วัดท่าตอน

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดท่าตอน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในหมู่ที่ 3 บ้านท่าตอน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่ 425 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา แยกเป็นพื้นที่ตั้งวัดชั้นล่าง 45 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา และเป็นเขตอุทยานพุทธศาสนาและสำนักปฏิบัติธรรม 380 ไร่ 67 ตารางวา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชัน มีที่ราบริมน้ำแม่กก

วัดท่าตอน
พระเจดีย์แก้ว
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าตอน, วัดจอมคีรีปิงขอก, วัดจอมคีรีศรีปิงขอกต่าตอนจัย
ที่ตั้งเลขที่ 36 หมู่ที่ 3 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 50280
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระเทพมังคลาจารย์ (สมาน กิตฺติโสภโณ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดท่าตอนเป็นวัดโบราณ ร้างมานานหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด คาดว่าบริเวณลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น น้ำแม่กก เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ พบว่า พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดท่าตอน (ศาลาพุทธบุตรประชาสรรค์) ปางมารวิชัยประทับนั่ง 5 องค์ ปางประทับยืน 3 องค์ เป็นศิลปะล้านนา มีอายุ 500–700 ปี มีคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป 2 องค์ ปางมารวิชัย ประทับนั่งองค์เล็กสุด (พระฝนแสนห่า) สร้างเมื่อ จ.ศ. 910 (พ.ศ. 2092) ปางประทับยืนอุ้มบาตร บอกแต่เพียงชื่อผู้นำสร้าง และผู้ร่วมทำบุญ ไม่บอกศักราช จึงสันนิษฐานว่า วัดท่าตอนอาจสร้างในสมัยเดียวกับที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างพระธาตุสบฝาง (ประมาณหลัง พ.ศ. 1483) และตั้งอยู่บนยอดเขาริมน้ำแม่กกเช่นเดียวกัน อีกทั้งจารึกในฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรืองซึ่งห่างจากท่าตอนไม่มาก ก็ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชมาก[1]

พออนุมานได้ว่าเมื่อคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้ขึ้นมาบูรณะพระธาตุสบฝาง ท่านได้มาถึงท่าตอนแล้วบอกชาวบ้านให้ขึ้นไปหาพระธาตุบนเขา ชาวบ้านได้พากันถางป่าเพื่อค้นหา และพบเจอพระธาตุเก่าแก่อยู่ในพุ่มไม้ จึงนิมนต์ท่านบูรณะ แต่ท่านไม่รับ และบอกให้นิมนต์พระครูบาแก้ว กาวิชโย มาบูรณะ[2]

ในปี พ.ศ. 2470 พระครูบาแก้ว กาวิชโย จากสำนักวัดแม่แหลง (วัดมงคลสถาน) ได้มาเป็นประธานในการบูรณะวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ สร้างพระเจดีย์ครอบพระเจดีย์องค์เดิม และสร้างเสนาสนะขึ้นอีกหลายหลังเดิมใช้ชื่อว่า วัดจอมคีรีปิงขอก หรือ วัดจอมคีรีศรีปิงขอกต่าตอนจัย วัดท่าตอนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2518 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[3] ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2534[4]

วัดท่าตอนยังเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดและศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ทางวัดได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างเจดีย์แก้วเฉลิมพระเกียรติไว้บนยอดเขา

อาคารเสนาสนะ แก้

วัดท่าตอนตั้งอยู่บนไหล่เขา โดยมี 9 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 พระธาตุจอมคีรีศรีปิงขอก พระแม่กวนอิม สำนักงานรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ศาลาสุนทร โรงรียนพระปริยัติ
  • ชั้นที่ 2 พระอุโบสถ
  • ชั้นที่ 3 พระพุทธนิรันดรชัย (พระองค์ขาว) และพระสังกัจจายน์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 รูปปูนปั้นศิลปะแบบจีน ยืนอยู่บนถ้ำ มีน้ำพุอยู่ข้าง
  • ชั้นที่ 4 พระนาคปรก
  • ชั้นที่ 5 มรรควิหารและกุฏกัมมัฏฐาน
  • ชั้นที่ 6 กุฏิรุ่งนิรันดร์และหอประชุมพระปริยัติวิธานโกศล
  • ชั้นที่ 7 กุฏิธรรมปัญญาบดี กุฏิพุทธสมุทร กุฏิมหัทธนัญชัย กุฏิประวิตรางกูร กุฏิชินวงศ์วรกุล และกุฏิสิงคโปร์ (บางกอกเดคค่อน)
  • ชั้นที่ 8 พระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์ (พระเจดีย์แก้ว) ศาลาใหญ่ มังกรทอง มังกรเงิน กุฏิ 8 เหลี่ยม
  • ชั้นที่ 9 กุฏิศรีเชียงตุง พระอิ่มตลอดกาล กุฏิสมด็จพระมหารัชมัง สะพานรัชสมาน เรือสำเภาทอง

อ้างอิง แก้

  1. "วัดท่าตอน พระอารามหลวง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. "วัดท่าตอน". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "วัดท่าตอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-22. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
  4. "วัดท่าตอนพระอารามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.