วัดพระสิงห์ (จังหวัดเชียงราย)

วัดในจังหวัดเชียงราย

วัดพระสิงห์ (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ ถนนท่าหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ทิศเหนือติดถนนสิงหไคล ทิศใต้ติดถนนพระสิงห์ ทิศตะวันออกติดถนนท่าหลวง ทิศตะวันตกติดถนนภักดีณรงค์

วัดพระสิงห์
วิหารแก้ว (ขวา) และ อุโบสถ (ซ้าย) วัดพระสิงห์ เชียงราย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระสิงห์
ที่ตั้งถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000
ประเภทพระอารามหลวง
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธสิหิงค์
การถ่ายภาพไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดพระสิงห์ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง

ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย อนุชาของพญากือนา อัญเชิญพระสีหลปฏิมาจากกำแพงเพชรมายังเมืองเชียงใหม่ เมื่อพญากือนาปรารภจะสร้างซุ้มจระนำขึ้นใหม่ให้เป็นที่ประดิษฐานของพระสีหลปฏิมา ท้าวมหาพรหมจึงอัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปยังเมืองเชียงราย เพื่อนำมาเป็นแบบสร้างอีกองค์หนึ่งด้วยทองสำริดให้เหมือนองค์ต้นแบบ ทำการหล่อและสวดเบิกที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารหลวงเมืองเชียงราย คือวัดพระสิงห์ในปัจจุบัน เมื่อพญากือนาสวรรคต พญาแสนเมืองมา โอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบแทน ท้าวมหาพรหมไม่พอใจจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังพญาแสนเมืองมานำกองทัพสู้รบจับท้าวมหาพรหมได้ แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมามายังเมืองเชียงใหม่[1]

วัดพระสิงห์คงมีสถานะเป็นวัดสำคัญมาตลอดทุกสมัย ช่วงสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนาทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2347 จนเมื่อฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386 จึงมีการบูรณะวัดสำคัญต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจำนวนไพร่พลและสถานะทางสังคมยุคนั้น

พ.ศ. 2433 มีการสร้างวิหารวัดพระสิงห์ขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง (หลังเก่า) และวัดพระแก้ว สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"เดือน 8 ขึ้น 5 ฅ่ำ วัน 7 สกราช 1252 ปีกดยี ปกวิหารวัดพระแก้ว รอดเดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ ปกวิหารวัดพระสิงห์"[2]

พ.ศ. 2436 พระธัมมมปัญญา (ป๊อก ธมฺมปญฺโญ ภายหลังเป็นพระครูเมธังกรญาณ) เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์พร้อมเจ้านายทั้งหลาย ได้สร้างพระพุทธรูป 2 องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า 1 องค์ พระมหากัจจายนะ 1 องค์ พระอรหันต์ 8 องค์ ประดิษฐานในพระอุโบสถ ถึง พ.ศ. 2437 พระประธานวัดพระสิงห์มีเหงื่อออก จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"สกราช 1255 ตัว ปีกล่าไส้ ธุเจ้าธัมมปัญญา เจ้าอธิการวัดพระสิงห์เปนเคล้า พายนอกเจ้านายสัทธาทั้งหลายได้สร้างก่อพระเจ้าสององค์ พระปัจเจก 1 พระมหากจาย 1 องค์ อรหันตา 8 องค์ เถิงสกราช 1256 ตัว ปีกาบสง้า วัน 5 ฅ่ำ แล้วบรมวล เดือน 8 ลง 2 ค่ำ เหื่อพระเจ้าหลวงวัดพระสิงห์ออก"[3]

