วัดบึงพระลานชัย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และสังคม เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของทางราชการทุกยุคทุกสมัย และเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองร้อยเอ็ด มีสระชัยมงคล เป็นสระโบราณศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง มีใบเสมาเก่าแก่สมัยทวารดี และศิลาแลงสมัยเมืองฟ้าแดดสงยาง[1]
วัดบึงพระลานชัย | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 116 ถนนประชาธรรมรักษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท ธรรมยุติกนิกาย |
พระประธาน | พระชินสีห์ศากยมุนี พระพุทธชินราช |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระสัมมาสัมพุทธมุนี พระพุทธมงคลมิ่งเมือง พระบรมสารีริกธาตุ |
เจ้าอาวาส | พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) |
![]() |
ตั้งอยู่เลขที่ 116 ถนนประชาธรรมรักษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2318 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521[2]
ประวัติ
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2318 พระขัติยะวงษา (ธน ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 1 ได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้าประชาชนถากถางป่าดงพงหญ้า ซึ่งเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นวัดและให้ชื่อว่า "วัดบึงพระลานชัย" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆว่า "วัดบึง" พื้นที่ทั่วไปเป็นเนินสูงราบเรียบ มีสระน้ำ 1 แห่ง มีไม้ยืนต้นร่วมรื่น[3] เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นวัดร้างตามกาลเวลา
พ.ศ. 2430 หลวงสงกรานต์วิศิษฐ์ โดยการสนับสนุนของพระยาขัติยะวงษา (เภา ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 7 ได้นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้ต้องขังช่วยกันถากถางป่า ฟื้นฟูบูรณะวัดเก่าแก่โบราณ ซึ่งรกร้างมานาน ขึ้นเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าบริเวณนี้มีความสำคัญ คือ[4]
- เป็นวัดโบราณ ถือเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านชาวเมือง
- อยู่ใกล้ชิดติดกับบึงพลาญชัย
- เป็นเนินสูง เป็นลานสวยงาม
- เป็นที่ประกอบพิธีกรรมฉลองชัยชนะ จากการรบทัพจับศึกของเจ้าบ้าน เจ้าเมืองสมัยโบราณ
จึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาขัติยะวงษาเอกธิกะสตานันท์ (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) เจ้าเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าหลวงบริเวณเมืองมาโดยตลอด ต่อมาจึงได้อาราธนาพระครูเอกุตตรสตาธิคุณ จากอำเภอธวัชบุรี มาเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2456 ทางราชการได้จัดตั้งกรมทหารม้าขึ้นที่มณฑลร้อยเอ็ด ทางราชการจึงได้อาราธนา พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสระทอง และมหาเสวกโทพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาลมลฑลร้อยเอ็ด ได้ไปอาราธนาพระครูวินัยธรหล้า จากวัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดพระนคร มาเป็นเจ้าอาวาสแทน
พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงได้เริ่มสร้างพระอุโบสถ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2465[5]
พ.ศ. 2521 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521
ที่ตั้งและขนาด
แก้วัดบึงพระลานชัยตั้งอยู่เลขที่ 116 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา
อาณาเขตติดต่อ
แก้ทิศเหนือ ติดต่อที่ดินของชาวบ้าน
ทิศใต้ ติดต่อถนนทองทวี
ทิศตะวันออก ติดต่อถนนสุนทรเทพ
ทิศตะวันตก ติดต่อถนนประชาธรรมรักษ์
สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด
แก้พระอุโบสถ
แก้ได้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2468 บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486 ต่อมา พ.ศ. 2507 ได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงได้ทำการรื้อถอนพระอุโบสถหลังเก่าออก และดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 ภายในประดิษฐานพระชินสีห์ศากยมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถ หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง 1.27 เมตร สูง 1.75 เมตร พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา (พระโมคคัลลานะ - พระสารีบุตร) หล่อด้วยทองเหลือง สูง 1.50 เมตร ที่ฐานชุกชีชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 107 นิ้ว พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ และครอบครัว พร้อมด้วยญาติมิตร สร้างถวายเมื่อปี พ.ศ. 2527 ภายในเป็นที่เก็บรักษาธรรมาสน์สังเค็ดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานสำหรับวัดบึงพระลานชัย ในงานพระบรมศพ ลักษณะเป็นธรรมาสน์ปิดทองลายฉลุ ทำลวดลายอย่างง่าย[6]
หอพระไตรมิ่งเมือง
แก้เป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์รวมของสิ่งมิ่งมงคลต่าง ๆ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้นทรงไทย
ชั้นที่ 1 ประดิษฐานหม้อน้ำพระพุทธมนต์
ชั้นที่ 2 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระชัยมงคล 9 องค์ ประกอบด้วยพระชัยมงคลทองคำ, พระชัยมงคลนาก, พระชัยมงคลสัมฤทธิ์, พระชัยมงคลเงิน, พระชัยมงคลงาช้าง, พระชัยมงคลนอแรด, พระชัยมงคลหยก, พระชัยมงคลแก้ว และพระชัยมงคลแก่นจันทร์
ชั้นที่ 3 ประดิษฐานพระไตรปิฎก พระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุ
สระชัยมงคล
แก้เป็นสระโบราณศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ในครั้งโบราณนั้น เมื่อต้องการใช้น้ำพระพุทธมนต์ประกอบพระราชพิธี เช่น น้ำอภิเษก, น้ำบรมราชาภิเษก และน้ำพิพัฒนัสัตยา เป็นต้น เจ้าเมืองจะให้ราชบุรุษไปพลีกรรมเพื่อนำเอาน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธีทุกครั้ง
พระลานชัย (หน้าพระอุโบสถ)
แก้เป็นพระลานที่ประกอบพิธีกรรม ฉลองชัยชนะ และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
หอระฆัง
แก้เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น หลังคาทรงไทย ภายในมีระฆังซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร ทรงสร้างถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2467
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้วัดบึงพระลานชัย มีลำดับเจ้าอาวาสที่ครองตั้งแต่อดีต ดังนี้[7]
ลำดับที่ | รายนาม | ปีที่ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระครูหลักคำแก้ว | ไม่ทราบปี |
2 | พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (โมง) | พ.ศ. 2430 - 2465 |
3 | พระครูวินัยธรหล้า | พ.ศ. 2465 - 2469 |
4 | พระครูคุณสารพินิจ (ดี) | พ.ศ. 2470 - 2491 |
5 | พระศีลคุณวิสุทธิ์ (แก้ว) | พ.ศ. 2492 - 2514 |
6 | พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) | พ.ศ. 2515 - ปัจจุบัน |