วัฒนธรรมทางการเมือง

วัฒนธรรมทางการเมือง (อังกฤษ: Political Culture) เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมการเมืองกับสังคมการเมืองในเชิงจิตวิทยา โดยวัฒนธรรมทางการเมืองใดที่สังคมการเมืองต้องการก็มักถูกปลูกฝังให้เป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ของสมาชิกในสังคมการเมืองนั้นๆ ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ที่ขึ้นตรงกับกระบวนการสร้างความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯจากสถาบันในทางการเมืองต่างๆที่แปรผันต่างกันไปตามแต่ละสังคมการเมือง[1] วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญในสาขาวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาในทางรัฐศาสตร์

คุณลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมือง

แก้

ในวิชาการพัฒนาการเมืองเป็นการศึกษากระบวนการสร้างสถาบันทางการเมือง และรูปแบบต่างๆของสถาบันทางการเมืองโดยเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการกล่อมเกลา (socialization) สมาชิกในสังคมการเมืองให้มีพฤติกรรมที่เป็นไปในทางที่สังคมการเมืองต้องการ หรือก็คือสร้างให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมา[2] ทฤษฎีที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองคือทฤษฎีการเมืองของแกเบรียล อัลมอนด์ (Gabriel Abraham Almond) ที่มองว่าการเมืองโดยรวมนั้น สามารถจะพัฒนาได้หากสมาชิกในสังคมมี “สำนึกพลเมือง (civic virtue)” หรือ “วัฒนธรรมพลเมือง (civic culture)” ในการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน (the participant political culture) แต่หากสมาชิกในสังคมการเมืองที่ไม่สนใจการเมือง (the parochial political culture) หรือรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมทางการเมือง (the subject political culture) การเมืองนั้นก็จะด้อยพัฒนา โดยอัลมอนด์นิยามวัฒนธรรมทางการเมืองทั้ง 3 รูปแบบไว้ดังนี้[3]

  • วัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมือง (the parochial political culture) เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองแบบชนเผ่า (tribal society) เช่นในแอฟริกา และในชุมชนท้องถิ่นเล็กๆที่ปกครองตนเอง ในสังคมการเมืองดังกล่าวยังไม่มีการแบ่งงานกันทำ ไม่มีการแบ่งบทบาท รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการไม่แบ่งการเมือง , สังคม และศาสนาออกจากกัน วัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมืองจะมองการเมืองว่ามีลักษณะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (affective) และเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ปฏิบัติ (normative) มากกว่าที่จะเป็นการเมืองแบบใช้เหตุใช้ผล (cognitive)
  • วัฒนธรรมแบบรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมทางการเมือง (the subject political culture) เป็นวัฒนธรรมในสังคมการเมืองที่สมาชิกในสังคมการเมืองรับรู้ถึงการบริหารกิจการบ้านเมือง และอำนาจทางการเมือง และมีความภาคภูมิใจในความเป็น/ความมีการเมือง (political) ของสังคมการเมือง ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างสังคมการเมืองกับสมาชิกยังเป็นระบบบนลงล่าง (top-down or downward flow) และวัฒนธรรมการเมืองยังเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (affective) และเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ปฏิบัติ (normative) มากกว่าที่จะเป็นการเมืองแบบใช้เหตุใช้ผล (cognitive) เช่นกัน ทั้งนี้สมาชิกในสังคมการเมืองจึงระลึกถึงอำนาจในทางการเมืองแบบเป็นฝ่ายตั้งรับนโยบาย (passive role) แต่ไม่สนใจที่จะเรียกร้องนโยบาย (active role)
  • วัฒนธรรมการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน (the participant political culture) เป็นวัฒนธรรมของสังคมการเมืองที่สมาชิกของสังคมการเมืองมีความผูกพันต่อสังคมการเมืองในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล (cognitive) และมีความตื่นตัวในเรื่องการใช้อำนาจเชิงรุกในทางการเมือง (active role)

จากวัฒนธรรมการเมืองรูปแบบพื้นฐานทั้ง 3 แล้ว อัลมอนด์ได้กล่าวถึงลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นจริงในสังคมการเมืองไว้ด้วย โดยอัลมอนด์มองว่าในสังคมการเมืองที่เป็นจริงนั้นไม่ได้มีวัฒนธรรมทางการเมืองเพียงแบบเดียว แต่มักมีลักษณะวัฒนธรรมแบบผสม ดังนี้

