วัดมหาชัย (จังหวัดมหาสารคาม)

วัดในจังหวัดมหาสารคาม

วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) หรือ วัดเหนือ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เลขที่ 779 ถนนศรีราชวงศ์ ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

วัดมหาชัย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาชัย (พระอารามหลวง),วัดเหนือ
ที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอเมือง มหาสารคาม มหาสารคาม
ประเภทศาสนสถาน
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระประธานปางชนะมารแบบเชียงแสนล้านช้าง
พระพุทธรูปสำคัญพระประธานปางชนะมารแบบเชียงแสนล้านช้าง
เจ้าอาวาสพระธรรมวัชราจารย์ (น้อย ญาณวุฑฺโฒ) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) เดิมชื่อ “วัดเหนือ” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมหาสารคาม ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก ร่วมกับประชาชนชาวมหาสารคามช่วยกันสร้างขึ้นให้เป็นวัดประจำเมือง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา มีพระยาครูสุวรรณดี ศีลสังวร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2472 พระสารคามมุนี (สารภวภูตานนท์) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 18 เป็นเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามได้ขอเปลี่ยนชื่อจาก “วัดเหนือ” เป็น “วัดมหาชัย” และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 วัดมหาชัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้ากฐินให้ส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม อัญเชิญมาทอดถวายเป็นประจำทุกปี เมื่อพุทธศักราช 2519 กรมการศาสนาอนุญาตให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” หรือหอพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สำหรับเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ

ปี พ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการเปลี่ยนชื่อวัดทุกวัดในประเทศไทย เวลานั้นเจ้าคุณพระสารคามมุนี เป็นเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามและเจ้าอาวาส จึงได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดเหนือมาเป็น “วัดมหาชัยมหาสารคาม” เพื่อเป็นการถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ซึ่งได้มีพัฒนาการมาดังนี้

เริ่มจากในปี พ.ศ. 2404 พระขัติยวงษา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดมีใบบอกทูลเกล้า ขอบ้านลาดนางใยเป็นเมืองโดยขอท้าวมหาชัย (กวด) เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวบัวทองเป็นอัครฮาด ขอท้าวไชยะวงศา (ฮึง) เป็นอัครวงศ์ และขอท้าวเถื่อน เป็นอัครบุตร ไปยังกรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลเกล้าฯ

ในปีเดียวกันนี้ท้าวมหาชัย (กวด) และท้าวบัวทอง จึงดำเนินการสำรวจสถานที่พร้อมวางแผนผังบริเวณโคกเนินสูงริมตะวันตกบ้านกุดนางใยที่จะสร้างเมือง เพื่อเป็นการเหมาะสมเมื่อสร้างเมืองจะได้ถูกต้องตามแปลนแผนผังที่วางไว้ โดยวางสถานที่ผังหลักเมืองซึ่งได้แก่หลักเมืองมหาสารคามในปัจจุบัน ที่ตั้งวัดประจำเมืองนั้นสร้างขึ้นที่กึ่งกลางของโนนเมืองวัดจากกุดนางใยไปยังหลักเมืองมีดังนี้

ทิศตะวันออกกว้าง 3 เส้น 18 วา

ทิศตะวันตกกว้าง 3 เส้น 18 วา

ทิศเหนือยาว 5 เส้น 15 วา

ทิศใต้ยาว 4 เส้น 12 วา

ซึ่งพื้นที่ตั้งวัดนั้นกว้างยาวเหมือนชายธง ในปีที่มีการบุกร้างถางพงนั้น ท้าวมหาชัย(กวด) ได้สร้างกุฏิ 1 หลัง หอฉัน 1 หลัง ศาลาการเปรียญ(หอแจก) 1 หลัง เป็นเพียงสำนักสงฆ์ ประชาชนเรียกว่า “วัดเหนือ” เพราะตั้งอยู่ทางเหนือน้ำโดยถือเอาทางน้ำไหลเป็นเครื่องหมาย

