วัดศาลาลอย (อำเภอเมืองนครราชสีมา)

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

วัดศาลาลอย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดเก่าแก่ที่ท้าวสุรนารีสร้างขึ้นภายหลังจากรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2370 [1]ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสรณ์สถานเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นภายในวัด ภายหลังที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จุดเด่นของวัดนี้ อยู่ที่อุโบสถหลังใหม่ ซึ่งออกแบบโดยรศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ที่ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ปี พ.ศ. 2516[2] และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระเจ้าเปิดโลก ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก (13 กัณฑ์) ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร พระนามว่า"พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์" หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี[1]

วัดศาลาลอย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศาลาลอย
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดศาลาลอย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชเคารพนับถือเป็นอย่างมากเป็นเวลากว่า 200 ปี เมื่อครั้งท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม เสร็จศึกสงครามจากทุ่งสัมฤทธิ์ ขณะยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา ได้แวะพักบริเวณท่าตะโก และได้สั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาเสี่ยงทายลอยไปตามลำตะคอง พร้อมตั้งจิตอธิฐาน หากแพรูปศาลานี้ ลอยไปติดอยู่ ณ ที่แห่งใด จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ซึ่งแพได้ลอยไปติดอยู่ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ซึ่งเป็นวัดร้าง จึงได้สร้างพระอุโบสถ เป็นวัดศาลาลอยในปัจจุบัน และยังเป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีภายในวัด ท่านได้นมัสการพระประธาน และพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ อุโบสถหลังเก่า พร้อมชมศิลปะประยุกต์ อุโบสถเรือสำเภาประดับด้วยกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนด้วย วัดแห่งนี้จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวโคราชสืบมาจนถึงปัจจุบัน[1]

สถานที่ตั้ง แก้

วัดตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยแยกจากถนนรอบเมืองไป ประมาณ 500 เมตร วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับลำตะคองซึ่งไหลพาดผ่านตอนเหนือของตัวเมืองไปลงสู่แม่น้ำมูล

อ้างอิง แก้