วัดเวียง (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

วัดเวียง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบันเป็นวัดที่มีภิกษุสงฆ์จำพรรษา ส่วนตัวโบราณสถานวัดเวียงนั้น มีการก่อสร้างวิหารของวัดทับจนไม่เห็นตัวโบราณสถานเดิม

วัดเวียง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

กรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1525 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2499[1] วัดเวียงตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยา พบร่องรอยของเมืองเก่าตั้งอยู่บนแนวสันทรายขนาดใหญ่เรียกว่า สันทรายไชยา สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 3–4 เมตร บริเวณกลางสันทรายมีศาสนสถานกระจายตัวเรียงกัน คือ วัดเวียง วัดหลง และวัดแก้ว

ภายในเมืองพบเศษเครื่องปั้นดินเผาทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบปะปนหลายสมัย มีตั้งแต่เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องลงมาปะปนกับเครื่องเคลือบสุโขทัยแสดงถึงความสัมพันธ์กับเมืองอื่น ๆ สืบเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา บริเวณที่ตั้งวัดเวียงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางของเมืองหรือวังที่ประทับของกษัตริย์ศรีวิชัยหรือศรวิชยาทรราชาโดยมีวัดเวียงเป็นวัดประจำเมือง [2]

โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 24 และหลักที่ 24 ก กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภานุศรีธรรมราช ผู้เป็นใหญ่ในเมืองตามพรลิงค์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์, จารึกหลักที่ 25 หรือพระพุทธรูปนาคปรกสำริด ที่ฐานมีจารึก กำหนดอายุอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปะเขมร จารึกที่ฐานระบุศักราช พ.ศ. 1726 กล่าวถึงพระเจ้าศรีมัตไตรโลกยราชมาลีภูษนวรรมเทวะโปรดให้มหาเสนาบดีผู้รักษาเมืองครหิหล่อพระพุทธรูปสำริดปิดทองขึ้น, พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ศิลปะอยุธยา สกุลช่างศรีวิชัยจำนวน 7 องค์ บนพระวิหารและผลจากการขุดค้น เมื่อ พ.ศ. 2524[3] จากหลักฐานดังกล่าว สันนิษฐานว่าบริเวณวัดเวียงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17–18

อ้างอิง แก้

  1. "รายงานทะเบียนวัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดเวียง". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "วัดเวียง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.