วัดสระแก้วปทุมทอง

วัดในจังหวัดพิษณุโลก

วัดสระแก้วปทุมทอง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 79/1 ถนนศรีธรรมไตรปิฎก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

วัดสระแก้วปทุมทอง
ภาพถ่ายทางอากาศวัดสระแก้วปทุมทอง
(พ.ศ. 2530)
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสระแก้วปทุมทอง
ที่ตั้ง79/1 ถนนศรีธรรมไตรปิฎก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
พระประธานสมเด็จพระแก้วมณีโชติ
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธมหาศิลามงคล พระศิลาแลง
เจ้าอาวาสพระสำราญ กตสาโร รองเจ้าอาวาส รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ความพิเศษเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2509

เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น พ.ศ. 2513

และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างต้นแบบ พ.ศ. 2519
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พ.ศ. 2509 – 2511 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นวัดแรกของจังหวัดพิษณุโลก

พ.ศ. 2513 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพัดพัฒนา แก่วัดสระแก้วปทุมทอง ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น เป็นวัดแรกของจังหวัดพิษณุโลก

พ.ศ. 2519 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศรับรองให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างต้นแบบ

ประวัติวัดสระแก้วปทุมทอง แก้

จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่ถูกขุดพบพอสรุปได้ว่า วัดสระแก้วปทุมทอง เดิมชื่อ วัดไตรภูมิ เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองพิษณุโลก (นครสรลวงสองแคว) มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 -22 ในสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ตัววัดตั้งอยู่กลางสระน้ำโบราณชื่อว่า สระแก้ว ซึ่งมีหลักฐานเอกสารงานพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากเอกสารดังกล่าวมานี้ จึงพอสรุปสภาพของวัดสระแก้วปทุมทอง (วัดไตรภูมิ) ได้ว่า

สระแก้ว เดิมมีสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่ มีคลองขุดเพื่อทดน้ำจากสระไปใช้เพื่อการเกษตรหลายสาย ภายในสระมีบัวหลวงขึ้นอยู่เต็มสระ โดยกลางสระมีเกาะสองเกาะ เกาะแรกมีพระวิหารอยู่หนึ่งหลัง เกาะที่สองเป็นวัดชื่อ วัดไตรภูมิ มีพระอุโบสถแบบอุทกสีมา ทั้งสองเกาะมีสะพานทอดเข้าหากัน

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 – 2472 พระอาจารย์โส โสภโณ นายลก สร้อยเพชร และนายไสว สร้อยเพชร ร่วมกันสร้างและบูรณะวัดไตรภูมิพระร่วง และตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า วัดสระแก้วปทุมทอง ซึ่งมีเรื่องเล่าเป็นตำนานของชาวชุมชนสระแก้วประกอบประวัติการสร้างวัดไว้ ว่า “อันที่จริงแล้วหลวงพ่อโส โสภโณ รูปนี้เป็นพระธุดงค์ได้เดินทางธุดงค์ผ่านลงมาจากจังหวัดเลยมายังจังหวัด พิษณุโลก และได้แวะพักปักกรดบริเวณตำบลสระแก้วนี้ ในราตรีหนึ่งได้บังเกิดศุภนิมิตว่าบริเวณนี้เป็นวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี รุ่งเช้าจึงได้เดินสำรวจ และพบเนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฐานพระอุโบสถเก่า จึงแจ้งเรื่องราวดังกล่าวแก่เจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงถวายที่ดินให้สร้างเป็นวัดสระแก้วปทุมทอง เมื่อปี พ.ศ. 2467”

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แก้

คำว่า นครสรลวงสองแคว เดิมนักวิชาการต่างเข้าใจกันว่า คือ เมืองพิจิตร ต่อมานักวิชาการปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า เมืองสระหลวงกับเมืองสองแควเป็นเมืองเดียวกัน คือ เมืองสรลวงสองแคว ซึ่งเป็นเมืองแฝดด้านตะวันออกของแม่น้ำน่าน หรือ แควใหญ่ ของเมืองพิษณุโลก ความเห็นโดย นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของกรมศิลปากร

คำว่า สรลวงสองแคว ประกอบด้วยคำว่า สร + ลวง + สอง + แคว

สร (บาลี) แปลว่า น้ำ หรือสระน้ำ

ลวง แปลว่า ทาง หรือเส้นทาง

สอง แปลว่า สอง หรือเลข 2 (แปลตรงตัว)

แคว แปลว่า ลำน้ำที่ไหลมารวมกับลำน้ำอีกสายหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่พอ ๆ กัน

แปลรวมกันได้ว่า เมืองที่มีสายน้ำสองสายมารวมกันตรงนี้ [1]

สระแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่ โดยเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ซึ่งอยู่ติดกับกำแพงเมืองตรงปากประตูทวายห่างจากประตูเมืองประมาณ 100 เมตร ตัวบึงเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ (ชาตสระ) ซึ่งมีอยู่ก่อนสร้างนครสรลวงสองแคว (เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน) กลางสระแก้วมีเกาะสองเกาะและมีวัดชื่อ วัดไตรภูมิ ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เฟื่องฟูอย่างมาก ประกอบกับพระองค์เองก็ทรงรอบรู้และแตกฉานในพระไตรปิฎก ด้วยสาเหตุนี้เองพระองค์จึงตั้งชื่อบึงน้ำแห่งนี้ว่า สระแก้ว ซึ่งเป็นชื่อสระน้ำในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ไตรตรึงษ์)

จากหลักฐานพงศาวดาร ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า

...ลุศักราช 914 ปีชวด จัตวาศก [พ.ศ. 2095] เดือน 12 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก ก็ยกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหินทราธิราชเสด็จขึ้นผ่านพิภพไอสุริยสวรรยาธิปัตย์ถวัลราชประเพณีครั้นเมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิ์แก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่ง การแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชามาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องกระทำตามทุกประการ ก็ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย จึงเอาความนั้นไปกราบทูลสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกก็น้อยพระทัย ขณะนั้นพระยารามออกที่กำแพงเพ็ชรเอามาเป็นพระยาจันทบูร สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ตรัสกิจการทั้งปวงด้วยพระยารามเป็นความลับ แล้วก็ส่งข่าวไปแก่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต [​พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช​] ให้ยกมาเอาเมืองพระพิษณุโลก เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบข่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจะยกทัพมาชิงเมือง มิได้แจ้งกล ก็ส่งข่าวมาทูลแก่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน ก็ให้พระยาศรีราชเดโช และพระท้ายน้ำขึ้นไปช่วย แต่ส่งไปเป็นความลับไปว่า ถ้าทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตล้อมเมืองพระพิษณุโลกเมื่อใดก็ให้คุมเอาพระมหาธรรมราชาจงได้ เสร็จราชการแล้วจะเลี้ยงเสียให้ถึงขนาด พระยาศรีราชเดโชไปถึงเมืองพระพิษณุโลกก็มิไว้ความลับ กลับเอาคดีซึ่งพระยารามกับสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินคิดการเป็นความลับนั้น ทูลแถลงแก่พระมหาธรรมราชาทุกประการ พระมหาธรรมราชาแจ้งตระหนักก็ให้ข้าหลวงเอาข่าวรุดขึ้นไปทูลแก่พระเจ้าหงสาวดี [​พระเจ้าบุเรงนอง​]

ฝ่ายพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตก็ยกช้างม้ารี้พลประมาณ 20 หมื่นมาโดยทางนครไทย มายังเมืองพระพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาก็ให้กวาดครัวเมืองนอกทั้งปวงเข้ามาในเมืองพระพิษณุโลก และก็แต่งการที่จะกันเมืองไว้พร้อมเสร็จ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาถึงเมืองพระพิษณุโลก เดือนยี่ แรม 13 ค่ำ ปีฉลู เบญจศก [พ.ศ. 2096] ก็ตั้งทัพพลับพลาชัยในตำบลโพเรียง ตรงประตูสวรรค์ ไกลออกไปประมาท 50 เส้น

ทัพพระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้าตั้ง ตำบลเตาไห

ทัพพระยามือไฟตั้ง ตำบลวัดเขาพราหมณ์

ทัพพระยามือเหล็กตั้ง ตำบลบางสะแก

ทัพพระยานครตั้ง ณ ตำบลสระแก้ว [สระแก้วคือจุดนี้]...

จากข้อความในพงศาวดารดังกล่าวมานี้ทำให้ทราบว่า สระแก้ว เป็นสระน้ำท้ายเมืองพระพิษณุโลกด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือด้าน โอฆบุรี โดยคำเรียกว่า สระแก้ว ได้ถูกเรียกสระน้ำนี้มากันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะเรียกกันมาตั้งแต่สร้างเมืองพิษณุโลก (สมัยสุโขทัย) หรือก่อนสร้างเมืองก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราได้รู้ว่าสระน้ำนี้ชื่อ “สระแก้ว” สระแก้วเป็นสระน้ำโบราณปัจจุบันร่องรอยที่เหลือคือสระน้ำตรงด้านทิศตะวันออกของวัดสระแก้วปทุมทอง หรือด้านในของโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟจังหวัดพิษณุโลก ลงไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ความสำคัญของ “สระแก้ว” ที่ได้สำรวจพบจากเอกสารงานพระราชนิพนธ์และหลักฐาน ต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ มีดังนี้

งานเอกสารจากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 เรื่องเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พุทธศักราช 2444 (ฉบับที่ 14)[2]

วันที่ 20 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 120

ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ

“…ทาง 20 เส้น ถึงสระแก้วซึ่งอยู่ท้ายเมืองพิษณุโลก ที่นี้ทีจะเป็นที่ประพาสเดิมมีหนองใหญ่เป็นป่ารอมวงนอกนั้นวัดโดยรอบประมาณ 50 เส้น มีสนุ่นเต็ม เขาตัดเป็นที่ว่างตรงกลางปลูกบัวหลวง แล้วตัดเป็นคลองออกไปจนถึงป่าหลายสาย ทางที่จะลงบึงนั้นขุดเป็นคลองซอกแซกทำนองประทุมวัน มีวิหารตั้งอยู่ในที่เกือบจะเป็นเกาะ เหมือนกัน 2 วิหาร มีพระพุทธรูปใหญ่แต่ร้าง คลองทั้งปวงนี้เป็นของขุดไว้แต่เดิมทั้งสิ้น ดูเป็นที่เล่นใหญ่โตกว่าปทุมวันหลายเท่า ท่วงทีจะสนุกมาก…”

สยามินทร์

งานพระนิพนธ์ พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2444[3]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

วันที่ 31 เวลาเช้า 2 โมง 10 นาที ข้ามฟากไปขึ้นท่าวัดขี่ม้าไปดูสระแก้ว ทางสักร้อยเส้น

“…สระแก้วนั้น อยู่หลังเมืองซีกตวันออก ตัวสระเปนบึงใหญ่ แต่กบิปิดน้ำเสียหมด แลไม่ใคร่เห็นน้ำ ริมบึงมาข้างกำแพงเมืองขุดทางน้ำลดเลี้ยวไว้ดินเปนเกาะเปนทางมายืดยาว กลางเกาะหมู่เหล่านั้นมีวัดอยู่ในเกาะ วิหารเกาะหนึ่ง เจดีย์เกาะหนึ่ง แลเปนฐานอิฐๆ อะไรอีกเกาะหนึ่งก็ไม่ทราบ ที่แลเห็นแต่เท่านี้ บางทีจะมีอะไรอีกที่เห็นไม่ได้ เพราะรกนัก

สระแก้วนี้ ไม่ใช้อื่นไกล คือเปนที่เล่นเรือในฤๅดูน้ำตามธรรมเนียมแต่ก่อน เช่นภูเขาทองกรุงเก่า แลมหานาควัดสะเกษกรุงเทพนั้นเอง ที่นี่ได้กะไว้เปนที่ประพาศแห่งหนึ่ง ดูแล้วกลับทางเดิม ตามทางที่ไปมานี้เปนทางเก่า มีวัดร้างตามทาง เห็นจะหลายวัด ฤๅวัดเดียวใหญ่ สังเกตไม่ถนัดเพราะขี่ม้ารีบ แลเมื่อกลับมา แวะเลียบกำแพงเมืองไปเพื่อดูกำแพงป้อมแลประตู ได้เห็นป้อมริมน้ำแห่งหนึ่ง ไม่เห็นอะไร เห็นแต่ที่กลม ๆ แล้วผ่านประตูไปแห่งหนึ่งเห็นแต่ช่องไม่มีซุ้ม รกเข้าไม่ได้ พระยาเทพาว่า ประตูทวาย [ศาลพ่อปู่ดำ] …”

หลักฐานจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2525 – 2535 แก้

สระแก้วเป็นสระน้ำโบราณที่มีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ เป็นที่มีน้ำขังมีป่าไม้มีคลองซอยขุดลดเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้าน ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “...ทางที่จะลงบึงนั้นขุดคลองซอกแซก…” และนิพนธ์ของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กล่าวว่า “…ริมบึงมาข้างกำแพงเมืองขุดทางน้ำลดเลี้ยวไว้ดินเปนเกาะเปนทางมายืดยาว…” จึงพอจะศึกษาอาณาเขตของสระแก้ว ได้ดังนี้

  • ทิศเหนือ จดสถานีตำรวจภูธรและสถานีรถไฟจังหวัดพิษณุโลก ศาลพ่อปู่ดำ หรือป้อมกำแพงเมืองเก่า (ประตูทวาย)
  • ทิศใต้ มีพื้นที่ต่อจากเขตโรงพยาบาลพุทธชินราชออกไปทางใต้ ประมาณ 100 เมตร (สะพานข้ามทางรถไฟ (ทรัพย์อนันต์) ลงไป 100 เมตร)
  • ทิศตะวันออก จดพื้นที่แขวงการทางและหน้ามหาลัยนเรศวรส่วนสนามบิน (มอใน)
  • ทิศตะวันตก จดวัดสระแก้วปทุมทองหน้าโรงพยาบาลพุทธชินราช (หลังวัดพอดี)