พ.ศ. 2438 เดือนมีนาคม ขึ้น 1 ค่ำ ได้ของที่ฝังอยู่ในดินเหนือวิหารวัดพระสิงห์ออก มีพระธาตุ 11 ดวง พระพุทธรูปทอง 4 องค์ พระพุทธรูปเงิน 1 องค์ พระพุทธรูปทอง 2 องค์ แก้ว 3 ลูก ขึ้น 3 ค่ำ ได้ธาตุ 58 ดวง พระพุทธรูปเงิน 1 องค์ พระพุทธรูปแก้ว 2 องค์ โกศเงิน 1 โกศทอง 1 โกศแก้ว 1 โกศนาก 1 แก้ว 4 ลูก ถึงเดือนเมษายน ขึ้น 15 ค่ำ ได้ฉลองวิหาร จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"เดือน 6 ขึ้น 1 ฅ่ำ ได้ของฝังอยู่ในดินเหนือวิหารวัดพระสิงห์ออก คือ ธาตุ 11 ดวง พระเจ้าฅำ 4 องค์ พระเจ้าเงิน 1 องค์ พระเจ้าฅำ 2 องค์ แก้ว 3 ลูก เดือนเดียวนั้น ขึ้น 3 ค่ำซ้ำได้ธาตุ 58 ดวง พระเจ้าเงิน 1 องค์ พระเจ้าแก้ว 2 องค์ โขดเงิน 1 โขดฅำ 1 โขดแก้ว โขดนาค 1 แก้ว 4 ลูก เถิงเดือน 7 เพง ค็จหลองวิหารกินทานเหล้นม่วน"[4]

พ.ศ. 2449 พระธัมมปัญญา ยังอนุญาตให้หมอบริกส์ (Dr. William Albert Briggs) มิชชันนารี ให้ใช้พื้นที่วิหารวัดพระสิงห์เป็นสถานที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้ บันทึกว่า

"ในเมืองเชียงรายทุกวันอาทิตย์ตอนบ่าย มีพวกชาวคริสต์ที่เผยแพร่ศาสนาในตลาด บางครั้งมีผู้ชายหลายคนจากหมู่บ้านต่างๆ ที่เข้าในเมืองเพื่อเสียภาษี หรือถูกเกณฑ์มาทำงานตามโครงการของรัฐบาล พวกผู้ชายเขานอนวัดทุกคืน และพวกชาวคริสต์เข้าในวัดเพื่อการสอนหรือเผยแพร่คำสอนของพระเยซูคริสต์ ท่านเจ้าอาวาสของวัดประธาน (วัดพระสิงห์) เข้าไปฟังคำสอนของชาวคริสต์บ่อยๆ และชวนเขาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในวัดของท่าน ตามคำชวนของท่านเจ้าอาวาส ชาวคริสต์ก็ขึงจอหนังตรงหน้าพระประธานลงทองเลย (สำริดปิดทอง) และชาวคริสต์ใช้เครื่องฉายภาพนิ่งเพื่อแสดงชีวิตของพระเยซูทุกคืน"[5]

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด แก้

พระสิงห์หลวง แก้

 
พระอุโบสถ

พระสิงห์หลวง เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 ปางมารวิชัย สำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 2.04 เมตร สูงทั้งฐาน 2.84 เมตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถมีพุทธลักษณะสง่างาม ประณีต ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรมล้านนาว่า “กุลลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี 3 ประเภท คือ

  1. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “กุศล” ก็มี
  2. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “อกุศล” ก็มี
  3. ธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก “กุศลและอกุศล” ก็มี[6]

พระอุโบสถ แก้

พระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง (หลังเก่า) และวัดพระแก้ว สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน โดยดำริของพระธัมมปัญญา ดังคร่าวร่ำวิหารวัดพระสิงห์ แต่งโดยพ่อหนานนันทาพิทธาจารย์ บ้านโป่งฮึ้ง กล่าวว่า

อสงไข ข้าบ่อาจจักอ่านนับ ข้ามาหันท่านเจ้า มีบุญ ท่านมีวัตต์ แลคลองกับตน อิริยา บ่บิดเบี่ยงส้วย ท่านคึดใดก็สม จาคำใดก็ด้วย บ่มีเฟือน ฅว่างซัด จับถูกด้วย คลองธัมม์ ทุแลพระก็มาฟังคำกัน คันท่านชื่อว่าใด ก็ตามก็ด้วย บ่มีเภทาจากคึด ใจหลิ่งเข้าทางทาน ท่านจักล่ำคึด ยังพระวิหาร ตามคำตำนาน หลังหลวงใหญ่กว้าง เจ้าจิ่งปราไสร เจียรจาปากต้าน กับสิกข์โยมคราน นั่งล้อม ว่าดั่งวิหารแห่งเรา ก็ดูหลุหลิ่งค้อม เราพากันคึด แต่งส้างแถมดีคา สิกข์โยมนบน้อม กราบไหว้ธูลสา ว่าเอาทุพี่ว่าเทอะนา ใผบ่ขัดสักผู้

