วัดขันเงิน

วัดในจังหวัดชุมพร

วัดขันเงิน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร มีอายุมากกว่า 300 ปี อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 16 ตั้งอยู่กลางชุมชนตลาดหลังสวน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีฐานะเป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494 - 2558 เป็นเวลากว่า 64 ปี นับตั้งแต่ พระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรโต) และพระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม)

วัดขันเงิน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดขันเงิน พระอารามหลวง
ที่ตั้งเลขที่ 3 ซอย 4 ถนนหลังสวน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 86110
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธชินราชจำลอง
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่ออินทร์
เจ้าอาวาสพระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม)
กิจกรรมเทศนาธรรม ทุกวันธัมมัสสวนะ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดขันเงิน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ในหนังสือ “ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร” ระบุว่า วัดขันเงินสร้างเมื่อ พ.ศ. 2369 แต่เมื่อสืบค้นจากกรมการศาสนา จึงทราบว่าวัดขันเงินสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2240 ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม (สมเด็จพระเพทราชา) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา[2]ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2499

พระอุโบสถ แก้

พระอุโบสถเป็นอาคารคอนกรีตทั้งหลัง ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 29 เมตร หลังคาจัตุรมุขซ้อนกัน 3 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 สมัยพระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) เป็นเจ้าอาวาส พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นแทนพระอุโบสถไม้หลังเก่า

พระประธานพระอุโบสถ เป็นพระพุทธชินราชจำลอง ประทับนั่งขัดสมาธิ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองเหลือง และลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 2.38 เมตร สูง 3.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2498 เบื้องซ้ายและขวา มีพระอัครสาวกลงรักปิดทองด้านละองค์ พระประธานในพระอุโบสถวัดขันเงินนี้นับว่าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในภาคใต้

จิตรกรรมในพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบประยุกต์ แนวปริศนาธรรม จากภาพพุทธประวัติหินสลัก นิทานชาดก โคลงโลกนิติ และพุทธภาษิต วาดโดยนายชัยวัฒน์ วรรณานนท์ เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 ใช้เวลาทั้งสิ้น 7 ปี

พระวิหารเล็ก แก้

พระวิหารเล็ก หรือเรียกกันว่า โบสถ์น้อย หลังเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 ต่อมาชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2558

พระประธานพระวิหาร นามว่า หลวงพ่ออินทร์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน (ปูนขาว ทำจากเปลือกหอยทะเลเผาไฟตำละเอียด ผสมกับน้ำอ้อยเคี่ยว) ผีมือช่างท้องถิ่น ขนาดหน้าตัก 1.70 เมตร สูงประมาณ 2.50 เมตร มีอายุมากกว่า 100 ปี กล่าวกันว่า หลวงพ่ออินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน เป็นผู้สร้าง แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า เมื่อรื้ออุโบสถหลังเก่าแล้ว จึงย้ายมาประดิษฐานที่พระวิหารเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

นับแต่สร้างวัดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดขันเงินมีเจ้าอาวาสสืบต่อมาหลายรูป แต่ไม่สามารถสืบทราบได้ เท่าที่สืบทราบได้มีลำดับดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระอาจารย์อุ ? ?
2 พระอาจารย์อินทร์ ? ?
3 พระอาจารย์ชัย ? ?
4 พระอาจารย์หนู ? 2445
5 พระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) 2447 2506
6 พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรโต) 2508 2531
7 พระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม) 2532 ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ , เล่ม 115, ตอนที่ 26 , 16 กุมภาพันธ์ 2531, หน้า 1107
  2. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม 73, ตอนที่ 15 , 14 กุมภาพันธ์ 2499, หน้า 93