ภายในสระแก้วมีเกาะขนาดใหญ่สองเกาะ ในเกาะมีวัดมีวิหารมีเจดีย์ ต่อมาได้ถูกรื้อทำลายซากปรักหักพังของโบราณสถานเดิม แล้วสร้างอาคารโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม ครั้นเมื่อย้ายโรงเรียนไปตั้งที่อื่น จึงได้สร้างโรงพยาบาลพุทธชินราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขึ้นมาแทน ซึ่งเดิมวัดได้ตั้งอยู่ ณ จุดนั้นแล้วได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน คือ ด้านท้ายสระ

ต่อมามีการสร้างทางรถไฟสายเหนือตัดแบ่งสระแก้วออกเป็นสองส่วน ด้านทิศตะวันออกได้ถูกประชาชนยึดครองจนสระแก้วหายไปในที่สุด ด้านทิศตะวันตกมีการจับจองพื้นที่ปลูกอาคาร ร้านค้า และโรงพยาบาลพุทธชินราช

สภาพสระแก้วในปี พ.ศ. 2525 – 2529 ได้มีการพัฒนาขุดลอกสระแก้วปลูกบัวซึ่งเป็นการสร้างทัศนียภาพที่ดี ทำให้กลายเป็นแหล่งที่ประชาชนชาวพิษณุโลกและ คนป่วยในโรงพยาบาลนิยมไปนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติริมสระแก้วในยามเช้าเย็น แต่ใน ปี พ.ศ. 2530 – 2535 สภาพสระถูกปล่อยปละละเลยจนเกือบไม่เห็นสภาพมีริมสระ ถูกปล่อยเป็นที่ทิ้งขยะทั่วไป [4]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์รำพึงถึงสระแก้วในขณะนั้นว่า[5]

…วันที่ 6 มีนาคม [พ.ศ. 2451] เวลาเช้า 4 โมงออกจากที่พักริมที่ว่าการมณฑลพิษณุโลก ลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่วัดบรมธาตุขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชแล้วไปพักรถไฟ ขึ้นรถไฟพิเศษออกจากเมืองพิษณุโลกเวลา 4 โมง 45 นาที ทางรถไฟผ่านไปทางสระแก้วซึ่งได้เคยเห็นเป็นบึงใหญ่ มีน้ำเติม เห็นครั้งนี้น้ำแห้งหมด แต่ก่อนเคยเป็นที่งามแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่สกปรก นี่แหละผลได้ทางหนึ่งก็เสียทางหนึ่ง…

สภาพของสระแก้วที่ปรากฏในหลักฐานบทนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ตรัสไว้ในเอกสารเรื่อง “เที่ยวตามทางรถไฟ”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงสภาพความสวยงามความสำคัญของสระแก้วว่า [6]

…สระแก้วอยู่นอกเมืองพิษณุโลก ทางด้านตะวันออก คือตรงที่บริเวณสถานีรถไฟบัดนี้เดิมมีสระแลเห็นจะมีตำหนักเป็นที่ประพาสของเจ้านายที่ครองเมืองพระพิษณุโลกคล้ายๆ กับสระปทุมวันที่กรุงเทพฯนี้ และว่าเป็นที่ทำพิธีสรงสนานเวลามีชัยชนะข้าศึกด้วย เมื่อก่อนทำทางรถไฟยังมีสระและเกาะกลางสระเหลืออยู่พอเห็นเป็นเค้าบาง…

การถูกทำลายของสระแก้วในอดีต เพียงปล่อยให้น้ำแห้งและรกแต่ยังคงเหลือร่องรอยของสระแก้ว สระแก้วในอดีตถึงฤดูน้ำเคยถูกใช้เป็นที่เล่นเรือตามประเพณีธรรมเนียมแต่ก่อน เช่น ภูเขาทอง กรุงเก่า และพบหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์ไทยเคยเสด็จประพาสเล่นเรือในสระแก้ว ๆ มีตำหนักและมีที่สรงสนานหลังจากการไปทำศึกสงครามเสร็จด้วย และสระแก้วก็ยังเคยเป็นที่ตั้งทัพทำศึกสงครามมาก่อน

หลักฐานฝ่ายอดีตของสระแก้ว แก้

สระแก้ว เป็นสถานที่สำคัญมาแต่ครั้งโบราณกาลแลเคยเป็นที่สรงสนานแห่งสมเด็จพระนเรศวรเจ้า แลพระเอกาทศรสเจ้า แลพระราชวงศ์ผู้ครองเมืองพระพิษณุโลกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ น้ำในสระแก้วเคยได้ใช้ใน การพิธีอภิเษก น้ำอภิเษกจากจังหวัดพิษณุโลก มีอยู่ 3 แห่งคือ [7]

