วัดคูยาง

วัดในจังหวัดกำแพงเพชร

วัดคูยาง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันมีพระพรหมวัชรวิสุทธิ์ (อดุลย์ อมโร) เป็นเจ้าอาวาส

วัดคูยาง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธวชิรปราการ
เจ้าอาวาสพระพรหมวัชรวิสุทธิ์ (อดุลย์ อมโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

เหตุที่เรียกว่าวัดคูยางเพราะ มีชาวยาง (กะเหรี่ยง) มาบูรณะวัดโบราณแห่งนี้ ชาวยางขุดคูน้ำล้อมรอบวัด จึงเรียกกันว่า "วัดคูยาง"[1] วัดสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีผู้สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 400 ปี จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2394–2399 จึงได้มีผู้ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณที่ตั้งเดิม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2397 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2524[2]

อาคารและเสนาสนะที่สำคัญภายในวัดมีรากฐานอุโบสถและแท่นพระประธาน ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณวัดด้านเหนือ หอไตรเป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่นกำแพงเพชร สร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดใต้ถุนสูงกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ตั้งอยู่กลางคูน้ำเดิม[3]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธวชิรปราการ นามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระประธานนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโบราณศิลปวัตถุที่สำคัญประกอบไปด้วย ตู้พระธรรมลายรดน้ำลงรักปิดทองโดยรอบ เขียนเป็นภาพต่าง ๆ ด้วยฝีมือช่างราวสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 5 หลัง หีบพระธรรม มีลายรดน้ำลงรักปิดทอง และเป็นแบบเหล็ก อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึง 5 ธรรมาสน์เท้าสิงห์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ เอกสารโบราณบรรจุอยู่ในตู้และหีบ มีทั้งที่เป็นใบลานและสมุดข่อย ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นผ้าพิมพ์ลายอย่างลายไทย และพระบฏ[4]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดคูยาง". เทศบาลเมืองกำแพงเพชร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-30. สืบค้นเมื่อ 2022-08-30.
  2. "วัดคูยาง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "หอไตรวัดคูยาง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  4. "วัดคูยาง พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร.