วัดมังกรกมลาวาส

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ (ตัวเต็ม: 龍蓮寺, ตัวย่อ: 龙莲寺, พินอิน: Lóng lián sì หลงเหลียนซื่อ, ฮกเกี้ยน: เล้งเหลียนซี่, สำเนียงแต้จิ๋ว: เล่งเน่ยยี่, สำเนียงกวางตุ้ง: หล่งลิ่นจี๋, สำเนียงฮากกา: หลุ่งเหลี่ยนซื้อ) เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ นักแสวงบุญมักมาขอพรเพื่อสิริมงคล สะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดปีชงในแต่ละปี[1]

วัดมังกรกมลาวาส
บริเวณหน้าวัด
แผนที่
ชื่อสามัญเล่งเน่ยยี่
ที่ตั้งเลขที่ 423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
นิกายมหายาน
พระประธานพระศากยมุนีพุทธเจ้า
พระอมิตาภพุทธะ
พระไภษัชยคุรุ
เว็บไซต์http://www.lengnoeiyi.com
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
"ซำป้อหุกโจ้ว" ชื่อเรียกสามพระประธานประจำวัดมังกรกมลาวาส

วัดนี้ มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดเล่งเน่ยยี่" เพราะคำว่า "เล่ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า มังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัว และคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 130

ถาวรวัตถุ

แก้

วัดนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ

จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่าง ๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ "ซำป้อหุกโจ้ว" พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า "จับโป๊ยหล่อหั่ง"

ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ "ไท้ส่วย เอี๊ยะ" เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา "หั่วท้อเซียงซือกง" และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ "ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว"ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ "กวนอิมผู่สัก" (หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้

นับตั้งแต่ก่อตั้งมา วัดมังกรกมลาวาสมีเจ้าอาวาสตามลำดับ ดังนี้[2]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) พ.ศ. 2414 ?
2 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (กวยหงอ) ? ?
3 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (โล่วเข่ง) ? ?
4 พระอาจารย์ฮวบจง (ฟุกยิ้น) ? ?
5 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (ย่งปิง) ? ?
6 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (เซี่ยงหงี) ? ?
7 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) ? ?
8 พระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ (เย็นเจี่ยว) ? ?
9 พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว) พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2558
10 พระอาจารย์จีนคณาณัติจีนพรต (เย็นงี้) พ.ศ. 2559 ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. "BEM Magazine Vol. 9" (PDF). 29 กรกฎาคม 2562. p. 12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-17. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. ลำดับเจ้าอาวาส เก็บถาวร 2014-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดมังกรกมลาวาส

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

เล่งเน่ยยี่ออนไลน์ แก้ชงออนไลน์

13°44′36″N 100°30′34″E / 13.743247°N 100.509434°E / 13.743247; 100.509434