  1. น้ำทะเลแก้ว
  2. น้ำสระแก้ว
  3. น้ำสระสองห้อง อยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังจันทร์ บริเวณนอกกำแพงวัง ปัจจุบันอยู่นอกรั้วของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (เก่า) เดิมชาวบ้านเรียกว่า "หนองสองห้อง" เป็นที่ประทับสำราญพระทัยของพระมหากษัตริย์ ในยามที่เสด็จมาประทับที่พระราชวังจันทร์ ปัจจุบันสระสองห้องขาดการปรับปรุงดูแล ทำให้ทรุดโทรมไปมาก มีหญ้าปกคลุมบริเวณขอบสระเต็มไปหมด ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 15.49 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้กระทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่สระสองห้อง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 สำหรับสระสองห้องอยู่ภายในบริเวณพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นสถานที่สำคัญที่นำน้ำไปประกอบพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี

สระแก้ว เป็นสระใหญ่ อยู่นอกเมืองพิษณุโลกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่เดิมสระนี้มีน้ำขังอยู่เสมอ มีทางไขน้ำเข้าออกจากแม่น้ำน่าน และมีเกาะกลางสระเหลืออยู่ พอเห็นเค้ามูลได้บ้าง แต่เมื่อสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านสระนี้แล้ว สระนี้ก็ตื้นเขิน กลายเป็นที่ทำนาได้ในบัดนี้ แต่โบราณมีตำหนักเป็นที่ประทับประพาสของเจ้านายที่ครองเมืองพิษณุโลก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็เคยเสด็จประพาสเกาะนี้ กล่าวกันว่า “เป็นที่ทำพิธีสรงสนานของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีชัยชนะข้าศึกในครั้งโบราณ” ทางราชการได้พลีกรรมเอาน้ำในสระแก้วนี้ไปทำน้ำอภิเษกภูมิภาค เพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกมาทุกรัชกาล แต่ปัจจุบันสระนี้ตื้นเขินสกปรก จึงงดใช้น้ำจากสระแก้วนี้

และยังมีวัดอันสันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) สร้างไว้ โดยโปรดให้สร้างวัดนี้โดยมีพุทธาวาส (พระอุโบสถ) เป็นแบบอุทกเสมา (มีน้ำล้อมรอบวัด) ทั้งสิ้น แบบอย่างวัดในพระราชธานีศรีสุโขทัยเดิม เช่น วัดกระพังทอง และวัดกระพังเงิน

เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 1 โปรดให้สร้างแล้วเสร็จโปรดให้สถาปนาวัดนั้นว่า วัดไตรภูมิ (พระร่วง) ซึ่งเป็นนามตามหนังสือที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ และสันนิษฐานจากสภาพของลักษณะวัดเป็นลักษณะที่เป็นเกาะกลางน้ำตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยเสด็จประพาส ณ สระแก้ว แต่พระราชนิพนธ์นั้นก็มิได้กล่าวว่าวัดนี้ชื่ออะไร สร้างขึ้นเป็นแบบใด เพียงกล่าวว่าเป็นเกาะมีอุโบสถ และวิหารเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงลงไปว่าเป็นแบบอุทกเสมา (แต่จากพระราชนิพนธ์เมื่อเทียบกับพุทธานุญาตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องการสร้างพระอุโบสถแล้วสรุปได้ว่า ลักษณะวัดอย่างนี้มีอยู่ลักษณะเดียวเท่านั้น จึงอาจสรุปว่าเป็นแบบอุทกเสมา ซึ่งลักษณะนี้นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย หรืออาจจะเลียนแบบจากสุโขทัยก็ได้) เหตุที่กล่าวว่าพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นผู้สร้างถวายไว้ ก็เพราะพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นผู้พระราชนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถา เมื่อ พ.ศ. 1896 แล้วพระองค์ได้สร้างเมืองพระพิษณุโลกด้วย ผู้เขียนจึงคาดคะเนว่าเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นผู้สร้างวัดไว้พร้อมเมืองแล้วสถาปนาวัดว่าไตรภูมิพระร่วงตามหนังสือที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เหตุที่ทรงสร้างไว้อาจจะเป็นเพราะว่าเพื่อเป็นที่สรงสนานแห่งพระราชวงศ์ผู้ครองเมืองพระพิษณุโลกในภายแรก ต่อมาจึงสร้างเป็นวัด แต่ภายหลังจากนั้นก็มีการใช้สระแก้วเป็นสถานที่สรงสนานยามเสร็จศึกสงครามกันจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ดังเห็นได้จากคำกล่าวไว้ในเรื่องน้ำอภิเษกจังหวัดพิษณุโลก หรืออาจจะมีผู้ครองเมือง เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร หรือเจ้าเมืองพระนครพระองค์อื่นสร้างวัดไว้แล้วไม่มีการจดบันทึกว่าสร้างเมื่อใด สร้างไว้ทำไม สร้างไว้แล้วจึงยืมชื่อมาใช้ก็เป็นได้

