วัดกะพังสุรินทร์
วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมีสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นเจ้าอาวาส
วัดกะพังสุรินทร์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดกะพังสุรินทร์ |
ที่ตั้ง | ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท (มหานิกาย) |
เจ้าอาวาส | สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดกะพังสุรินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยมี นายเส ซึ่งเป็นคหบดีในละแวกนั้นเป็นผู้นำบริจาคโดยครั้งแรกจำนวน 20 ไร่ ต่อมาได้ซื้อเพิ่มเติม วัดกะพังสุรินทร์เดิมชื่อ วัดกะพัง ตามชื่อสระใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงและเนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ชายเนินเตี้ย ๆ ลาดเอียงจากทิศเหนือไปสู่ทุ่งนาอยู่ใกล้หนองน้ำที่เรียกว่า "สระกะพัง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดกะพังสุรินทร์ ตามชื่อ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ผู้ปรับปรุงสระกะพังให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ วัดกะพังสุรินทร์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2480 และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ ภายในวัดมีพระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่างๆ ระดับสองชั้น ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที 17 มีนาคม พ.ศ. 2542 และในปีพ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี[1] วัดกะพังสุรินทร์เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสหประชาสรรค์ และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระครูวิเชียร ปัจจุบันมีสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เป็นเจ้าอาวาสและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ พระราชวรากร (สงบ วรเสวี) เป็นรองเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดตรัง[2]
สิ่งก่อสร้างภายในวัด
แก้พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่างๆ ระดับสองชั้น กว้าง 9.50 เมตร ยาว 15.40 เมตร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2480 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 24 เมตร ยาว 36 เมตร อุโบสถถูกสร้างขึ้นในสมัยพระอธิการแย้มเป็นเจ้าอาวาส และสร้างเรื่อยมาจนถึงพระอธิการเพื่อม ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน (ปีนี้เป็นอธิกมาส) โครงสร้างเสาไม้ ฝาผนังหล่อปูน หลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องปูนชนิด 4 เหลี่ยม ต่อมาชำรุดไปตามกาลเวลา ซึ่งในปี พ.ศ. 2525 บูรณะเสียใหม่ในส่วนหลังคาในสมัยสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (ครั้งดำรงสมณศกดิ์ที่พระปิฎกคุณาภรณ์) เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2525 รูปทรงยังคงรูปเดิมไว้ กระเบื้องหลังคาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนเล็กใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะความเก่าแก่มานาน กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542[3] มีพื้นที่ 1 งาน 94 ตารางวา
ศาลาการเปรียญ กว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 สมัยพระอธิการเพื่อม เป็นเจ้าอาวาส โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้งานมาเป็นเวลาหลายปีจนชำรุดไปตามสภาพ ต่อมาภายหลังสมัยสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส รื้อออกสร้างใหม่ในนามเดิม กว้าง 17 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ วัดกะพังสุรินทร์ จาก ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ของสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ↑ วัดกะพังสุรินทร์[ลิงก์เสีย] สูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17 ง วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542
- ↑ "มารู้จักแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมะวัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-03-03.