วัดสองพี่น้อง (จังหวัดชัยนาท)

วัดในจังหวัดชัยนาท

วัดสองพี่น้อง เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของเมืองสรรคบุรีใกล้กับวัดโตนดหลายและไม่ห่างไกลจากวัดมหาธาตุมากนัก ปัจจุบันหลงเหลือสิ่งก่อสร้างเพียงสองแห่งเท่านั้นคือเจดีย์ทรงปรางค์องค์หนึ่ง และเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีเรือนธาตุแปดเหลี่ยมอีกองค์หนึ่ง ชื่อของวัดสองพี่น้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสันนิธฐานว่า มาจากวัดสองวัดที่อยู่ติดกันมากกว่าวัดที่พี่น้องสองคนร่วมกันสร้างเนื่องจากเห็นกำแพงวัดเหลื่อมกันอยู่ [1]

วัดสองพี่น้อง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

สถาปัตยกรรม แก้

ปรางค์ประธาน แก้

พระปรางค์ประธาน ที่วัดสองพี่น้องมีรูปแบบโดยรวมจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น [2] มีส่วนที่พัฒนาไปขึ้นคือส่วนฐานที่ยืดสูงจนเกือบถึงครึ่งหนึ่งขององค์ปรางค์ ไม่พบการทำตรีมุข ทำเพียงซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออกซึ่งมีบันไดมุ่งเข้าสู่คูหาปรางค์ เรือนธาตุเตี้ยกว่าปรางค์ในยุคเดียวกัน ลักษณะที่น่าสนใจคือการทำหน้าบันซุ้มลด 2 ชั้น ตั้งอยู่แยกชั้นกับเชิงบาตรครุฑแบก คล้ายหน้าบันของปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ปรางค์หมายเลข 16ค วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ปรางค์วัดนครโกษา และปรางค์หมายเลข 8 วัดมหาธาตุอยุธยา เห็นได้ว่าการ ไม่ประดับหน้าบันบนชั้นเชิงบาตรครุฑแบกนั้นพบมากที่เมืองลพบุรี การปรากฏลักษณะร่วมกันเช่นนี้ แสดงถึงความใกล้ชิดกันทางเชิงช่าง และเมื่อพิจารณาประกอบกับลวดลายปูนปั้นบางลาย เช่น ลาย กรวยเชิง เฟื่องอุบะ ซึ่งเป็นลายกระหนกซ้อนทับกันและมีปริมาตรนูนหนา ก็คงได้แรงบันดาลใจไป จากเมืองลพบุรีด้วยเช่นกัน แต่พัฒนาการของชั้นประดับลายจัดอยู่ในระยะที่ 2 เช่นเดียวกับเจดีย์ประจำมุมทรงปราสาทยอด วัดพระราม และพัฒนาการของลวดลายก็เป็นลายแบบไทยแล้ว

เทคนิคการก่อสร้างบางประการที่แตกต่างไป คือ การโกลนกลีบขนุนจากศิลาแลง ในขณะที่ปรางค์ในยุดต้นอยุธยาใช้อิฐในก่อกลีบขนุน ทำให้นึกถึงงานในศิลปกรรมในเมืองลพบุรี ทั้งปรางค์สามยอด และปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ที่ใช้ศิลาแลงก่อสร้างทั้งองค์ รวมถึงกลีบขนุนด้วย แม้งานซ่อมในชั้นหลังจะใช้อิฐแทนก็ตาม ช่างจึงอาจได้เทคนิคมาจากเมืองลพบุรี ก็เป็นได้

พระพุทธรูปปูนปั้นในจระนำของปรางค์ประธาน คือพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ใน จระนำด้านทิศตะวันตก มีพระพักตร์แบบอู่ทองรุ่นที่ 2 และพระพุทธรูปลีลาแบบสุโขทัย ประดับในซุ้มด้านทิศใต้ เป็นหลักฐานสำคัญคือ การปรากฏพระพุทธรูปลีลาอันเป็น เอกลักษณ์ของพุทธศิลป์สุโขทัยบนเจดีย์ทรงปรางค์อันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับ การปรากฏเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมวัดโตนดหลาย การปรากฏพระพุทธรูปแบบอู่ทองของทางภาคกลางร่วมกับพระพุทธรูปลีลาแบบสุโขทัยคงเป็นการยืนยันได้ดีถึงอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่ผสมอยู่ใน ศิลปะเมืองสรรคบุรีอยู่มาก ซึ่งพื้นฐานเดิมของเมืองสรรคบุรีคืองานช่างที่สัมพันธ์กับเมืองสุพรรณบุรี และลพบุรีมาก่อน ยิ่งพิจารณางานศิลปกรรมจากวัดอื่นๆ ในเมืองเดียวกัน ได้แก่ วัดพระแก้วซึ่งเป็น วัดใหญ่สำคัญทางฝั่งอรัญญิก วัดมหาธาตุ วัดโตนดหลาย ทุกวัดที่กล่าวนี้ล้วนปรากฏงานในอิทธิพล ศิลปะสุโขทัยทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้แสดงความยืดหยุ่นที่ไม่เคร่งครัดกับรูปแบบและนำมาปรับให้เข้ากับ รสนิยมของตนเอง จนเกิดงานช่างที่มีรูปแบบเฉพาะของเมืองสรรคบุรี

อ้างอิง แก้

  1. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ. (2551). ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมณฑลฝ่ายเหนือ ร.ศ.120. พิษณุโลก : สาขาประวัติศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
  2. โทโมฮิโตะ ทะคะตะ. (2549). แบบอย่างเจดีย์ในเมืองสรรคบุรี กับการสะท้อนความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.