วัดนครสวรรค์

วัดในจังหวัดนครสวรรค์

วัดนครสวรรค์ เดิมมีนามว่า วัดหัวเมือง เพราะตั้งอยู่ตอนต้นของตัวเมืองก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองจะต้องผ่านวัดนี้ก่อน สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1972 โดยประมาณ เดิมหน้าวัดอยู่ทางริมแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นโพธิ์และพระปรางค์มองเห็นเด่นชัดสำหรับผู้สัญจรทางน้ำ ต่อมาสายน้ำได้เปลี่ยนทิศทางห่างออกไปจากวัดประมาณ 100 เมตร เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาแต่เดิม ประมาณ พ.ศ. 1972

วัดนครสวรรค์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหัวเมือง, วัดใหญ่
ที่ตั้งถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธศรีสวรรค์
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรธีรคุณ (ฐิตพัฒน์ สิริธโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดนครสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 702 ถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา อาณาเขตเฉพาะส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาส ทิศเหนือยาว 67 วา ติดต่อกับถนนเทพสิทธิชัย ทิศใต้ยาว 67 วา ติดต่อกับถนนลูกเสือ ทิศตะวันออกยาว 76 วา ติดต่อกับถนนโกสีย์ ทิศตะวันตกยาว 80 วา ติดต่อกับถนนสวรรค์วิถี ซึ่งเป็นถนนผ่ากลางที่ดินตั้งวัด มีโฉนดที่ดินเลขที่ 9943, 9639 และมีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 118 ไร่ 99 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 11253, 22673, 1041, 111 และ น.ส. 3 สารบบหน้า 38 เล่ม 1 ที่ธรณีสงฆ์นี้ตั้งอยู่ตำบลปากน้ำโพ 2 แปลง ตำบลบางม่วง 1 แปลง ตำบลศาลาแดง อำเภอโกรกพระ 1 แปลง และตำบลเนินมะกอก อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 1 แปลง

เสนาสนะ แก้

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีกำแพงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน และมีประตูเข้าออกได้สะดวกทั้ง 4 ด้าน เช่นกัน ที่ดินตั้งวัดนี้ได้ถูกถนนสวรรค์วิถีตัดผ่านแบ่งเนื้อที่ออกเป็น 2 แปลงเป็นเขตสังฆาวาส และเขตพุทธาวาสในส่วนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งมีเนื้อที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา อีกแปลงหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกใช้เป็นเขตฌาปนสถาน มีเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ภายในบริเวณวัดมีถนนติดต่อระหว่างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ถึงกันหมด

อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีพระอุโบสถกว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร บูรณะ พ.ศ. 2515 ศาลาการเปรียญกว้างยาวด้านละ 34 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น สร้าง พ.ศ. 2526 กฎิสงฆ์ จำนวน 15 หลัง เป็นอาคารคอนกรีต 9 หลัง อาคารไม้สัก 2 ชั้น 1 หลัง ห้องสมุดจตุรมุขกว้าง 11 เมตร ยาว 12 เมตร อาคารคอนกรีต หอระฆังจตุรมุขสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง อาคารเรียนพระปริยัติธรรมกว้าง 24.50 เมตร ยาว 28.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น มีมุขหน้าและหลัง พระวิหารสร้างด้วยอิฐโบราณแผ่นใหญ่ บูรณะ พ.ศ. 2527 อาคารสำนักงานมูลนิธิการกุศล 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล 8 หลัง และฌาปนสถานแบบเตาอบคอนกรีตเสริมเหล็ก

ปูชนียวัตถุ แก้

มีพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดพระเพลากว้าง 2.50 เมตร สร้างด้วยทองเหลือง มีพระนามเรียกกันว่า “หลวงพ่อศรีสวรรค์” พระพุทธรูปใหญ่ 2 องค์ในพระวิหาร เรียกว่า “พระผู้ให้อภัย” พระพุทธรูปอื่นอีก 2 องค์ในพระวิหาร พระพุทธรูปเนื้อสำริดสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย อยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาสจำนวน 4 องค์ พระเจดีย์เก่าอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ 3 องค์ พระปรางค์ซึ่งปรักหักพังมีเพียงซากและรากฐานปรากฏอยู่

ทางราชการได้เคยใช้สถานที่วัดนี้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (มีศิลาจารึกเป็นหลักฐาน) เป็นที่พำนักอยู่จำพรรษาของเจ้าคณะจังหวัด เป็นสถานที่ใช้สอบธรรมและบาลีสนามหลวงตลอดมา เมื่อ พ.ศ. 2203 ชาวบ้านได้พบช้างเผือก 1 เชือก ที่เมืองนครสวรรค์ได้ประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดนี้ แล้วนำถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี ซึ่งได้พระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์” จึงนับว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล

ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จทางชลมารคมาทรงเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่จังหวัดพิษณุโลก ได้เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมและเห็นความสำคัญของวัดนี้ จึงได้โปรดให้ย้ายพระครูสวรรค์วิถีวิสุทธิอุตตมคณาจารย์สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อครุฑ) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ จากวัดเขา (วัดจอมคีรีนาคพรต) มาพำนักอยู่ประจำที่วัดนี้ ในการย้ายหลวงพ่อครุฑนั้นทางราชการและประชาชนได้ร่วมจัดเป็นการใหญ่มาก มีขบวนแห่แบบเวสสันดร จำนวน 13 ขบวน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบผู้บัญชาการทหารสมัยนั้นจัดขบวนส่งท่านด้วย

พ.ศ. 2454 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันพระราชสมภพ และวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเจ้านายอีกหลายพระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ เพื่อปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ด้วย

พ.ศ. 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ได้ทรงแวะเยี่ยมหลวงพ่อครุฑด้วย ในฐานะทรงคุ้นเคยเป็นการส่วนพระองค์มาก่อน และในปีต่อมาได้เสด็จมาในงานศพหลวงพ่อครุฑที่วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับเป็นทุนสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบัน ซึ่งได้ครอบหลังเดิมไว้พร้อมทั้งได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์เป็นโลหะทองแดงขนาดใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ในพระอุโบสถด้วย วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ประทานผ้าพระกฐินมาทอดถวายที่วัดนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้เสด็จมาประทับแรมที่วัดนี้ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ครั้นถึง พ.ศ. 2527 ได้มีนายเสน่ห์ วัฒนาธร รองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อสถาปนาวัดนครสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 02047846 ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2528

กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2528 วัดนครสวรรค์จึงได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2528 เป็นต้นมา

ลำดับเจ้าอาวาสที่ทราบนามมี 8 รูป แก้

  1. พระอาจารย์เคลือบ พ.ศ. 2424-2443
  2. พระครูสวรรค์วิถีสุทธิอุตตมคณาจารย์สังฆปาโมกข์ (ครุฑ) พ.ศ. 2444-2456
  3. พระครูเขมวิถีสังฆปาโมกข์ (สด) พ.ศ. 2456-2462
  4. พระใบฎีกาอั้น พ.ศ. 2462-2471
  5. พระครูนิภาสธรรมคุณ (บุญเกิด จนฺทสาโร ป.ธ.3) พ.ศ. 2471-2508
  6. พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาติสิริ ป.ธ.6) รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2477-2499
  7. พระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม ป.ธ.6) ปกครองระหว่าง พ.ศ. 2499-2508 และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. 2508-2539
  8. พระธรรมวชิรธีรคุณ (ฐิตพัฒน์ สิริธโร ป.ธ.๙ ,รศ.ดร.) ปกครองระหว่าง พ.ศ.2540-ปัจจุบัน