— คร่าวร่ำวิหารวัดพระสิงห์ เมืองเชียงราย

[7]

รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยพระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) เมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็นพระราชสิทธินายก

บานประตูหลวง แก้

บานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอกผู้มีผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก นามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน

  • ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก
  • น้ำ คือ ของเหลวต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ
  • ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป
  • ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิด พลังงาน

แนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้

  • ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน
  • นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ
  • ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม
  • สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ

ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีลีลาเฉพาะแบบของ อ.ถวัลย์ ดัชนี งานแกะสลักบานประตูวิหารนี้ พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) เมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็นพระราชสิทธินายก ได้มอบความไว้วางใจให้สล่าอำนวย บัวงาม หรือ สล่านวย และลูกมืออีกหลายท่านเป็นผู้แกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้บานประตูมีขนาด กว้าง 2 เมตร 40 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร 50 เซนติเมตร และหนา 20 เซนติเมตร ด้วยลวดลายและลีลาการออกแบบและฝีมือการแกะสลักเสลาอย่างประณีตบรรจง นับว่าบานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงามของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น[8]

พระสิงห์น้อย แก้

พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์น้อย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร สำริดปิดทอง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในวิหารแก้ว พระสิงห์น้อยองค์นี้ พ.ศ. 2386 ครูบาปวรปัญญาได้นำมาจากเมืองเชียงใหม่ หามนำหน้าขบวนราษฎรที่ถูกเกณฑ์มาฟื้นฟูเมืองเชียงราย จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"อันนี้เป็นประวัติเกินมาตั้งเมืองเชียงรายแถม ที่ลุงหนานขัตได้จดจำเอากับผู้เถ้าผู้แก่ต่อมาแต่เดิม เจ้านายเมืองเชียงใหม่ได้จัดเอาเจ้านายนำราสดอรขึ้นมา พายในได้จัดเอาครูบาปวร ได้เอาพระสิงห์องค์หน้อยนี้หามนำราสดอรทังหลาย เข้ามาตั้งวัดพระสิงห์ก่อน"[9]

วิหารแก้ว แก้

 
วิหารแก้ว

เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระสิงห์น้อย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2434 โดยพญาอาทิตย์ ต้นตระกูล "บุญทนุวัง" เป็นวิหารไม้แบบไม่มีผนังปิดรอบ มีผนังเฉพาะหลังพระประธาน หลังคาทรงมะนิลาแบบมีจั่วเข้าด้านหน้าสร้างคลุมบันไดทางขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์น้อย บันทึกของพญาอาทิตย์กล่าวว่า

"สกราชได้ 1253 ตัว สวาธุธัมมปญา แต่งหื้อหนานขัตสล่าตนเคล้ามาส้างแปลงหรอพระสิงห์หน้อยแถม คันว่าแม่นภยาอินทาเจ้าเอาแปลงผาสาทฅำอยู่ ค็หื้อพระสิงห์หน้อยนี้ได้หมั้นได้เพิงว่าสันนี้แท้แล้ว ภยาอาทิตค็ได้ถวายไม้ปลีกไม้ตงกทำมล้างทานสร้างแปลงดีชุเยื้องแล้ว หรอพระสิงห์หน้อย ลวงแปได้ 4 วา ลวงขื่อได้ 2 วาปลาย คันว่าจับไม้บ่ดีงามนั้นค็อย่าได้เอามาเทอะ บ่ดีว่าอั้น อย่าได้ยกทำทานแปลงหรอแปงส้าง ลูนนั้นสธาวัดสิงหรามได้กทำแปลงหอกลอง กุฏิ ขุดน้ำบ่อ ก่อกำแพงแก้วผากซ้วยใต้หื้อแล้ว มีชุเยื้องนี้ ทานกินม่วนเหล้น 3 วัน"

