วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตะวันตก เลขที่ 156 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นับแต่ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวง
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์, วัดเมือง |
ที่ตั้ง | ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา หาที่จะสร้างเมืองฉะเชิงเทราใหม่ และโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นแม่กองทำการสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา แล้วเสร็จเมื่อปี 2380[1] อีกทั้งพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดแห่งหนึ่ง ดังในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุว่า
"...แล้วโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศออกไปสร้างป้อมกำแพงที่เมืองฉเชิงเทราอีกตำบล 1 โปรดให้สร้างวัดไว้ในกลางเมือง ซึ่งพระราชทานนามในบัดนี้ว่า วัดปิตุลาธิราชรังสฤษดิ..."[2]
เดิมทีวัดเมืองนี้อาจเคยมีแผนให้สร้างกลางเมืองแต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ จึงมีการสร้างบริเวณด้านเหนือของเมืองแทน จากข้อมูลคำให้การจีนบู๊ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่เมืองฉะเชิงเทรากำเริบ จ.ศ. 1210 เมื่อคราวเกิดกบฏจีนตั้วเฮียขึ้นในปี พ.ศ. 2391 แสดงว่ามีวัดบริเวณเหนือเมืองแล้ว โดยพบข้อความที่ระบุว่า "จีนกิแต้จิ๋วเถ้าแก่สวนอ้อย คุมคน 1,200 เศษ ลงเรืออ้อย 6 ลำไปที่เมืองมาจอดเรือข้าวที่วัดเหนือเมือง แล้วจีนเอี้ยงคุมพวก 300 เศษ เข้าด้านเหนือ จีนจอเป็นคนตีกลองสัญญา จีนตูคุมพวก 300 เศษ เข้าด้านใต้ ข้าพเจ้าจีนเส็งคุมพวก 200 เศษ เข้าด้านตะวันออกจีนสามขีเป็นคนตีกลองสัญญา จีนซุนเตียคุมพวก 200 เศษ เข้าด้านตะวันตก เข้าล้อมเมืองพร้อมกันตีกลองสัญญายิงปืนทั้ง 4 ด้าน" จากนั้นภายหลังเหตุการณ์การกบฏแล้วกว่า 36 ปี ราวปี พ.ศ. 2427 พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) ได้ทำการบูรณะใหม่โดยปรากฏหลักฐานในบันทึกของ เซอร์ เออร์เนสต์ เมสัน ซาโตว (Sir Ernest Mason Satow) อัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงสยาม เมื่อคราวตรวจพื้นที่ เมืองต่างๆในแม่น้ำบางปะกง ว่า
"...เจ้าเมืองปล่อยเรื่องหยุมหยิมในการบริหารปกครองอยู่ในอำนาจของน้องชาย ผู้ซึ่งเป็นปลัดและอายุได้ 75 ปีแล้ว ท่านสนใจแต่เพียงการเตรียมตนสำหรับโลกหน้าโดยการสร้างวัดแห่งหนึ่ง..."[3]
ซึ่งสอดคล้องกับการให้ข้อมูลความทรงจำของชาวบ้านในพื้นบ้านจอมศรี อำเภอพนมสารคาม ซึ่งเป็นเครื่อญาติกับคุณนายมีภรรยาเจ้าเมืองว่ามีการมาสร้าง (บูรณะ) วัดเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 จริง
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ในระยะแรกเรียกชื่อวัดว่า "วัดเหนือเมือง" "วัดหลักเมือง"หรือ วัดท้ายเมือง' ด้วยเพราะสร้างในพื้นที่ด้านท้ายเมือง และ/หรือ อยู่ในพื้นที่ด้านเหนือของเมือง จึงมีการขานชื่อที่ต่างกันไปโดยเรียกรวมๆ อย่างสามัญว่า "วัดเมือง"
เนื่องด้วยเป็นวัดสำคัญของเมืองจึงใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และปรากฏหลักฐานว่าได้รับผ้าพระกฐินพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 4[4] จากนั้นได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์” อันเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระฉลองพระชนมายุครบรอบ 100 พรรษา ในปี พ.ศ. 2430 (แต่เอกสารราชการได้ปรากฏชื่อวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์ มาก่อนหน้านั้นแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ.2427 จากคดีนายฮ้อยแสงสุริยาที่กล่าวโทษพระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง)) อีกทั้งวัดนี้ได้ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงศพบุคคลสำคัญของเมืองฉะเชิงเทราหลายท่านโดยเฉพาะเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง)เจ้าเมืองฉะเชิงเทราในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 เป็นต้น[5]ด้วยความสัมพันธ์กับงานราชการมากจนครั้งหนึ่งได้รับการเปรียบเปรยว่า"วัดโสธรเป็นวัดของทหาร วัดเมืองของราชการ"[6]
