วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ริมคลองผดุงกรุงเกษมและแม่น้ำเจ้าพระยา พระอุโบสถของวัดได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและอยู่ในสภาพที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี โดยตกแต่งด้วยสีน้ำเงินทะเลเป็นหลัก ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชรฯ ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกสสร้างด้วยไม้สักทองตามแบบดั้งเดิมทั้งหลัง[1]
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร | |
---|---|
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อ | วัดเทวราชกุญชร |
ที่ตั้ง | ถนนศรีอยุธยา แขวงวิชรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธเทวราชปฏิมากร |
เจ้าอาวาส | พระศรีวชิรโมลี (พระราชสุธี) |
เว็บไซต์ | http://watdevaraj.org |
ประวัติแก้ไข
วัดเทวราชกุญชรเดิมเชื่อ วัดสมอแครง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าชื่อ สมอ มาจากต้นสมอที่ขึ้นกระจายอยู่ภายในวัด ในขณะที่บางกลุ่มมองว่สคำว่า สมอ น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากภาษาเขมร ถะมอ ที่แปลว่า หิน สมอแครง จึงแปลว่า หินแกร่ง[2] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดแห่งนีได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงเป็นต้นสกุลมนตรีกุล ตามลำดับ ในการบูรณะฯ นั้นได้รับการอุปถัมภ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ ต้นสกุลกุญชร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการอุปถัมถ์โเยตระกูลนี้สืบต่อมา
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกวัดให้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่แก่วัดว่า วัดเทวราชกุญชร ซึ่งแปลว่า ช้าง (กุญชร) ของพระอินทร์ (เทวราช)
เมื่อปี พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนามของพระประธานว่า พระพุทธเทวราชปฏิมากร และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งล้านบาทถ้วนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทางวัดได้นำพระราชทรัพย์ส่วนนี้มาปฏิสังขรณ์พระอุโบสถจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2556[3]