ภายหลังหอพระสิงห์น้อยถูกรื้อออก พ.ศ. 2551 พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) เมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็นพระราชสิทธินายก ได้ก่อสร้างวิหารแก้วเพื่อประดิษฐานพระสิงห์น้อยใหม่ ตรงตำแหน่งหอพระสิงห์น้อยเก่า เริ่มก่อสร้างวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวิหารฐานปูน ตัววิหารเป็นไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง ภายในมีจิตรกรรมฝาหนังเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์[10]

พระเจดีย์ แก้

พระเจดีย์ เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยพระครูสิกขาลังการ (ทองอินทร์ ปภาโส) เจ้าอาวาสในขณะนั้น และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา โดยพระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร)

พระพุทธบาทจำลอง แก้

พระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” เดิมอยู่วัดงามเมือง โฮลต์ ซามูเอล ฮาลเล็ตต์ (Holt Samuel Hallett) ได้กล่าวถึงในบันทึกการเดินทาง เดินทางหนึ่งพันไมล์บนหลังช้างในรัฐฉาน (A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States) ว่า

"หลังจากเจ้าเมืองกลับไปแล้วเราจึงไปชมโบราณสถานกัน วัดที่สำคัญก็มีวัดพระสิงห์และวัดงามเมือง (The beautiful temple of the city) ซึ่งในอดีตเรียกว่าพระบาท เพราะมีรอยพระบาทยาว 6 1/2 ฟุต กว้าง 3 ฟุต ลึก 4 นิ้ว ประทับบนแผ่นหิน ปิดทองทึบ ในวัดยังมีรูปพระมหากัจจายนะของจีนตั้งอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปด้วย"[11]

ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก ธมฺมปญฺโญ) ได้เชิญมาประดิษฐานยังวัดพระสิงห์จวบจนปัจจุบัน

หอระฆัง แก้

เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2438 ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา แก้

พลโทอัมพร จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และปลูกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา ในฐานที่เป็นต้นไม้ซึ่ง พระโพธิสัตว์ลาดบัลลังก์ประทับในคืนก่อนตรัสรู้ เดิมเรียกกันว่าต้น “อัสสัตถพฤกษ์” ที่ได้ชื่อว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ก็เพราะเป็นต้นไม้ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ “โพธิธรรม” ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็คือ พระโคตมพุทธเจ้า

ต้นสาละลังกา แก้

ต้นสาละลังกา สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกา และนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อ พ.ศ. 2512

เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ แก้

วัดพระสิงห์ มีเจ้าอาวาสที่บริหารวัดสืบต่อกันมานับแต่ปีที่สร้างวัด จนปัจจุบันจำนวน 8 รูป คือ

  1. ครูบาปวรปัญญา พ.ศ. 2386 - พ.ศ. 2407
  2. ครูบาอินทจักรังสี พ.ศ. 2407 - พ.ศ. 2425
  3. พระอธิการอินทะ (ลาสิกขา) พ.ศ. 2425 - พ.ศ. 2427
  4. พระมหายศ (ลาสิกขา) พ.ศ. 2427 - พ.ศ. 2430
  5. พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก ธมฺมปญฺโญ) หรือพระธัมมปัญญา พ.ศ. 2431 - พ.ศ. 2476
  6. พระครูเมธังกรญาณ (ดวงต๋า) พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2488
  7. พระครูสิกขาลังการ (ทองอินทร์ ปภาโส) พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2523
  8. พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2561
  9. พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (บุญมา มานิโต) พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมาเหมินทร์) 2510.
  2. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  3. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  4. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  5. แอนโทนี โลเวนไฮม เออร์วิน แปล. The Laos News, Vol. III, Jan 1906.
  6. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  7. ภูเดช แสนสา ปริวรรต. คร่าว กฎหมาย จารีต ตำนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่: แม็กซ์พริ้นติ้ง, 2556.
  8. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  9. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  10. อภิชิต ศิริชัย. มรดกแห่งนครเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  11. Holt Samuel Hallett. A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States. Bangkok: White Lotus, 2000.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

19°54′41″N 99°49′49″E / 19.911367°N 99.830382°E / 19.911367; 99.830382