  • วัฒนธรรมแบบเริ่มรับรู้การเมือง (the parochial-subject culture) คือวัฒนธรรมในสังคมการเมืองแบบชนเผ่าที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ สมาชิกในสังคมการเมืองจะปฏิเสธความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม ที่เป็นเรื่องของศาสนา หรือความเชื่อเป็นหลักมาสู่ลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้สมาชิกในสังคมการเมืองจะรับรู้ว่ามีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่เกิดขึ้นทว่าก็ไม่มีความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่เลิกที่จะรอรับนโยบายจากฐานอำนาจใหม่ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะวัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมือง
  • วัฒนธรรมแบบเริ่มเข้าร่วมทางการเมือง (the subject-participant culture) เป็นวัฒนธรรมในสังคมการเมืองที่สมาชิกในสังคมการเมืองบางส่วนเริ่มตื่นตัวถึงอำนาจในเชิงรุกของตน โดยที่สมาชิกในสังคมการเมืองที่ยังมีลักษณะวางเฉย (parochial) และมีลักษณะแบบไพร่ (subject) เริ่มกลายเป็นผู้มีส่วนร่วม (participant) ในแบบประชาธิปไตย โดยสังคมการเมืองก็เริ่มมีการสร้างสถาบันมารองรับความต้องการในการมีส่วนร่วมดังกล่าวควบคู่ไปด้วย
  • วัฒนธรรมการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างไม่มีความเป็นการเมือง (the parochial-participant culture) เป็นวัฒนธรรมของสังคมการเมืองที่สมาชิกของสังคมการเมืองยังเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบชนเผ่า โดยไม่สนใจความเป็นเหตุเป็นผลของอำนาจ แต่ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจดังกล่าว ทว่าการเข้าร่วมก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม

จากทฤษฎีของอัลมอนด์กล่าวได้ว่าสังคมการเมืองที่มีความพัฒนานั้นสมาชิกในสังคมการเมืองย่อมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง ในอีกภาษาหนึ่งคือสมาชิกในสังคมการเมืองมีหน้าที่ในการกระทำในทางการเมือง (political action) ในสังคมการเมือง ซึ่งทฤษฎีนี้อัลมอนด์หยิบยืมมาจาก วิธีวิเคราะห์มาจากวิธีวิเคราะห์โครงสร้างและหน้าที่ (structural - functional approach) ซึ่งเป็นทฤษฎีในทางสังคมวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีการกระทำของทัลคอทท์ พาร์สัน (Talcott Parson)[4]

วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

แก้

ในสังคมการเมืองที่เลือกเอาประชาธิปไตยมาเป็นรูปแบบในการปกครองสังคมการเมืองนั้น ซามูเอล ฮันทิงตันมองว่าสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นซึมลึกไปสู่สมาชิกในสังคมการเมือง การศึกษาวิชาการพัฒนาการเมืองหากกล่าวในอีกภาษาหนึ่งจึงเป็นเรื่องของการศึกษาเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในจิตสำนึกของสมาชิกของสังคมการเมือง และในขณะเดียวกันหากการพัฒนาการเมืองคือการสร้างสถาบันเพื่อสร้างการกล่อมเกลาทางสังคมและการเมืองให้สมาชิกในสังคมมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งในภาวะความทันสมัยทางการเมือง (Political Modernization) จะสัมพันธ์กับการตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง ในกรณีดังกล่าวหากความต้องการที่จะแสดงออกถึงวัฒนธรรมการเมืองของสมาชิกในสังคมการเมืองมีสูง สังคมการเมืองก็ต้องเตรียมพร้อมยอมรับ เพราะหากมิเช่นนั้นสังคมการเมืองจะกลายเป็นผู้บีบเค้นสมาชิกในสังคมการเมืองเสียเอง และสุดท้ายจะนำไปสู่ลักษณะทางการเมืองที่ ฮันทิงตันเรียกว่า “ความผุผังทางการเมือง (political decay)” ในท้ายที่สุด[5]

จากคำกล่าวของฮันทิงตันจึงกล่าวในอีกภาษาหนึ่งได้ว่า “การตื่นตัว” และ “การมีส่วนร่วม” คือวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย[6]

วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Andrew Heywood Politics. London: Macmillan, 1997, p. 202
  2. Mehran Kamrava. Understanding Comparative Politics: a framework for analysis. London and New York: Routledge, 1996, p. 55
  3. Gabriel A. Almond, and Sidney Verba. The Civic Culture; political attitudes and democracy in five nations. Boston and Toronto: Little Brown and Company, 1965, pp. 3, 22 - 26
  4. พิสิษฐิกุล แก้วงาม. มโนทัศน์ที่สำคัญในวิชาการพัฒนาการเมือง. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2553.
  5. Samuel Huntington. Political Order in Changing Societies. (Second edition) Connecticut: Yale University Press, 1969, pp. 34 - 39.
  6. พิสิษฐิกุล แก้วงาม. มโนทัศน์ที่สำคัญในวิชาการพัฒนาการเมือง. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2553.

ดูเพิ่ม

แก้