วัดสามชุก

วัดในจังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสามชุก ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ 1 ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ 20 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา อยู่เหนือที่ว่าการจังหวัดสุพรรณบุรี 34 กิโลเมตร ห่างจากถนนสุพรรณบุรี - ชัยนาท 600 เมตร เจ้าอาวาสปัจจุบัน พระครูสุวรรณวิจิตร สมจิตโต เป็นเจ้าคณะตำบลสามชุก และพระอุปัชฌาย์ วัดสามชุกเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด สิ่งที่เป็นหลักฐานว่าเป็นวัดเก่า คือ

  1. มณฑป เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง ยาวด้านละ 6 เมตร โดยประมาณ หลังคาเป็นทรงจั่วแต่มีสภาพ ค่อนข้างผุพังและทรุดตัวลงมาบางส่วน แต่เดิมภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทโลหะ ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเก็บไว้บนศาลาการเปรียญของวัด เมื่อพิจารณารูปทรงของอาคาร สันนิษฐานว่ามณฑปนี้คงสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
  2. รอยพระพุทธบาทสำริด เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑป แต่เนื่องจากมณฑปทรุดโทรม และถูกมิจฉาชีพลักตัดบางส่วนของรอยพระพุทธบาทไป ทางวัดจึงย้ายมาไว้ที่ศาลาการเปรียญ รอยพระพุทธบาทดังกล่าวมีขนาดกว้าง 85 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทซ้อนกัน 4 รอย (อันหมายถึงการประทับรอยพระบาทซ้ำกันของพระพุทธเจ้า 4 องค์ ในภัทรกัลป์นี้ โดยในแต่ละรอยทำเป็นลายตารางรูปมงคล 108 ประการ อยู่ภายใน กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ
  3. เจดีย์ อยู่ริมถนนด้านหน้าทางเข้าวัด เป็นลักษณะของเจดีย์ทรงกลม สภาพทรุดโทรมมาก
  4. พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานในมณฑป เป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา ปัจจุบันปฏิสังขรณ์และนำมาประดิษฐาน เป็นพระประธานบนศาลาการเปรียญ
  5. หงส์สัมฤทธิ์ 1 คู่ อดีตตั้งอยู่หน้ามณฑป ปัจจุบันอยู่ที่หอสวดมนต์ 1 ตัวและที่กุฏิพิพิธภัณฑ์ 1 ตัว จะมีงานปิดทองรอยพระพุทธบาทเป็นงานประจำปี
  6. หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมานาน
วัดสามชุก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสามชุก
ที่ตั้งหมู่ 3 ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระครูสุวรรณวิจิตร
กิจกรรมศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมเชิงพุทธตลอดปี
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติวัดสามชุก แก้

ทะเบียนวัดของสำนักงานศึกษาการอำเภอสามชุก ประมาณว่าสร้างราว พ.ศ. 2300 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดอัมพวัน มาเปลี่ยนเป็น วัดสามชุก ภายหลัง เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2481

ต่อมามีทายกชื่อ ก๋งกวย ซึ่งมีศรัทธาช่วยเหลือวัดอย่างแข็งแรงได้นำสร้างมณฑป เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และทุกปีจะมีงานปิดทองรอยพระพุทธบาท มีการตามประทีปโคมไฟกันอย่างสว่างมากมาย โดยใช้ตะเกียงเจ้าพายุและตะเกียงสมัยโบราณ เมื่อ 25 ปี ก่อนที่จะบูรณะกุฎิยังมีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไป

โรงเรียนวัดสามชุก ( หรือ ณ. ราษฎร์วิริยานุกูล ) เป็นโรงเรียนหลังแรกของอำเภอสามชุก ผู้ริเริ่มการสร้าง คือ พระมหาสมุน และกรรมการวัด ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ โดยสร้างที่เดิมของอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุด ผนังอุโบสถใช้เทปูน ไม่ใช่ก่ออิฐ พระมหาสมุน โอภาสี เป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของชาวบ้านส่วนมาก

ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทางเรือจะไปประทับที่ประตูน้ำสามชุก เมื่อผ่านมาถึงวัดสามชุก ได้เสด็จขึ้นทรงเยี่ยมวัดสามชุก ปัจจุบัน วัดสามชุก บูรณะซ่อมแวม มณฑปแล้ว และขอเชิญชวนท่านเที่ยวชมความงดงามที่ หลวงพ่อ สุวรรณวิจิตร และชาวสามชุกได้ช่วยกันพัฒนา ข้อมูลนี้ จาก ผู้ทำการศึกษาวัดสามชุก เพื่อทำปริญญานิพนธ์ ชื่อ นาย พอเพียง ทรัพย์อินทร์

อ้างอิง แก้