จในคำขอพร คำบนบาน ก็มักจะมาแก้บนกันด้วยไข่ต้ม หรือ ละครรำ แต่ไข่ต้มนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก จนทำให้การถือตะกร้าไข่ต้มในวัดแห่งนี้เป็นเรื่องปกติไปเลย
ทางวัดมีโซนจอดรถบริเวณด้านหลังวัด โดยมีพื้นที่จอดค่อนข้างกว้างขวาง สามารถรองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่หากมีผู้คนมาเกินกว่าที่พื้นที่ของทางวัดรองรับได้ ก็สามารถจอดรถฝั่งตรงข้ามที่เป็นส่วนของโรงเรียนได้
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้- พระอาจารย์อ้น ตั้งแต่ 2405–2412
- พระอาจารย์จู ตั้งแต่ 2412–2418
- พระอาจารย์ปาน ตั้งแต่ 2418–2450
- พระอาจารย์หลิน ตั้งแต่ 2458–2452
- พระอาจารย์กาด รักษาการตั้งแต่ 2482–2484
- พระครูอุดมสมณคุณ ตั้งแต่ 2484–2488
- พระมหาก่อ เขมทสฺสี ตั้งแต่ 2488–2492
- พระเขมารามมุนี ตั้งแต่ 2492–2502
- พระราชเขมากร ตั้งแต่ 2502–2506
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร รักษาการตั้งแต่ 2506–2507
- พระพรหมคุณาภรณ์ (เจียม) ตั้งแต่ 2507–2540
- พระราชมงคลวุฒาจารย์ (สุธีร์) ตั้งแต่ 2541–2547
- พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รักษาการตั้งแต่ 2547–2552
- พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) ตั้งแต่ 2552–2564
- พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รักษาการตั้งแต่ 2564 - 2565
- พระเทพภาวนาวชิรคุณ (ศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน) ตั้งแต่ 2565 - ปัจจุบัน
ระเบียงภาพ
แก้-
ตราประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (อย่างเก่า) แสดงภาพพระอุโบสถหลังเดิมของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
-
ตราประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (อย่างเก่า) แสดงภาพพระอุโบสถหลังเดิมของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
-
ตราลูกเสือประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา แสดงภาพพระอุโบสถหลังเดิมของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
-
ตราประจำจังหวัดฉะเชิงเทราแบบปัจจุบัน แสดงภาพพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
-
ภูมิทัศน์ด้านหลังของวัดโสธรวรวิหาร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 วัดโสธรวราราม วรวิหาร, กองบรรณาธิการ จดหมายข่าว วสท., ฉบับที่ 5 ตุลาคม 2551
- ↑ “โสธรวรารามวรวิหาร มงคลคู่แปดริ้ว,” D-Library | National Library of Thailand, accessed 18 ตุลาคม 2019, หน้าที่ 86 http://digital.nlt.go.th/digital/items/show/7350 เก็บถาวร 2019-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดโสธรวรารามวรวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์