วัดฤาไชย

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดฤาไชย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลกุฎี อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา

วัดฤาไชย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลกุฎี อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดฤๅไชย เดิมชื่อ วัดกุฎีฤๅไชย สร้างขึ้นเป็นวัดราว พ.ศ. 1900[1] สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จากคำบอกเล่าของชุมชน วัดนี้สร้างโดยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะที่ได้จากการรบ (เป็นที่มาของชื่อ "วัดฤๅไชย") โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระประธาน แล้วโปรดให้เสนาอำมาตย์สร้างพระประธานองค์รองลงมาคนละ 1 องค์ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดฤาไชยกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากกองทัพพม่าเดินทัพผ่านและได้กวาดต้อนเชลยมาขังไว้ที่อุโบสถของวัดฤาไชย ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการขุดเจอเครื่องใช้สมัยโบราณบริเวณหมู่บ้านด้านทิศเหนือของวัด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2448 วัดฤาไชยจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และมีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมา พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 3 เพื่อทรงตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระองค์ได้เสด็จมาถึงวัดแห่งนี้เพื่อเสด็จมาเยี่ยมพระครูอุเทศธรรมวินัย (แผ้ว สุนฺทโร) เจ้าอาวาสวัดฤๅไชย ซึ่งเป็นพระภิกษุในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. 2451 (ฉบับที่ 3) วันที่ 23 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 127 "... กลับมาลงเรือแจวที่ปากคลองฤๅไชย แจวเข้าไปวัดกุฎีฤๅไชย ดูก็เป็นวัดใหญ่อยู่ โบสถ์เก่ามาก มีหน้าต่างข้างละช่อง แต่ไม่มืด พระสงฆ์มีถึง 30 รูป พระครูเจ้าวัดจำพรรษาอยู่วัดเบญจมบพิตร จึงมิได้รับในที่นี้..."[2]

สิ่งสำคัญภายในวัดฤๅไชย แก้

อุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นโบสถ์มหาอุดเพียงแห่งเดียวในอำเภอผักไห่ เดิมมีช่องหน้าต่างเพียงด้านละ 1 ช่อง ใน ปี พ.ศ. 2493 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยรักษารูปทรงและขนาดของเดิม เป็นแต่เจาะหน้าต่างด้านข้างและด้านหลัง รื้อระเบียงออก เปลี่ยนเป็นมุขแทนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะอยุธยา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์องค์นี้เดิมเป็นของเก่า ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมา ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ครั้นปี ร.ศ.124 ชาวบ้านได้พร้อมใจกันปฏิสังขรณ์ขึ้น จนถึงเมื่อวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 124 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็งสัปตศกจุลศักราช 1267 พุทธศักราช 2448 นายปลื้มพลทหารราบที่ 3 ได้อัญเชิญพระบรมสารีกริกธาตุ 24 พระองค์มาจากเจดีย์ซึ่งได้ชำรุดหักพังที่วัดปุล่าม เมืองพะเยา มณฑลพายัพ เข้าบรรจุไว้ในเจดีย์องค์นี้ โดยพระโพธิวงศาจารย์ (แผ้ว สุนฺทโร) ได้ปฏิสังขรณ์โดยการสร้างครอบเจดีย์เดิมที่ชำรุดจนแล้วเสร็จเมื่อปี ร.ศ. 125 ต่อมา พ.ศ. 2551 เจดีย์ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งโดยปิดกระจกและยกฉัตรประดับเหนือยอดเจดีย์

พระประธานหินทรายศิลปะอู่ทอง จำนวน 17 องค์ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ โดย 16 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และอีก 1 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ[3] ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้รับการซ่อมแซมมาแล้ว 3 ครั้ง โดยนำปูนมาพอกทับและลงรักปิดทอง วัดฤๅไชยเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานในอุโบสถมากถึง 17 องค์ และหนึ่งในพระประธานจำนวน 17 องค์ มีองค์หนึ่งที่มีนิ้วมือ 11 นิ้ว ซึ่งจากคำบอกเล่าของชุมชนพระประธานองค์ที่มีนิ้วมือ 11 นิ้ว ไม่ได้อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง แต่ได้เคลื่อนย้ายสลับที่กับพระประธานองค์อื่น

ธรรมาสน์ทรงบุษบกฝีมือช่างหลวง โดยการริเริ่มของพระโพธิวงศาจารย์ (แผ้ว สุนฺทโร) ดำเนินการสร้างที่วัดเบญจมบพิตร โดยจำลองแบบมาจากธรรมาสน์ทรงบุษบกของวัดเบญจมบพิตร เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้อัญเชิญมาทางเรือเพื่อประดิษฐาน ณ วัดฤาไชย

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]

ทำเนียบเจ้าอาวาส แก้

  • เจ้าอธิการพัน
  • พระครูอุเทศธรรมวินัย (หอม)
  • พระโพธิวงศาจารย์ (แผ้ว สุนฺทโร)
  • พระอธิการขาบ จันทสโร
  • พระมหาละออง
  • พระอธิการหิน
  • พระอธิการกุล เขมโก
  • พระอธิการเคลิ้ม ปโชโต
  • พระอธิการปิ่น ฐิตธัมโม
  • พระครูวิมลโชติวัฒน์ (เชื่อม)
  • พระครูวิบูลธรรมนาถ (ไพฑูรย์)

อ้างอิง แก้

  1. "วัดฤาไชย". พระสังฆาธิการ.
  2. ป้ายประวัติวัดฤๅไชยที่ติดอยู่ในบริเวณวัดฤๅไชย
  3. "พระพุทธรูป วัดฤาไชย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. ป้ายโบราณสถานวัดฤๅไชยที่ติดอยู่ในบริเวณวัดฤๅไชย จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร