วัดปรินายกวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดปรินายกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

วัดปรินายกวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระสุรภีพุทธพิมพ์
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดปรินายกวรวิหาร
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000008
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

เดิมวัดนี้ชื่อ วัดพรหมสุรินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2353 (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ จึงตั้งชื่อวัดตามราชทินนามในขณะนั้น วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยผู้สร้างวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากกลับจากราชการสงครามกับญวนที่เขมร แต่ไม่ทันสำเร็จก็ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นพระอารามหลวงและสร้างต่อจนแล้วเสร็จและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดปรินายก เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก ณ ขณะนั้น คำว่า ปรินายก มาจากคำว่า ปรินายกรตน แปลว่า "ขุนพลแก้วคู่บารมีมหาจักรพรรดิราช"[1]

เมื่อมีการตัดถนนราชดำเนินเมื่อ พ.ศ. 2442 (สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เส้นทางของถนนได้ตัดเข้ามาในพื้นที่ของวัดปรินายก ทำให้วัดต้องสูญเสียพื้นที่บริเวณวัดไปมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดปรินายกใหม่ทั้งหมด โดยสร้างพระอุโบสถใหม่และนำใบเสมาจากพระอุโบสถเดิมมาประดิษฐานรอบพระอุโบสถใหม่ แม้จะเหลือพื้นที่เป็นวัดเล็ก ๆ แต่พระองค์ก็ได้พระราชทานใบเสมาคู่ จึงทำให้วัดปรินายกยังคงมีสถานะเป็นวัดหลวงอยู่[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2443

อาคารเสนาสนะ

แก้

พระอุโบสถสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2444 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายในประดิษฐาน พระสุรภีพุทธพิมพ์ พระพุทธรูปฝีมือช่างสุโขทัย หน้าตัก 3 ศอกคืบ 4 นิ้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อันเชิญมาจากที่ไหนไม่ปรากฎ

ศาลาการเปรียญเป็นตำหนักของพระราชวงศ์ เป็นของเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซ่อมปรับปรุง พ.ศ. 2497 หอระฆังในวัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2464 วัดมีสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ประกอบด้วยเรือนไม้หลายหลัง มีกุฏิสงฆ์จำนวน 18 หลัง[3]

อ้างอิง

แก้
  1. กนกวลี ชูชัยยะ. (๒๕๔๔). พจนานุกรมวิสามายนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.
  2. ""วัดปรินายก" วัดใหญ่สมัย ร. 2 เหตุใดจึงเล็กลง ?". มิวเซียมสยาม.[ลิงก์เสีย]
  3. "หนังสือที่ระลึก ในการที่รัฐสภาได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายพระภิกษุที่จำพรรษา ณ วัดปรินายก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 7 พฤศจิกายน 2532" (PDF). คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-26.