วัดราชา (จังหวัดพังงา)

วัดในจังหวัดพังงา

วัดราชา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีคลองล้อมรอบ ปัจจุบันมีพระสมห์วิเชียร ติกขะวะโร เป็นเจ้าอาวาส

วัดราชา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชา, วัดราชาภิเษก
ที่ตั้งตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสมห์วิเชียร ติกขะวะโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดราชาตั้งชื่อวัดตามชื่อของหมู่บ้านก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2258 ไม่ทราบผู้ก่อตั้งแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าว่าหัวเมืองทางภาคใต้ช่วงที่ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช มีพม่ามารุกรานอยู่เสมอ ท่านอุปราชเมืองนครศรีธรรมราชได้รับมอบหมายจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้มาตั้งค่ายปกป้องบ้านเมืองบริเวณเมืองตะกั่วทุ่ง ได้มาจัดตั้งค่ายที่บ้านค่าย (ปัจจุบันบ้านค่ายอยู่ในท้องที่หมู่ 6 ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง) ท่านอุปราชเกิดความพอใจ นางบุญถา บุตรีของนายทองเปียและนางบาง ได้สู่ขอกันตามประเพณี อุปราชจึงให้มีการตั้งโรงพิธีแต่งงานใกล้ ๆ กับค่ายทหาร หลังจากนั้นได้สร้างที่พักสงฆ์ในบริเวณที่เป็นโรงพิธี แต่งงาน เรียกว่า วัดราชาภิเษก ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า "วัดราชา"[1]

ปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น วิหารปูนและอุโบสถ แต่ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เหล่านั้นถูกทุบทำลายและสร้างเป็นอุโบสถหลังใหม่เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 17 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2398[2] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554[3]

อุโบสถมีหน้าบันเป็นลายพันธุ์พฤกษา ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปศิลปะพื้นถิ่นภาคใต้จำนวน 3 องค์ โดยมีพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดย่อมกว่า นอกจากนี้มีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง วิหารหลวงพ่อวัดราชาและเจดีย์บรรจุมูลสารหลวงพ่อราชา มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม

อ้างอิง แก้

  1. มธุรดา ประสิทธิ์วงษ์. "การตั้งถิ่นฐานของเมืองในจังหวัดพังงาตั้งแต่พ.ศ. 2325 - 2475" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 133.
  2. "วัดราชา". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดราชา". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.