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีสภาพเป็นวัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ว่า ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2385 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2395 ซึ่งมีเจ้าคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เนื่องใน โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นับแต่ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวง
ทำเนียบเจ้าอาวาส
แก้วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (พระอารามหลวง) เดิมเป็นวัดราษฎร์ ตั้งแต่สร้างวัดมาตามหลักฐาน ที่ปรากฏ มีพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่พอสืบค้นได้ ดังนี้
- พระอธิการแก้ว
- พระครูธรรมภาณีวรคุณ (ช่วย แย้มจินดา) พ.ศ. 2454 - พ.ศ. 2485
- พระครูอุดมสมณคุณ (เติม ทองเสริม) พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2514
- พระครูจินดาภิรมย์ (ชด แย้มจินดา) พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2524
- พระครูไพโรจน์ธรรมาภิวัฒน์ (สง่า ธมฺมโสภโณ) พ.ศ. 2524 - 2545
- พระสมุห์พงษ์พันธ์ วีรธมฺโม (ปัจจุบันคือ พระครูวีรศรัทธาธรรม (พงษ์พันธ์ วีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสุนีย์ศรัทธาธรรม) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วันที่ 15 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546
- พระครูสุตธรรมาภรณ์ (สำราญ ญาณวุฑฺโฒ) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2559
- พระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร) ป.ธ.9 พ.ศ. 2547 (20 กุมภาพันธ์ 2547 ) ถึง ปัจจุบัน
ด้านการศาสนศึกษา
แก้มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อยู่ในความผิดชอบของ กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดการศึกษาทางวิชาการพระพุทธศาสนา แผนกนักธรรม-ภาษาบาลี และหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)
การศึกษา แผนกธรรม นักธรรม (ตรี-โท-เอก), ธรรมศึกษา (ตรี-โท-เอก)
การศึกษาแผนกบาลี เปรียญธรรม 1-2 ถึง 9
การศึกษาแผนกสามัญ ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)
อ้างอิง
แก้- ↑ จดหมายเหตุ ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์(จ.ศ.1087-1218) "ปีระกา จ.ศ.1199 ทำ(ป้อม)เมืองฉะเชิงเทรา" (อ้างจาก ประชุมจดหมายเหตุโหร รวม3ฉบับ(2551).สำนักพิมพ์ต้นฉบับ :หน้า55-56)
- ↑ https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%93%E0%B9%93
- ↑ หนังสือ 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ 15 เอกสารลำดับที่ 67 หน้า174-175 เอกสารบันทึกประจำวันฯ เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์
- ↑ กรมศิลปากร, สำนักเอกสารโบราณ, จดหมายเหตุเมืองฉะเชิงเทรา จ.ศ.1224 ใบบอกเมืองฉะเชิงเทรา เลขที่ 33.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 4 แผ่นที่ 12 หน้า88-89 "ชักศพพระยาวิเศษฤๅไชย เข้าโรงทิมวัดปิตุลาธิราชรังสฤษดิ ณ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้นค่ำหนึ่ง "
- ↑ หนังสือ ประวัติหลวงพ่อโสธรกับการสร้างพระอุโบสถ พิมพ์เนื่องในงานฝังลูกนิมิตรผูกพัทธสีมา วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทราปี 2500 หน้า 6