พ.ศ. 2408 มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านลาด – กุดนางใย เป็น “เมืองมหาสารคาม ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย(กวด) เป็นพระเจริญราชเดชวรเชษฐมหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกร สรีวิชัยเทพวรฤทธิ์ พิษนุพงศ์ปรีชา สิงหบุตร สุวัฒนานคราภิบาล จึงพร้อมด้วยท้าวเพียสร้างวัดมหาชัยต่อเติม

กรมการเมืองท้าวเพียเมืองมหาสารคามเห็นดีเห็นชอบในการตั้งวัดมหาชัย ซึ่งเจ้าเมืองได้วางแผนเอาไว้แล้ว แม้สารตราตั้งเมืองปรากฏว่าตั้งขึ้นเมื่อปีฉลู สัปศก จ.ศ.1227 ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 โดยที่พระราชทานมาเจริญราชเดช (กวด) พร้อมด้วยกรมการเมืองและท้าวเพียดำเนินการก่อสร้างโดยความพร้อมเพรียง

ครั้นต่อมาเมืองมหาสารคามมีผู้ย้ายมาจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประกอบทำมาหาเลี้ยงชีพมากขึ้น ต่างพากันขอปลูกบ้านเรือนในบริเวณด้านตะวันตกของวัด มีบ้านเรือนของญาติโยมผู้อยู่มาโดยลำดับ ทางวัดหาเจ้าอาวาส สมภารเป็นหลักได้ยาก บางปีก็หาสมภารไม่ได้ ขาดสมภารเจ้าอาวาสวัดหลายปีจึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอาศัยที่วัดตลอดมา

พ.ศ. 2470 เจ้าคุณสารคามมุนี เห็นว่าพัทธสีมาหลังเก่านี้คับแคบไม่พอแก่พระภิกษุสงฆ์ – สามเณร ทำกิจวัตรเช้า – เย็น เพราะบรรจุได้เพียง 25 รูป จึงสร้างพัทธสีมาหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2470

ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2482 เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497

ปัจจุบันวัดมหาชัยมีเนื้อที่ตั้งทั้งหมด 10 ไร่ 3 งาน 82.7/10 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1682 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา โฉนดเลขที่ 366,417 และ1567

นอกจากนั้น ในบริเวณวัดยังมีต้นไม้ที่หาดูได้ยากคือ ต้นสาละ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นไม้นี้ ซึ่งทางวัดได้รับมอบจากอธิบดีกรมการศาสนานำมาปลูกตั้งแต่ปี 2509

ชาวบ้านยึดที่ดินวัด

ครั้นต่อมาเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ชื่อพระโสม เกิดมีคฤหัสถ์คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในวัดทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ฟ้องร้องคดีถึงเจ้าเมือง ตุลาการปรับไหมตามกฎหมายซึ่งสมัยนั้นเจ้าเมืองตัดสินคดีความ เจ้าเมืองลงโทษให้ทำเขื่อนวัดแทนการปรับไหม และบังเอิญการปรับไหมให้ทำเขื่อนวัดนั้นมีกำหนดปักเสาเขตล้นวัดเข้ามา คือล้อมเอาเฉพาะเขตแดนที่พระสงฆ์พำนักเท่านั้น ไม่ให้ผู้ถูกปรับไหมทำเขื่อนยาวตามอาณาเขตเดิมของวัด ภายหลังล่วงมาหลายปี กลุ่มคนที่ขอปลูกบ้านเรือนในที่วัดนั้นได้รุกเอาที่ดินของวัดด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นส่วนมาก

