วัดก้ำก่อ

วัดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วัดก้ำก่อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วัดก้ำก่อ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดก้ำก่อ ภาษาไต แปลว่า "ดอกบุนนาค" สร้างเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2433 โดยเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด นามว่า "ครูบาเฒ่า" หรือชาวบ้านเรียกว่า "ตุ๊เจ้าเจียงตอง" หมายถึงพระที่มาจากเมืองเชียงของ ท่านเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากเมืองเชียงทอง เริ่มแรกท่านได้เดินทางเข้ามาพบที่ว่างราวครึ่งสนามฟุตบอลอยู่ท่ามกลางป่าไม้ล้อมรอบ จึงได้ชักชวนชาวบ้านมาดูและตัดสินใจสร้างวัดขึ้นโดยชาวบ้านเป็นผู้หาวัสดุก่อสร้างและลงแรงกันเอง[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2519

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

สถาปัตยกรรมของวัดมีลักษณะไทใหญ่ สร้างโดยฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ มีส่างหว่าง หรือซุ้มประตูทางเข้าศาลาการเปรียญอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ส่างหว่างสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 โดยนายส่วยจิ่ง นางยุ้น ตรีทอง อุโบสถสร้างขึ้นเมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2533 ศาลาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขนาดบรรจุ ผู้ปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยกว่าครั้งละ 100 คน สร้างเมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2519 ศาลาสุวรรณสมบูรณ์ สร้างขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2516 กุฏิรับรองหลังใหญ่ ใช้บรรจุผู้มาเยือน และพักอาศัยได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 50 คน กุฏิรับรองหลังเล็ก ใช้บรรจุผู้มาเยือน และพักอาศัย กุฏิพระครูปัญญาวราภรณ์ ลักษณะเป็นตึกแถว มีห้องนอนห้องน้ำห้องส้วมเป็นสัดเป็นส่วน สร้างเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2531

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานปางมารวิชัยของวัด ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว พระมัณฑะเลย์ ย้ายมาจากอุโบสถหลังวิหารวัดพระนอน จเรหม่องเจ้าศรัทธาและได้นำมาประดิษฐ์ไว้ที่วัดก้ำก่อเมื่อ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2509 โดยมีหลวงพ่อกุงหม่า (กมล) กุสโลภิกขุและพระมหารักษ์ สุภิญโญ ได้อัญเชิญนำมาประดิษฐ์ไว้ พระหินอ่อนทรงเครื่อง ศรัทธา คุณบุญชู คุณปริศนา ตรีทอง นำมาจากประเทศพม่า เพื่อถวายให้ประดิษฐ์อยู่ที่วัดก้ำก่อเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2533 ธรรมาสน์เก่าแก่ ศรัทธาพ่อเฒ่าจองติยะ นางโหย่ง ถวายเมื่อเริ่มสร้างวัด[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดก้ำก่อ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดก้ำก่อ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).