วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร [สัง-เวด-วิด-สะ-ยา-ราม][1] เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ที่แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดยังเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม และมีโรงเรียนมัธยมที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด

วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 110 ซอยสามเสน 1 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระเทพเวที (พล อาภากโร)
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005597
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2315[2] เดิมเรียกว่า วัดสามจีน ตามตำนานเล่าว่า ชาวจีน 3 คน ร่วมกันสร้างวัด ต่อมาเรียกชื่อวัดว่า วัดบางลำพู ตามชื่อตำบล ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดบางลำพูพระราชทานแก่นักชี พระอัยยิกาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำพุชฉัตร พระธิดา นักชีเป็นพระมารดาของเจ้าจอมมารดานักองค์อี พระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา[3] ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณะวัดใหม่ ได้ย้ายพระอุโบสถไปสร้างในสถานที่ตั้งปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้นายสุดปลัดกรมช่างหล่อ บูรณะพระประธานในพระอุโบสถแล้วพระราชทานนามวัดว่า "วัดสังเวชวิศยาราม"

ปี พ.ศ. 2412 วัดสังเวชวิศยารามประสบอัคคีภัย เหลือเพียงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆังล่าง หอไตรคณะล่าง ศาลาหน้าพระวิหารที่เป็นโรงเรียนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบัญชาการดับเพลิงที่สะพานข้ามคลองบางลำพู (สะพานฮงอุทิศ) และโปรดให้รื้อพระเมรุที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสร้างเป็นกุฏิและเสนาสนะต่าง ๆ แล้วโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาลดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะให้สมบูรณ์[4] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการปฏิสังขรณ์พระอารามใหม่ทั้งหมด มีปรับปรุงและก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในวัดเพิ่มเติม พร้อมกับมีการสร้างสะพานข้างคลองบางลำพู จากประตูช่องกุดเดิมเชื่อมต่อถนนทางเข้าวัด กล่าวได้ว่า ภายในวัดที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นงานช่างฝีมือสมัยรัชกาลที่ 6 ลงมา

อาคารเสนาสนะ แก้

 
เจดีย์ทรงปรางค์

พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงประเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้จีน ผนังภายในเขียนเป็นลายประแจจีน ดอกไม้ร่วง เพดานล่องชาดลอยดาวฉลุทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ พัทธสีมาอยู่ในซุ้มก่ออิฐถือปูนรูปมณฑป กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ขนาดสูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร

พระวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีพาไลหน้าหลัง หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เพดานล่องชาด ลอยดาวฉลุทอง วัดมีเจดีย์ทรงปรางค์ มี 8 องค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ มีลักษณะทั่วไปเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์[5] พระปรางค์องค์ใหญ่ล้อมรอบด้วยพระปรางค์องค์เล็ก 7 องค์ ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว

อาคารเสนาสนะอื่น ได้แก่ พระวิหารพระศรีอาริยเมตไตรย์ หอพระไตรปิฏก หอระฆัง

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระศีลพรหมจรรย์ (รอด) ปลายรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3
  • พระบวรวิริยเถร (อยู่) กลางรัชกาลที่ 3 ถึง พ.ศ. 2405
  • พระราชพันธุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์วอน) พ.ศ. 2405–2443
  • พระครูธรรมจริยาภิรมย์ (โป๋ ธมฺมโชติ) พ.ศ. 2444–2448
  • พระปลัดวัน (รักษาการเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2448–2451
  • พระวิสุทธิสังวรเถร (กล่อม) พ.ศ. 2451–2453
  • พระธรรมกิติ (เหม้น พรหมสอน) พ.ศ. 2455–2459
  • พระครูศีลคุณธราจารย์ (แนม ตงฺคสุวณฺโณ) พ.ศ. 2459–2461
  • พระญาณกิตติ (พัน) พ.ศ. 2462–2478
  • สมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสโก) พ.ศ. 2478–2520
  • พระราชรัตนโสภณ (จันทร์ จนฺทสิริ) พ.ศ. 2521–2533
  • พระธรรมสิทธิเวที (ถมยา อภิจาโร) พ.ศ. 2534–18 มิถุนายน 2564
  • พระเทพเวที (พล อาภากโร) พ.ศ.2564-ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "พระอารามหลวง". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  2. "พระสังฆาธิการ".
  3. จินดารัตน์ โพธิ์นอก. "วัดบางลำพู". เดลินิวส์.
  4. "วัดสังเวชวิศยาราม". หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-04. สืบค้นเมื่อ 2020-09-02.
  5. "เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม". พิพิธบางลำพู.