แต่สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การสร้างวัดในอดีตนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจ เงินตรา และอำนาจกำลังพล หรือถึงขนาดเจ้าเมือง เจ้าพระยาเท่านั้นจึงจะสร้างวัดได้ ชาวบ้านตาดำๆ ในสมัยนั้นคงไม่มีกำลังเงินตรา และกำลังกายในการสร้างวัด ซึ่งไม่เหมือนในสมัยปัจจุบัน

ในเรื่องการสร้างวัดไตรภูมิก็ยังคงเป็นการสันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ 1 สร้างไว้ในสมัยกรุงสุโขทัยเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันเรื่องนี้อย่างแน่นอน ทั้งยังไม่มีหลักฐานทางโบราณวัตถุ และโบราณสถานฝ่ายอดีต มีเพียงเอกสารงานพระราชนิพนธ์เท่านั้นที่จะสรุปได้ว่า วัดสระแก้วปทุมทองเป็นวัดเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรืออยุธยา แต่ด้านอายุคงไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยา เพราะสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 6 ยังมีซากโบราณสถานให้เห็นอยู่ว่าสร้างมานานมาก เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สระแก้ว และวัดไตรภูมิกลายเป็นเขตเทศบาลเมืองในปัจจุบัน และได้มีการเข้ามาจำจองเป็นเจ้าของ สร้างอาคาร ร้านค้า จนถึงสถานศึกษา โรงพยาบาล เป็นต้น จนไม่สามารถเห็นสถานที่จริงตามงานพระราชนิพนธ์ได้เลย

และเคยมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตที่สระแก้วนี้เคยมีศาลเจ้าพ่ออยู่ศาลหนึ่งชื่อ ศาลเจ้าพ่อสระแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าที่ดังเดิมมาก่อน ตั้งแต่ยังไม่บูรณะวัดสระแก้วปทุมทอง หรือ วัดไตรภูมิ ในสมัยหลวงพ่อโส เจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งศาลนี้ถ้าสันนิษฐานแล้วน่าจะตั้งอยู่บริเวณภายในโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ซึ่งในอดีตศาลเจ้าที่วัดจะต้องอยู่หลังวัดเสมอ และวัดไตรภูมิก็ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ดังนั้นศาลเจ้าพ่อสระแก้วควรจะเคยตั้งอยู่ที่หน้าวัด หรือบ้านพักโรงพยาบาล ซึ่งศาลนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นเพราะในอดีตเป็นสถานที่ประพาสของเจ้าเมือง หรือเป็นที่สรงสนานยามเสร็จศึกเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทหาร หรือเพราะสระแก้วเคยเป็นสนามรบก็ได้ โดยศาลนี้อาจถูกสร้างขึ้นโดยชาวบ้าน มากกว่าจะถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าเมือง เพราะไม่มีหลักฐานว่าเคยมีศาลมาก่อน มีเพียงเป็นคำบอกเล่าจากผู้รู้บางท่านเท่านั้น

หลักฐานฝ่ายปัจจุบัน แก้

 
เสมาหิน

วัดสระแก้วปทุมทอง ถนนศรีธรรมไตรปิฎก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดเก่าแก่โบราณ วัดนี้สร้างเมื่อใดและไม่ปรากฏปีพุทธศักราชแน่นอน เพราะไม่เหลือสิ่งก่อสร้างอยู่เลยมีแต่มูลดินพระอุโบสถ มีเครื่องหมายกำหนดว่าเป็นพระอุโบสถคือ “เสมาหิน” ภายหลังถูกทับทมไว้ใต้ดินในเขตวัดสระแก้ว โรงพยาบาลพุทธชินราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพุทธชินราชโดยไม่ทราบตำแหน่ง

อาจเนื่องจากวัดสระแก้วปทุมทอง (วัดไตรภูมิ) เคยเป็นสนามรบและชัยภูมิที่สำคัญที่เอาไว้ตั้งทัพตีเมืองพระพิษณุโลกเพราะอุดมด้วยแหล่งน้ำ และป่าสวนเหตุนี้เจ้าเมืองกรมการผู้ปกครองเมืองอาจจำเป็นต้องทำลายวัดเดิมเสีย แล้วนำอิฐหินศิลาวัดไตรภูมิ (วัดสระแก้วปทุมทอง) ไปก่อสร้างต่อเติมกำแพงเมืองเพื่อใช้ป้องกันศึกสงครามในการรบต่าง ๆ ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นสงครามก็มิได้บูรณะซ่อมแซมไว้ตามเดิม จึงปล่อยรกร้างว่างเปล่ามานาน หาวัดเดิมไม่มีเหลืออีกเลยคงเหลือแต่ฐานโบสถ์ วิหาร และเจดีย์”

