วัดจุฬามณี (จังหวัดสมุทรสงคราม)

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดจุฬามณี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ในหมู่ที่ 9 บ้านคลองวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

วัดจุฬามณี
แผนที่
ชื่อสามัญวัดจุฬามณี, วัดแม่เจ้าทิพย์
ที่ตั้งเลขที่ 93 หมู่ที่ 9 ทางหลวงท้องถิ่น สส.ถ 23-004 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (อิฏฐ์ ภทฺทจาโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดจุฬามณีเดิมมีชื่อเรียกว่า วัดแม่เจ้าทิพย์ สร้างมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2172–2190 ตามประวัติว่าท่านท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาคนหนึ่งของท่านพลายซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด ต้นวงศ์ราชนิกูลบางช้าง เป็นผู้สร้าง[1]

ในช่วงสงครามกรุงศรีอยุธยากับพม่า ท่านนาค (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) พระอัครชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงครรภ์แก่ ได้หลบซ่อนพม่าอยู่ในป่าทึบหลังวัดจุฬามณี ต่อมาได้มีประสูติการท่านฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คาดว่าสถานที่ประสูติน่าจะใกล้ต้นจันทน์อันเป็นนิวาสถานหลังเก่าของท่านเศรษฐีทอง อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางองค์ที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้หลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย กำลังอยู่ในระหว่างทรงพระครรภ์แก่และได้มีพระประสูติการพระธิดาในป่าหลังวัดจุฬามณีด้วยเช่นกัน คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

วัดจุฬามณีเคยรุ่งเรืองในสมัยท่านพระอธิการเนียมเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ท่านตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและหนังสือขอมขึ้นในวัดจุฬามณี เมื่อสิ้นท่านไปเสียแล้วในราวปี พ.ศ. 2459 วัดอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่ กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขออาราธนาพระอาจารย์แช่ม โสฬส ซึ่งเป็นพระลูกวัดจำพรรษาอยู่ในวัดบางกะพ้อม มาปกครองวัดให้เจริญรุ่งเรือง

ในสมัยหลวงพ่อแช่ม ท่านได้ริเริ่มปลูกสร้างเสนาสนะสงฆ์และสร้างศาลาการเปรียญจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2463 หลังจากนั้นพระเนื่อง โกวิโท ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อไป ซึ่งต่อมาก็คือพระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง โกวิโท) จนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 หลวงพ่อเนื่องสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่เสื่อมโทรม ต่อจากนั้นพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจุฬามณีด้วยวัยเพียง 32 ปี ท่านได้สร้างอุโบสถของหลวงพ่อเนื่องที่ยังค้างอยู่ ปูพื้นอุโบสถชั้นบนสุดที่ยังค้างอยู่ด้วยหินหยก จากการาจี ประเทศปากีสถาน จนแล้วเสร็จ

เสนาสนะ แก้

อุโบสถจตุรมุข หินอ่อน 3 ชั้น กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ประตูหน้าต่างด้านในแกะสลักเป็นลายไทย ส่วนด้านนอกเป็นงานฝีมือสมุกรักฝังมุก มีอัลลอยด์ลายดอกไม้เถาทุกประตูและหน้าต่าง และหน้าต่างด้านนอกมีรูปเทพประจำทิศเป็นอัลลอยด์ ด้านในแกะสลักเป็นลายไทย และเรื่องราวในนิทานชาดก นอกจะเป็นงานฝีมือสมุกรักฝังมุก ภาพตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 1–9 พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตราแผ่นดิน ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์[2]

ศาลาหลวงปู่เนื่อง เป็นศาลาที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ฝาผนังด้านในลงรักปิดทองเป็นเรื่องทศชาติชาดก ส่วนที่อยู่เหนือทางเข้าเป็นลายรดน้ำเรื่องนารายณ์สิบปาง นอกจากนั้นวัดยังมีองค์ท้าวเวสสุวรรณประดิษฐานอยู่ ณ ลานกลางแจ้งหน้าวัด[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

การเดินทาง แก้

รถยนต์ แก้

จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 325 (บางแพ - สมุทรสงคราม) เลยทางแยก เข้าอำเภออัมพวาไปประมาณ 200 เมตร ข้ามสะพานข้ามคลองอัมพวา เลี้ยวขวาแล้วขับตรงไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงวัดจุฬามณี[4]

รถโดยสารประจำทาง แก้

  • สองแถวสาย 467 สมุทรสงคราม - วัดจุฬามณี
  • รถตู้สาย 996 สายใต้เก่า - ดำเนินสะดวก (รถจะจอดหน้าทางเข้าวัด)

อ้างอิง แก้

  1. "วัดจุฬามณี". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "วัดจุฬามณี". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-16. สืบค้นเมื่อ 2020-12-11.
  3. "ไหว้ท้าวเวสสุวรรณ 5 วัดดัง เสริมโชคให้สำเร็จ สมปรารถนา". สนุก.คอม.
  4. admin (2010-12-29). "วัดจุฬามณี อัมพวา". EmagTravel (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).