วัดคู่เมือง แก้

ในปี พ.ศ. 2412 โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองมหาสารคามออกจากเมืองร้อยเอ็ดไปขึ้นกับกรุงเทพฯ ยกฐานะอัครฮาด อัครวงศ์ อัครบุตร เมืองมหาสารคามขึ้นเป็นอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเจริญราชเดช (ท้าวมหาชัย กวด) พร้อมด้วยกรมการเมืองท้าวเพียงเป็นผู้สร้างวัดนั้น โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2408 นั้นปรากฏตามประวัติตั้งเมืองว่าพระเจริญราชเดชได้นิมนต์พระครูสุวรรณ์ดีศีลสังวร มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกและเถระภิเษก ฮดสรง (สรงน้ำ) ให้เป็นหลักคำ ชาวเมืองเรียกว่า “ญาครูหลวงหลักคำ” เรียกสั้นว่า “ยาครูหลักคำ” (บิดาพระครูสารคามมุนี (สาร) ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ตามประวัติกล่าวว่า ญาครูหลักคำสุวรรณ์ดีนี้ เป็นญาติพระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแล้วในสมัยอุปสมบท ชาวเมืองเรียกว่า ท้าวกวดบ้าง อาจารย์กวดบ้าง เมื่อเป็นเจ้าเมืองแล้วจึงเห็นว่าพระครุสุวรรณ์ดีศีลสังวรมั่นคงในพระธรรมวินัยมีความรู้แตกฉานในบาลี อรรถกถา จึงอาราธนามาดำรงตำแหน่งหลักคำ ภายหลังเรียกว่าเจ้าคณะเมือง ตามประวัติพระเจริญราชเดชสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์เวียงจัรทน์ บรรพบุรุษเป็นเชื้อพระวงศ์บรรดาศักดิ์ว่า วรเชษฐมหาชัยขัติยพงศ์ ต้นตระกูลของนครเวียงจันทร์

วิหาร (อุโบสถหลังเก่า) แก้

เมื่อพระเจริญราชเดชพร้อมด้วยกรมการเมืองท้าวเพียตั้งวัดแล้วจึงสร้างโบสถ์คือ พัทธสีมา (สิมบก) ซึ่งในปีตั้งเมืองนั้นเอง พัทธสีมาที่ตั้งขึ้นนั้นกว้าง 3.50 เมตร ยาว 7.50 เมตร ก่ออิฐถือปูน มีเฉลียงรอบ เสาไม้แก่น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหลังคาลายกนกนาคช่อฟ้าใบระกาชะรอยจะเริ่มก่อสร้างเมื่อครั้งเป็นท้าวมหาชัย (กวด) นิมนต์พระญาครูผู้เฒ่าวัดหนองแวงค้ำน่างเป็นนวกรรมมัฏฐายี อำนวยการก่อสร้าง ซึ่งคนปูนเล่าว่า นายช่างพัทธสีมาเป็นคนบ้านหนองแวงค้ำน่าง ปัจจุบันเรียก “บ้านแวงน่าง” เมื่อท้าวมหาชัย (กวด) ได้รับบรรดาศักดิ์โปรดเกล้าฯ เป็นพระเจริญราชเดชได้ผูกพัทธสีมาพอดีในปีนั้นนิมนต์พระญาครูเฒ่าวัดหนองแวงค้ำน่างนั้นเป็นพระอุปัชฌายะ มีนาคเข้าอุปสมบทจำนวน 9 คน

พระประธาน แก้

พระประธานที่สร้างขึ้นพร้อมพระอุโบสถนั้นรูปทรงสวยงามมาก ก่ออิฐถือปูนปางชนะมารแบบเชียงแสนล้านช้าง ช่างที่ปั้นเป็นคนจีนเมืองกาฬสินธุ์แซ่ไหหลำ ชื่อเจ็กจั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 ศอก 4 นิ้ว ชาวเมืองเคารพนับถือมาก ปรากฏว่าถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพัทธสีมาหลังนี้ ภายหลังจึงเลิกไปที่วัดโพธิ์ศรีแทน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือวัดมหาชัย แก้

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นสถานที่ซึ่งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ของภาคอีสาน เช่น ใบเสมาหิน พระพุทธรูปในสมัยโบราณ บานประตู คันทวยแกะสลัก อายุประมาณ 100-200 ปี นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บรวบรวมวรรณคดีภาคอีสานและพระธรรม ใบลาน อยู่เป็นจำนวนมาก

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้