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 นายแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล) จึงเข้ามาจับจองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแห่งนี้ ภายหลังจึงได้ขายต่อให้นายไสว สร้อยเพชร เป็นจำนวนเงิน 400 บาท นายไสว สร้อยเพชร จึงเป็นเจ้าของที่ดินนี้ต่อมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2562 พระอาจารย์โส โสภโณ ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับกำนันลก สร้อยเพชร และนายไสว สร้อยเพชร มีความเห็นว่าที่ดินของนายไสว สร้อยเพชร นี้เป็นวัดเก่าแก่มาก่อน พระอาจารย์โส โสภโณ กำนันลก สร้อยเพชร และนายไสว สร้อยเพชร จึงร่วมกันสร้างและบูรณะวัดไตรภูมิแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า วัดสระแก้วปทุมทอง

 
ป้ายวัดสระแก้วปทุมทอง พ.ศ. 2491

วัดเริ่มสร้างขึ้นใหม่เมื่อใด มีเอกสารหลักฐานที่แย้งกันอยู่สองชุด [8]

  • เอกสารชุดที่ 1 กล่าวว่า

ปี ประมาณ พ.ศ. 2472 ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด

ปี ประมาณ พ.ศ. 2484 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัด

ปี ประมาณ พ.ศ. 2485 สร้างวัดเสร็จ

ปี ประมาณ พ.ศ. 2486 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

เนื้อที่ที่พระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน 9 ไร่ 17 ตารางวา

  • เอกสารชุดที่ 2 กล่าวว่า

ปี ประมาณ พ.ศ. 2467 วัดนี้เริ่มสร้าง

ปี ประมาณ พ.ศ. 2469 ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด

ปี ประมาณ พ.ศ. 2480 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัด

ปี ประมาณ พ.ศ. 2481 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

เนื้อที่ที่พระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน 9 ไร่ 17 ตารางวา

การตั้งชื่อวัด แก้

พ.ศ. 2460 เมื่อเริ่มสร้างวัด พระอาจารย์โส โสภโณ ได้ปรึกษากับนายไสว สร้อยเพชร เจ้าของที่ดินเดิมว่าด้านหน้าของวัดนี้เป็นบึงใหญ่มีบัวหลวงขึ้นอยู่เต็มตลอดทั้งบึงเหมือนดั่งสระโปกขรณี มีชาวบ้านหลายคนที่เข้าไปหาปลาและจับสัตว์น้ำเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้พบดวงแก้วประหลาด (พระบรมสารีริกธาตุ) ผุดขึ้นมาจากกลางบึงน้ำเป็นอัศจรรย์มีพันธุ์แสงสว่างไสวไปทั่วทั้งบึง พระอาจารย์โส โสภโณ และนายไสว สร้อยเพชร จึงพร้อมใจกันตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดสระแก้วปทุมทอง [9]

คำว่า สระแก้ว เป็นชื่อบึงน้ำโบราณขนาดใหญ่

คำว่า ปทุมทอง เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ตามศุภนิมิตนั้น

ลำดับเจ้าอาวาสวัดสระแก้วปทุมทอง แก้

ลำดับเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระแก้วปทุมทอง
รายชื่อ ตำแหน่ง ปีที่ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
1. หลวงพ่อโสภณ โสภโณ (พรหมเวียง) อดีตเจ้าอาวาส พ.ศ. 2489 - 2490
2. พระใบฎีกาประดิษฐ์ (ไม่ทราบฉายาและนามสกุล) อดีตรักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2490
3. พระสมุห์เพี้ยน (ไม่ทราบฉายาและนามสกุล) อดีตรักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2490
4. พระครูศีลสารสัมบัน (พระสมุห์สำรวย สมฺปนฺโน (หุ่นวัน)) อดีตเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2491 - 2536
5. พระครูรัตนปทุมรักษ์ (สมศักดิ์ รกฺขิโต (บุปผาชาติ)) อดีตเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2536 - 2558
6. พระสำราญ กตสาโร (ต่อมยิ้ม) รองเจ้าอาวาส รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน

วัตถุมงคลของวัดสระแก้วปทุมทอง แก้

 
สมเด็จพระแก้วมณีโชติ พ.ศ. 2515
 
เหรียญพระครูศีลสารสัมบัน พ.ศ. 2517 รุ่นแรก รุ่นองคมนตรี

ตั้งแต่ พ.ศ. 2460 - 2526 วัดสระแก้วปทุมทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้สร้างวัตถุมงคลไว้ดังต่อไปนี้[10]

