วัดเวฬุวนาราม (จังหวัดนครปฐม)

วัดในจังหวัดนครปฐม

วัดเวฬุวนาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

วัดเวฬุวนาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเวฬุวนาราม, วัดป่าไผ่, วัดหน้าไผ่, วัดไผ่แหลม, วัดแหลมชะอุย
ที่ตั้งตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูไพศาลกิตติวรรณ (ศรีวรรณ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเวฬุวนาราม เดิมชื่อ วัดป่าไผ่ วัดหน้าไผ่ วัดไผ่แหลม และ วัดแหลมชะอุย (ชะอุยแปลว่าไผ่) เดิมเคยเป็นสถานที่สำหรับคล้องช้าง[1] ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[2] ที่ตั้งเดิมเป็นที่ดอน กันดารน้ำ จนกระทั่งในสมัยหลวงพ่อพระครูสถาพรพุทธมนต์ เจ้าอาวาสได้ดำเนินการพัฒนา จนได้รับความสะดวกสบาย จนถึงปัจจุบัน เนื้อที่ตั้งวัด 90 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา[3]

ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อสำเนียงเก็บไว้ทั้งหมด หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร (พระครูสถาพรพุทธมนต์) เป็นพระที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านพุทธคุณและทางไสย มีความเมตตาใช้พลังจิตรักษาโรคให้กับญาติโยมที่เจ็บป่วยหายจากโรคมากมาย จนมีลูกศิษย์เคารพนับถือท่านเป็นจำนวนมาก ลูกศิษย์โดยเฉพาะกลุ่มนายทหารในกองทัพเรือจึงได้ช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์มณฑปแห่งนี้ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณความดีและผลงานของท่าน ภายในยังมีตู้เก็บร่างของหลวงพ่อสำเนียงไว้ในโลงสีทอง ด้านหน้าโลงสีทอง มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อ มีตู้กระจกบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กของสะสมของหลวงพ่อ มีมุมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน อัฐบริขารต่าง ๆ และตู้เก็บไม้เท้าของหลวงพ่อสำเนียง[4]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอาจารย์ชื้น ภิรมย์เมือง
  • พระอาจารย์อ๊อด
  • พระอาจารย์ต่อม
  • พระครูสถาพรพุทธมนต์ (สุขิโต) พ.ศ. 2493–2531
  • พระครูพิทักษ์เวฬุวัน (สุภธมฺโม) พ.ศ. 2532–2540
  • พระครูไพศาลกิตติวรรณ (ศรีวรรณ) พ.ศ. 2543

อ้างอิง แก้

  1. "วัดเวฬุวนาราม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดเวฬุวนาราม". พระสังฆาธิการ.
  3. "วัดเวฬุวนาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "พิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ (หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร)". พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย.