วัดเสาธงทอง (จังหวัดลพบุรี)

วัดในจังหวัดลพบุรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดเสาธงทอง (ลพบุรี))

วัดเสาธงทอง เป็นวัด พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ที่ตั้ง ถนนฝรั่งเศส ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันมีพระครูสิริจริยาภรณ์ (ศิลปชัย สิปฺปชโย) ป.ธ.5 เป็นเจ้าอาวาส

วัดเสาธงทอง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเสาธงทอง
ที่ตั้งตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ไทย ประเทศไทย
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด สามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระประธานขนาดใหญ่และมีความเก่าแก่
ความพิเศษเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็น วัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
จุดสนใจพระอุโบสถและเจดีย์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ติดถนนฝรั่งเศส (Rule de France) ตรงข้ามตลาดสดเทศบาลเมืองลพบุรี ด้านหลังใกล้กับท่าขุนนางริมแม่น้ำลพบุรี ทิศเหนือ ใกล้กับบ้านหลวงรับราชทูต ทิศใต้ใกล้กับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เดิมแยกเป็น 2 วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็นต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า วัดรวกมีโบสถ์ ส่วนวัดเสาธงทองมีวิหารสมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกันและให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง เป็ฯวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งโบราณซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระวิหารหลวงและพระประธานเป็นฝีมือช่างแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยคงสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดเสาธงทองตั้งอยู่บนเนินดินที่สูงกว่าที่อื่น ๆ และตั้งอยู่ใจกลางเมืองลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 15ไร่ 1 งาน โดยรอบวัดมีถนนเข้าวัดทั้งสี่ด้าน

วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งเดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่นเพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของราชทูตชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนี้ ก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคโรซาน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย โดยตึกปิจู มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เล็ก ซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการ ส่วนตึกโคโรซาน เป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นตึกที่ใช้รับรองชาวเปอร์เซียที่มาพำนัก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 [1]

วิหารหลวง แก้

พระวิหารวัดเสาธงทอง เป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ศิลปะอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 วา สูง 4 วา 2 ศอก ถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านาน บริเวณของผนังพระวิหารเจาะเป็นช่อง ซุ้มโค้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะต่าง ๆ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร

พระเจดีย์ แก้

ตั้งอยู๋ระหว่างพระวิหารหลวงกับศาลาการเปรียญ มีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 9 วา สูง 17 วา ตรงกลางเหนือฐานขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปซุ้มละ องค์ 8 ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นทรงลังกา

พระอุโบสถ แก้

พระอุโบสถมีใบเสมา 2 ชั้น เป็นหินทรายสลัดลวดลายแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2470 เพระถูกไฟไหม้ ได้เทคอนกรีตเสริมเหล็กบนทั้งหลัง พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เนื้อในองค์พระเป็นศิลาทราย มีรูปั้นหุ้มไว้ เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา

หอระฆัง แก้

ก่ออิฐถือปูน ฐานกว้าง 2 วา สูง 5 วา (แต่เดิมมี 3 หอ ลักษณะเหมือนกัน แต่ถุกรื้อไป หอ คือหอทิศเหนือพระวิหารและกลางวัดส่วนระฆังนำไปแขวนที่หอระฆังใหม่ หน้าศาลาการเปรียญ 2 ใบ) คงเหลืออยู่หอเดียว เข้าใจว่าสร้างรุ่นเดียวกับพระวิหารหลวง

สิ่งของพระราชทานสำหรับวัดนี้ แก้

  1. ตู้พระไตรปิฎก และพรธไตรปิฎกฉบับสยามรัฐรัชกาลที่ 5 พระราชทาน
  2. ธรรมาสน์ชั้นตรี รั้ชกาลที่ 6 พระราชทานงานถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 5
  3. พระบรมรูปหล่อยืนในรัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องจอมพลทหารบก

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ไม่มีหลักฐานปรากฏ สำหรับเจ้าอาวาสตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบันมีดังนี้

  1. ท่านเจ้าอยู่
  2. พระครูสังฆภารวาหะ (ชื่น)
  3. พระครูสังฆภารวาหะ (เล็ก)
  4. พระสังฆภารวาหมุนี (เนียม)(พระราชาคณะ) ผู้กำกับการคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2457-2478)
  5. พระธรรมารามมุนี (ขุน)(พระราชาคณะ) ป.ธ 6 เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2478-2506)
  6. พระราชวรรณเวที (คล้อย) ป.ธ 6 (พระราชาคณะชั้นราช) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2506-2513)
  7. พระธรรมมหาวีรานุวัตร(สงวน โฆสโก) ป.ธ 7 (พระราชาคณะชั้นธรรม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2513- 2554)
  8. พระราชปัญญาโมลี (สมพร คนฺธาโร) ป.ธ.6 (พระราชาคณะชั้นราช) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2554-2566)
  9. พระครูสิริจริยาภรณ์ (ศิลปชัย สิปฺปชโย) ป.ธ.5 เจ้าคณะอำเภอเมืองลพบุรี รักษาการเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (พระอารามหลวง) (พ.ศ.2566-ปัจจุบัน)
 
ศาลาการเปรียญ, เจดีย์, วิหารหลวง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "วัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-21. สืบค้นเมื่อ 2009-12-31.