วัดศรีรองเมือง
วัดศรีรองเมือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
วัดศรีรองเมือง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดศรีรองเมือง, วัดศรีสองเมือง, วัดท่าคราวน้อยพม่า |
ที่ตั้ง | ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธรูปบัวเข็ม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศรีรองเมืองสร้างโดยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะ คหบดีชาวไทใหญ่ ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง ของบริษัท บอมเมย์เบอร์ม่า สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่มีอาชีพตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า จึงได้สร้างวัดศรีรองเมืองนี้ได้เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ขอขมาต่อธรรมชาติ[1] โดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าในการบูรณะจากวัดเดิมที่มีอยู่ก่อน ชื่อวัดศรีรองเมืองสะกดเพี้ยนมาจากชื่อเดิมที่เรียก วัดศรีสองเมือง ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ของสำนักสงฆ์อันมีชื่อตามนามสกุลของผู้บริจาคที่ดิน สำนักสงฆ์ศรีสองเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2434[2] วัดนี้เดิมชื่อ วัดท่าคราวน้อยพม่า ต่อมาใน พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตวิหารของวัดศรีรองเมืองไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2524
วิหารมีลักษณะแบบวิหารไทใหญ่ในภาคเหนือซึ่งมีลวดลายสลักปิดทองและเครื่องไม้ประดับที่สวยงาม วิหารเป็นอาคาร 2 ชั้นมีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนทำด้วยไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ทำจากไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของเรือนยอด บนวิหารที่เป็นเรือนไม้นั้นมีเสากลมใหญ่เรียงรายกันหลายต้น แต่ละต้นประดับประดาด้วยลวดลายจำหลักไม้และกระจกสีแวววับสวยสดงดงาม พระพุทธรูปบัวเข็ม เป็นพระประธานของวิหาร แกะสลักจากไม้ศิลปะพม่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า สมัยก่อนมีไม้สักท่อนขนาดมหึมาไหลมาตามแม่น้ำวังแล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดศรีรองเมือง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันนำท่อนไม้สักมาเก็บรักษาไว้ที่วัดและกราบไหว้กัน จนวันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้องลมพัดแรงมากปรากฏว่าเทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ ศรัทธาชาวบ้านพร้อมด้วยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะจึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบพม่าแล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัด[3]
วัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามอีกมากมาย เช่น เว็จกุฏีหรือส้วมพระที่มีลักษณะแปลกตาและงดงามตามศิลปะการก่อสร้างของไทยใหญ่เว็จกุฏีนี้ตั้งอยู่ห่างจากแนวโบราณสถานเดิม (วิหาร) ประมาณ 15 เมตร โดยตั้งอยู่ชิดกำแพงวัดทางด้านทิศตะวันตก ใน พ.ศ.2544 ได้มีหนังสือขอให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเว็จกุฏีแห่งนี้เพิ่มเติม
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดศรีรองเมือง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
- ↑ "ไทยทัศนา : (34) จองพม่า-ไทใหญ่ วัดศรีรองเมือง ลำปาง". วอยซ์ทีวี.
- ↑ จักรพงษ์ คำบุญเรือง. "ศิลปกรรมพม่าที่วัดศรีรองเมืองลำปาง". เชียงใหม่นิวส์.