  • พระกรุช่อฟ้าอุโบสถไม้หลังเก่า พ.ศ. 2460 พบ 615 องค์ นำออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524
  1. พระพุทธมหาศิลามงคล เนื้อดิน
  2. พระพุทธชินราชเกล็ดปลา เนื้อดิน
  3. พระพุทธชินราชใบมะขาม เนื้อดิน
  4. พระนางพญา เนื้อดิน
  • พระผงต้นตำรับ สูตรมหาจักรพรรดิ์ พ.ศ. 2500
  1. พระผงมหาจักรพรรดิ์ รุ่นจอมราชัน พระครูศีลสารสัมบัน เนื้อผงวัดบางขุนพรหม (เก่า) สร้างไว้ 100 องค์
  2. พระพุทธชินราช พิมพ์อินโดจีน เนื้อผงตะไบ หลังโค้ดตราวัด สร้างไว้ 200 องค์
  • พระพิมพ์เล่น พ.ศ. 2511
  1. สมเด็จผงสมเด็จบางขุนพรหม สร้างไว้ 20 องค์
  2. พระปางลีลา เนื้อผง สร้างไว้ 10 องค์
  3. พระพุทธชินราช เกล็ดปลา เนื้อผง สร้างไว้ 9 องค์
  4. พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ เนื้อผง สร้างไว้ 5 องค์
  • พระผงพิธีจักรพรรดิ์มหาพุทธาภิเษก ครั้งที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2515
  1. พระพุทธชินราช องค์ต้นแบบลองพิมพ์ สร้างจำนวน 9 องค์
  2. พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เนื้อดินและผง
  3. พระพุทธชินราชใบเสมา เนื้อดินและผง
  4. พระผงมหาจักรพรรดิ พระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สัมปันโน) พิมพ์สี่เหลี่ยมใหญ่ "รุ่นจอมพล"
  5. พระผงมหาจักรพรรดิ พระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สัมปันโน) พิมพ์สี่เหลี่ยมเล็ก "รุ่นจอมทัพ"
  6. พระผงมหาจักรพรรดิ พระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สัมปันโน) พิมพ์จันทร์ลอย "รุ่นพลเอก"
  • เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. 2517
  1. เหรียญพระครูศีลสารสัมปัน (สำรวย สัมปันโน) ใบเสมา (เนื้อกะไหล่ทอง รมดำและทองแดง) สร้างไว้เพียง 120 เหรียญ กะไหล่ทองจะหายาก
  • รุ่นสุดท้าย พ.ศ. 2526
  1. เหรียญพระครูศีลสารสัมปัน (สำรวย สัมปันโน) วงรี (เนื้อกะไหล่ทอง รมดำและทองแดง) สร้างไว้ 500 องค์
  2. รูปหล่อพระครูศีลสารสัมปัน เนื้อทองผสม ใต้ฐานบรรจุผงพระที่เหลือจากการสร้าง มีเขียนยันต์ หน้าตัก 5 นิ้ว สร้างไว้ 100 องค์

อ้างอิง แก้

  1. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 22
  2. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 41
  3. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 43
  4. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 46
  5. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 42
  6. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 44
  7. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 49
  8. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 64-65
  9. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 64
  10. รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน,2554,หน้า 108-191

16°48′22″N 100°15′43″E / 16.806184°N 100.261889°E / 16.806184; 100.261889

บรรณานุกรม แก้

  • รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน. (2554). ประวัติวัดสระแก้วปทุมทอง : วัดไตรภูมิแห่งนครสรลวงสองแคว (พิษณุโลก) และพระเครื่อง"สูตรมหาจักรพรรดิ์" หนึ่งในตำนานพระเครื่องเมืองสองแคว. พิมพ์ครั้งที่1. มติชน กรุงเทพ.
  • พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย. (2515). อนุสรณ์งานนมัสการ พระพุทธชินราช ประจำปี 2515 และงานจักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสยาม พระนคร.
  • รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน. (2548). ประวัติสระแก้วท้ายเมืองพระพิษณุโลกและวัดสระแก้วปทุมทอง. พิมพ์ครั้งที่1. รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3 พิษณุโลก.
  • วัดสระแก้วปทุมทอง. (2553). ประวัติสมเด็จพระแก้วมณีโชติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. วัดสระแก้วปทุมทอง พิษณุโลก.
  • วัดสระแก้วปทุมทอง. (2553). ประวัติสมเด็จพระแก้วมณีโชติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. วัดสระแก้วปทุมทอง พิษณุโลก.